×

เมื่อไรและเพราะอะไร? เงินดอลลาร์สหรัฐ ถึงจะอ่อนค่า

22.07.2022
  • LOADING...
ดอลลาร์สหรัฐ

การแข็งค่าของ เงินดอลลาร์สหรัฐ ติดต่อกันยาวนานถึง 12 เดือน ทำให้สกุลเงินต่างๆ อ่อนค่าทำลายสถิติกันไม่เว้นแต่ละวัน 

 

Thematic Investor หลายท่านสงสัยว่า การแข็งค่าต่อเนื่องนี้มีโอกาสกลับตัวเมื่อไร และถ้าเกิดขึ้นควรปรับพอร์ตลงทุนอย่างไร  

 

ผู้เขียนจึงขอนำเสนอ 3 สถานการณ์ที่สามารถทำให้ ‘ดอลลาร์กลับตัว’ พร้อมกับมองหาธีมที่ต้องจับตาในแต่ละสถานการณ์ มาแชร์ให้คิดไปพร้อมกัน

 

1. เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดดเด่นกว่าสหรัฐอเมริกา

เพราะจุดเด่นของดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาคือ American Exceptionalism หรือความเป็น ‘เอกเทศของสหรัฐฯ’

 

บนทฤษฎีนี้ดอลลาร์สามารถแข็งได้จากสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือ การมีเศรษฐกิจที่ไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจโลก เนื่องจากภาคต่างประเทศ (นำเข้าและส่งออก) คิดเป็นเพียงแค่ 10% ของ GDP แม้ทั่วโลกจะมีปัญหา แต่ก็ไม่สามารถกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลงได้ ปัจจัยที่สองคือ ตลาดหุ้นที่ใหญ่และสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนสม่ำเสมอ ยิ่งตลาดสหรัฐฯ แข็งแกร่งก็จะยิ่งดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มาก

 

ส่วนในปีนี้เราได้เห็นหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานไปแล้ว แค่ยังไม่เห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงแรงกว่าทั่วโลก ดังนั้น ถ้าเป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 3-12 เดือนต่อจากนี้ American Exceptionalism ก็ไม่ควรเกิด และดอลลาร์ก็อาจกลับตัวอ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า 

 

ธีมลงทุนที่คาดว่าจะทำผลตอบแทนได้เหนือตลาดในสถานการณ์นี้ มักเป็นกลุ่มที่ได้แรงหนุนจากกำลังซื้อทั่วโลกฟื้นตัว เช่น หุ้นยุโรป, Cyclical, การเงิน, EV หรือ Small-Cap

 

2. ตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไปหมดแล้ว

เพราะนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ กับทั่วโลกคือเหตุผลสำคัญที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในปี 2022

 

การแข็งค่าจากดอกเบี้ยเกิดได้จากเทคนิคการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสองแบบ 

 

แบบที่หนึ่งคือ Carry Trade ที่กู้สกุลเงินดอกเบี้ยต่ำ (เช่น ยูโร และเยน) ไปฝากในสกุลเงินดอกเบี้ยสูง (ดอลลาร์) บนความต่างของดอกเบี้ยนโยบายกลุ่ม G3 ปัจจุบันที่เกือบ 2% เป็นไปได้สูงที่จะเห็นเงินทุนย้ายไปลงทุนในดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง

 

แบบที่สองคือ Monetary Policy Trajectory หรือทิศทางนโยบายการเงิน ดูยีลด์ระยะหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี แล้วซื้อ (ขาย) สกุลเงินที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (ลดลง) มากที่สุด ช่วงที่ดอกเบี้ยของ Fed ยังไม่ถึงเป้าหมาย 3.5% แต่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูง จึงเป็นช่วงที่นโยบายการเงินจะหนุนดอลลาร์ได้มากที่สุด

 

ด้วยทฤษฎีนี้ดอลลาร์จะกลับตัวก็ต่อเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ นิ่ง ซึ่งประเมินจาก Forward Guidance ของ Fed ล่าสุด คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการประชุม FOMC ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

 

การกลับตัวของดอลลาร์ในเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล พร้อมที่จะเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ กลุ่มวัฏจักร เช่น อุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ หรือ High Beta จึงมักทำผลตอบแทนได้ดี

 

3. ดอลลาร์อ่อนเมื่อดอลลาร์แข็งเกินไป

เนื่องจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมี Technical Indicators เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เมื่อปรับตัวขึ้นหรือลงไปถึงระดับหนึ่ง มักมีโอกาสกลับตัวแบบ Mean Reversion

 

ในการวัดว่าดอลลาร์แข็งหรืออ่อนเกินไปหรือไม่ เราสามารถใช้ดัชนี Real Broad Effective Exchange Rate (REER) ของ St. Louis Fed เป็นตัวเปรียบเทียบ

 

ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 127 จุด ถือเป็นระดับใกล้เคียงจุดสูงสุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา และเคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดในช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2001

 

หากมองจากความถูกแพงในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจได้เห็นดอลลาร์กลับตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้เลย ซึ่งการลงทุนแนว Emerging Markets Commodity พลังงาน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน มักเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้โดดเด่นในการกลับตัวลักษณะนี้

 

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าโอกาสที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยน่าจะมีเหตุผลหลักมาจากมุมมองในตลาด และนโยบายการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนต้องเรียนรู้คือ การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของดอลลาร์แทบทุกครั้งมักเกิดจากเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ โดยที่ดอลลาร์มักเป็นตัวแปรตาม ดังนั้น ในการวิเคราะห์ธีมลงทุน แม้เราอาจใช้ทิศทางของดอลลาร์เป็นจุดเริ่มต้น แต่ท้ายที่สุดต้องหาเหตุผลที่แท้จริงให้เจอ จึงจะระบุได้ว่าธีมใดที่จะสามารถชนะตลาดได้

 

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีคาแรกเตอร์สำคัญที่ไม่เหมือนสินทรัพย์ทางการเงินอื่นคือ ‘การเมืองมักนำปัจจัยพื้นฐาน’

 

แม้เราจะประเมินมูลค่า ทิศทาง หรือจังหวะกลับตัวไว้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจมุมมองของผู้กำหนดนโยบายการเงินและภาครัฐของทุกสกุลเงินหลัก ว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรไปพร้อมกันด้วยเสมอ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising