×

นักวิชาการมองเลือกตั้งสหรัฐฯ สะท้อนตัวอย่างการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ ‘ถูกต้อง’ เชื่อหากไบเดนชนะ ความร่วมมือ 5G จีนฉลุย

04.11.2020
  • LOADING...
Donal Trump Joe Biden

จนถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่าเราจะยังคงไม่ได้บทสรุปของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ​ประกอบกับสถานการณ์การนับคะแนนผลการเลือกตั้งในประเทศระหว่าง โจ ไบเดน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังดำเนินไปอย่างขับเคี่ยวสูสีและดุเดือด (ไบเดน 238 : ทรัมป์ 213 / ผลอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเวลา 17.40 น. ตามเวลาประเทศไทย) ผู้สันทัดกรณีและนักวิชาการในแวดวงจึงออกมาแสดงทัศนะถึงบทสรุปการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ พร้อมด้วย อนุชา จินตกานนท์ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD US Election 2020 อ่านเกมสด ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันนี้

ชมย้อนหลังได้ที่

 

 

โดยส่วนใหญ่มองปรากฏการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ที่เกิดขึ้นว่าสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งในเวลานี้ได้แตกแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน รวมไปถึงการฉายภาพของนิยาม ‘ประชาธิปไตย’ ที่ถูกต้อง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ไม่ถูกแทรกแซง

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า “ผลการเลือกตั้ง (การนับคะแนน) ที่กำลังเดินอยู่ในตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาที่ทรัมป์ได้สร้างความผันผวน สร้างนโยบายที่นำไปสู่การเผชิญหน้า การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ สีผิว การกีดกันทางชาติพันธ์ุ ซึ่งแม้ว่าผลการเลือกตั้งจะยังออกมาไม่หมด แต่ก็พอจะเดาทิศทางได้ว่าสถานการณ์ ‘ไม่เด็ดขาด’ หรือฟันธงอย่างที่คนมองเอาไว้ก่อนหน้านี้ จากกรณีที่ทรัมป์ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ได้ จนมีประชาชนเสียชีวิตนับแสนราย

 

“นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังชี้ให้เห็นถึงบทเรียนว่าประชาธิปไตยอเมริกันกำลังปรับตัว เนื่องจากคนลงคะแนนเสียงส่วนหนึ่งมองเห็นถึง ‘ผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ’ และในที่สุดแล้วประชาธิปไตยอเมริกันกำลังจะทำให้ชาวอเมริกันที่หลากหลายทางความคิดสามารถอยู่ร่วมกันกับอีกฝ่ายได้ โดยที่ไม่สามารถไปตำหนิกลุ่มคนที่ยอมรับประธานาธิบดีในแบบทรัมป์

 

“ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญทั้งวิกฤตโรคระบาดและความขัดแย้งทางชาติพันธ์ุ เมื่อดำเนินมาถึงช่วงการเลือกตั้ง มันได้เปลี่ยนความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ ‘เข้าสู่ระบบ’ เพราะผู้ประท้วงก็ทราบดีว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายและข้อเรียกร้องของพวกเขาก็จะได้รับการพิจารณา

 

“ที่ผมกำลังจะบอกคือการเลือกตั้งเป็นส่ิงที่จำเป็นสำหรับระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่สามารถยกเลิกหรือล้มล้าง หากคุณปล่อยให้เกิดการยึดอำนาจทุกๆ 3-5 ปี มันก็ไม่เกิดกลไกประชาธิปไตยขึ้น ระบบเลือกตั้งคือกลไกที่ชะลอความขัดแย้งไม่ให้มันระเบิด 

 

“ผมอยากให้ประเทศไทยดูกระบวนการเลือกตั้งในสหรัฐฯ​ ที่สามารถระงับความขัดแย้งของคนให้เบาลงได้ แม้จะไม่ได้รักกัน แต่ก็สามารถรอได้ถึง 4 ปีแล้วค่อยมาว่ากันใหม่ได้ ดังนั้นประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม”

 

ด้านสมภพเชื่อว่า หากไบเดนสามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้และก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ได้สำเร็จจริง เราน่าจะได้เห็นสหรัฐฯ​ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับนานาประเทศในเวทีระดับโลกอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนการประกบรอยร้าวกับจีนในการผนึกกำลังใช้ประโยชน์จาก 5G เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อโลก

 

“เราจะได้เห็นการขับเคลื่อนความร่วมมือทางการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระดับโลกมากขึ้น (Global Vaccine Diplomacy) รวมถึงความร่วมมือด้านภาวะโลกร้อน (Climate Change Diplomacy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสนใจ

 

“ขณะเดียวกัน การกอบกู้เวทีเศรษฐกิจในประเด็นการค้าก็จะทำได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าในปี 2011 ที่ไบเดนเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เขาได้ร่วมกันตั้งฟอรัม ‘Strategic Dialogue’ ระหว่างสองประเทศขึ้นมาเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือต่างๆ เราจึงเห็น ‘เชื้อของความร่วมมือ’ ระหว่างไบเดนและสีจิ้นผิง ดังนั้นเวทีพหุภาคีด้านการค้าจึงมีโอกาสจะกลับมาได้ง่ายขึ้น 

 

“นอกจากนี้เราอาจจะได้เห็นภาพความสำเร็จของสหรัฐฯ เหมือนในสมัยที่ บิล คลินตัน ชนะการเลือกตั้งและผลักดันเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของยุค 2G เพราะหากไบเดนขึ้นมาแล้วต้องการใช้พลังและศักยภาพของ 5G ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โดยสามารถผนึกกำลังกับประเทศจีนได้สำเร็จ (ไม่เหมือนที่ทรัมป์กีดกันจีน) ผลที่ตามมาคือความร่วมมือทาง 5G ระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะช่วยย่นระยะเวลาแก้ปัญหาความเสี่ยงของโลกได้ถึง 3 ประการ (โรคระบาด ความมั่นคง และเศรษฐกิจ) ในระยะเวลาอันรวดเร็ว”

 

ฝั่งอนุชามองไม่ต่างกันว่า หากไบเดนชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ท่าทีและความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ในการเจรจาพูดคุยกับประเทศอื่นๆ ปรับตัวขึ้นไปในเชิงบวกมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมอบโอกาสและการสร้างความเท่าเทียมต่อพลเมืองในประเทศโดยไม่มีอคติทางชาติพันธ์ุ

 

“ผู้บริหารประเทศที่ดีจะต้องสร้างความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพลเมือง ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมาของทรัมป์ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหันไปพึ่งพา ‘พันธมิตร’ ที่พอจะพึ่งพาได้ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป

 

“เราน่าจะได้เห็นการบริหารประเทศภายใต้การนำพาของไบเดนเป็นไปตามระบบระเบียบและกติกาที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งความเป็นระบบถือเป็นเรื่องสำคัญในเชิงการบริหารประเทศ ประกอบกับหากนโยบายการบริหารประเทศสอดคล้องไปกับหลักการสากลที่คนยอมรับ เขาก็สามารถทำได้ด้วยความสบายใจ ข้าราชการในกระทรวงสามารถรับใช้ประเทศชาติได้อย่างพอใจ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะไบเดนจะกลับไปยึดหลักการคล้ายๆ กับที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยใช้ แต่มีความยืดหยุ่นมากกว่า 

 

“ส่วนเรื่องการสร้างความเท่าเทียมก็จะตัองเข้าใจหลักการของแต่ละพรรคก่อน อย่างรีพับลิกันจะเชื่อในเรื่องคนก้าวหน้าด้วยความสามารถของตน ใครดีใครได้ ต่างจากเดโมแครตที่เชื่อในการให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคม ดูแลคนอ่อนแอ คนยากจน ดังนั้นก็จะเห็นว่าทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับพลเมืองที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธ์ุ สีผิว ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของไบเดนนั่นเอง”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising