จากกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แจ้งข่าวผ่านทวิตเตอร์โดยระบุว่าผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของเขาและภรรยาออกมาเป็นบวก พร้อมเข้าสู่กระบวนการกักตัวและรักษาทันที หลังก่อนหน้านี้ โฮป ฮิกส์ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาและผู้ช่วยใกล้ชิดตรวจพบโควิด-19 จากการร่วมสังเกตการณ์ดีเบตนัดแรกของทรัมป์และโจ ไบเดน เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ SCB Chief Investment Office (SCB CIO) มองว่าตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงใหม่ 3 ประการ ดังนี้
1. ความเสี่ยงที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน อาจติดเชื้อด้วยมีโอกาสสูงขึ้น
โดยในช่วงการโต้วาที แม้จะมีการรักษาระยะห่าง แต่การโต้วาทีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างดุเดือด คาดว่าจะมีข่าวการตรวจทดสอบสุขภาพของไบเดนตามมาในไม่ช้าเพื่อยืนยันความปลอดภัย อย่างไรก็ดี หากไบเดนได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19 จะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ภายในระยะ 2 สัปดาห์ข้างหน้านั้นทรัมป์มีกำหนดจะพูดในการชุมนุมในรัฐฟลอริดา วิสคอนซิน และแอริโซนา ซึ่งเป็น Swing States ที่สำคัญและส่งผลต่อคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจากเหตุการณ์และความเสี่ยงนี้ส่งผลกระทบต่อการโต้วาทีครั้งที่ 2 และ 3 ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 15 และ 22 ตุลาคมนี้มีแนวโน้มถูกเลื่อนออกไป และอาจส่งผลกระทบถึงกำหนดการสำคัญของผู้ท้าชิงทั้งสองฝ่ายด้วย
2. ความเสี่ยงด้านสุขภาพและอายุของผู้ท้าชิง
โดยผู้ท้าชิงทั้งสองมีอายุค่อนข้างมาก ประธานาธิบดีทรัมป์ (74 ปี) และไบเดน (77 ปี) ซึ่งอุบัติการณ์ของโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่าไวรัสจะติดได้ง่ายในผู้สูงอายุ และมีโอกาสสูงที่ผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เนื่องจากการศึกษารายละเอียดของโรคพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิต 8.0-9.6% และอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 14.8-19.0% อย่างไรก็ดี คาดว่าผู้ท้าชิงทั้งสองจะได้รับการดูแลและเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
3. ความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนและความผันผวนในตลาดการเงินโลก
ความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ของทรัมป์มีแนวโน้มกระทบความเชื่อมั่นต่อผู้นำสหรัฐฯ เช่น การที่ทรัมป์ไม่นิยมสวมหน้ากากอนามัยและท้ายที่สุดกลับมาติดเชื้อเสียเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนทันทีต่อตลาดการเงินช่วงสั้น และคะแนนความนิยมล่าสุดของทรัมป์ก็เริ่มถอยลงอีก
ในระยะต่อไป ตลาดมีแนวโน้มเข้าสู่ Risk-off Mode สะท้อนจาก 10Y US Bond Yield ที่ปรับลดลง เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ Futures บน Dow Jones, S&P 500 และ S&P 400 Mid ต่างปรับลดลง 1.7%, 1.8% และ 2.0% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม) นำโดยหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็ก ความผันผวนในตลาดการเงินอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากทรัมป์ต้องเข้า ICU และอาจส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนดีเบตอีกสองครั้งกับไบเดนออกไป รวมถึงการเลื่อนการดีเบตระหว่างรองประธานาธิบดีในวันที่ 7 ตุลาคมนี้
SCB CIO มองว่ากรณีฐานความเสี่ยงต่อตลาดจะมีมากเฉพาะในช่วงที่ทรัมป์ต้องกักตัวและเข้ารับการรักษา โดยหากผลการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น คาดว่าผลลบต่อตลาดจะลดลง (เปรียบเทียบได้กับกรณีนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร บอริส จอห์นสัน ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหาย) โดยเหลือเฉพาะผลกระทบจากการเลื่อนการโต้วาที และหากในระยะข้างหน้าไม่มีข่าวเชิงลบเรื่องโควิด-19 จากผู้ท้าชิงทั้งสอง คาดว่าตลาดน่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้
อย่างไรก็ดี กรณีเลวร้ายคือหากผลการรักษาทรัมป์ไม่ได้จบเร็วตามคาด และ/หรือไบเดนเผยว่าตนก็ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน รวมถึงการที่หนึ่งหรือสองผู้ท้าชิงได้รับปัญหาด้านสุขภาพจากโควิด-19 จนไม่สามารถลงแข่งขันรับสมัครเลือกตั้งได้ จะทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้มาก
ทั้งนี้ SCB CIO มองว่าโอกาสการเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนั้นค่อนข้างต่ำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสและต้องมีเหตุผลรับรองเพียงพอ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังไม่เคยเกิดกรณีการเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาก่อน
นอกจากนี้ SCB CIO ยังให้มุมมองโดยนัยที่จะส่งผลต่อนักลงทุนดังนี้
- สินทรัพย์ทางเลือก Safe Haven เช่น ทองคำ ค่าเงินเยน น่าจะได้รับผลดีและราคามีแนวโน้มปรับขึ้นในช่วงสั้นๆ จากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่ทรัมป์ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และดัชนีหุ้นในตลาดหลักทั่วโลก มีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดันจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในระยะต่อไปจากการติดเชื้อโควิด-19 ของทรัมป์ และความเสี่ยงที่ไบเดนจะติดเชื้อในช่วงการโต้วาทีก็มีมากขึ้น หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดกับผู้ท้าชิงทั้งสอง รองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ (พรรครีพับลิกัน) และคามาลา แฮร์ริส (พรรคเดโมแครต) จะทำหน้าที่ลงสมัครแทนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งการลงสมัครแทนของรองประธานาธิบดีเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในอดีตสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
ด้านนัยต่อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ SCB CIO มองว่าโอกาสการเปิดเมืองและมาตรการการกระตุ้น รวมถึงการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาจถูกเลื่อนออกไป ทำให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical และ Value จะยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง ในขณะที่หุ้นกลุ่ม Growth และ Defensive ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง
- ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และตลาดพันธบัตรหลักของโลก มีแนวโน้มสะท้อนภาวะตลาด Risk-off โดย Yield Curve และ Bond Yield มีโอกาสปรับลดลง แต่คาดปรับไม่ลงมากในกรณีฐาน เนื่องจาก Yield Curve และ Bond Yield สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ระดับที่ต่ำมากจากมาตรการผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และตลาดพันธบัตรรัฐบาลหลัก เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น สัดส่วน Bond Yield ที่ติดลบก็มีอยู่สูงอยู่แล้ว
โดยคำแนะนำของ SCB CIO ระบุว่า ในกรณีฐาน (ผลการรักษาของทรัมป์เป็นที่น่าพอใจ และไม่มีข่าวไบเดนติดเชื้อเพิ่มเติม) แนะนำ ‘ทยอยลงทุน’ ในหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่ม Secular Growth และ Defensive และหุ้นจีน รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ เมื่อตลาดเกิดการปรับฐาน เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองสหรัฐฯ ส่งผลเพียงช่วงสั้น ซึ่ง SCB CIO มองว่าเป็นโอกาส ‘Selective Buy’ ที่ดี อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีเลวร้าย (หนึ่งหรือทั้งสองผู้ท้าชิงไม่สามารถลงรับการเลือกตั้งต่อไปได้ หรือเกิดการเลื่อนการเลือกตั้ง) แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐฯ และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนบนสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ หรือพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่อาจเกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล