สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแสดงการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในระบบเศรษฐกิจ ประจำไตรมาส 3/2023 เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ตุลาคม) ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ 4.9% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 4.7%
โดยนับเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ 2 ไตรมาสก่อนหน้ามีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ตามลำดับ สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งอย่างน่าทึ่งในไตรมาส 3 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีก็ตาม
รายงานระบุว่า การขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง การส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4% ในไตรมาส 3 หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ในไตรมาส 2 ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนพุ่งขึ้น 8.4% และการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 4.6%
ขณะเดียวกันรายงานพบว่า GDP ในไตรมาส 3 ยังขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ท้าทายความคาดหวังหลังจากวิกฤตธนาคารในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในตอนนี้
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยย้ำว่า รายงานดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ดีและแข็งแกร่ง และแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังไปได้ดีมาก แต่ก็เตือนว่ารายงานตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลข 1 ใน 4 เท่านั้น และโดยส่วนตัวก็ไม่ได้คาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการเติบโตมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับมุมมองทั่วไปในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าการเติบโตมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว
ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันพฤหัสบดี (26 ตุลาคม) หลังรายงาน GDP ไตรมาส 3 พบปิดตลาดปรับตัวลดลงในแดนลบ แม้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่ง เนื่องจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากภาวะชะลอตัว มากกว่าการเติบโตอย่างแท้จริง
โดยดัชนี Dow Jones Industrial Average หรือ DJI ปรับตัวลดลง 251.63 จุด หรือ 0.76% ปิดที่ 32,784.30 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 49.54 จุด หรือ 1.18% ปิดที่ 4,137.23 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 225.62 จุด หรือ 1.76 % ปิดที่ 12,595.61 จุด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดานักลงทุนต่างจับตามองหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากบรรดาบริษัทในสายเทคโนโลยีต่างทยอยเปิดเผยรายงานผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 3 ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีรายได้ดีกว่าที่คาดการณ์ แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวกลับไม่ได้สร้างความอุ่นใจให้กับนักลงทุน ฉุดให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน เฉพาะในช่วง 2 วันที่ผ่านมา รายงานระบุว่า ดัชนี Nasdaq ปรับตัวร่วงลงแล้วถึง 3.5%
หุ้นของ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram ดิ่งลงกว่า 2% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับรายได้จากการโฆษณา และการขาดทุนในธุรกิจเมตาเวิร์ส แม้บริษัทเปิดเผยตัวเลขกำไรและรายได้โดยรวมสูงกว่าคาดในไตรมาส 3 นอกจากนี้ ราคาหุ้นของ Meta ยังได้รับแรงกดดันจากกรณีที่อัยการสูงสุดใน 42 รัฐทั่วสหรัฐฯ รวมตัวกันฟ้อง Meta ในข้อหามอมเมาเยาวชนในการใช้ Facebook และ Instagram จนทำให้มีการเสพติดโซเชียลมีเดีย
เช่นเดียวกันกับหุ้นของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ร่วงลงเกือบ 10% เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังรายงานรายได้บริการคลาวด์ในไตรมาส 3 ไม่เป็นไปตามคาดที่ 8.41 พันล้านบาท แม้บริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก็ตาม
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีส่งผลให้ดัชนี Nasdaq เข้าสู่ภาวะปรับฐาน (Market Correction) โดยดัชนีได้ปรับตัวลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า หากดัชนีปรับตัวลงต่อไปจนดิ่งลง 20% จากจุดสูงสุดล่าสุด ก็จะส่งผลให้ดัชนีเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market)
อ้างอิง: