×

ผู้เชี่ยวชาญเตือน เงินเฟ้อที่พุ่งสูงในหลายประเทศกำลังก่อให้เกิดภาวะ ‘สงครามอัตราแลกเปลี่ยนย้อนกลับ’

27.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาแล้วถึง 7% หากนับจากต้นปี จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ในหลายประเทศต่างก็ต้องการดูแลปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติในประเทศของตัวเองเช่นกัน เราจึงได้เห็นธนาคารกลางหลายแห่งออกมาส่งสัญญาณว่าต้องการให้ค่าเงินของตัวเองแข็งขึ้น เพื่อที่จะได้มีต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ถูกลง

 

โดยในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาสวิตเซอร์แลนด์ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ตลาด ซึ่งส่งผลให้เงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยและยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

 

Michael Cahill นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs Group ระบุว่า เขาจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ธนาคารกลางแข่งขันกันทำให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่าเกิดขึ้นเมื่อไร และเรียกภาวะที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘Reverse Currency War’ หรือ ‘สงครามอัตราแลกเปลี่ยนย้อนกลับ’ 

 

สงครามอัตราแลกเปลี่ยนย้อนกลับที่ว่านี้คือ ภาวะที่ธนาคารกลางต่างๆ แข่งกันทำให้ค่าเงินของตัวเองแข็งค่า เพื่อที่จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้า เช่น อาหาร และพลังงาน ที่เป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อถูกลง ซึ่งตรงกันข้ามกับสงครามอัตราแลกเปลี่ยนแบบปกติ ที่ประเทศต่างๆ มักจะแข่งขันกันทำให้สกุลเงินของตัวเองอ่อนค่า เพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก

 

Cahill เตือนว่า ภาวะที่เกิดขึ้นนี้อาจจุดชนวนให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของหลายสกุลเงินหลักอย่างรุนแรง อีกทั้งยังอาจสร้างผลกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่พึ่งพาการส่งออก สร้างแรงกดดันในเชิงผลประกอบการให้กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และอาจมีผลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก

 

ขณะที่ Alan Ruskin หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Deutsche Bank AG กล่าวว่า สงครามอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ หรือ Zero-Sum Game ซึ่งจะต้องมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และเป็นไปไม่ได้ที่ทุกประเทศจะสมหวังเมื่อต้องการสิ่งเดียวกัน 

 

Marc Benioff ซีอีโอของ Salesforce กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่จะยินดีกับค่าเงินที่แข็งขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องพึ่งพาการส่งออก โดยเขาคาดว่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเขาถึง 600 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้

 

Jeffrey Frankel ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า เงินดอลลาร์ที่แข็งค่ากำลังสร้างความเปราะบางให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น อาร์เจนตินา และตุรกี ที่มีหนี้ในรูปสกุลดอลลาร์สูงกว่าเงินสกุลของตัวเอง

 

“มันเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่สกุลเงินของคุณอ่อนค่าสวนทางกับดอลลาร์ ในขณะที่คุณมีหนี้เป็นเงินสกุลดอลลาร์อยู่” Frankel กล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X