×

‘รบเก่ง’ ‘ไม่รู้จักอาเซียน’ กลาโหมสหรัฐฯ ในมือ พีต เฮกเซธ โลกและไทยต้องกังวลไหม?

26.01.2025
  • LOADING...

เรียกได้ว่ารอดฉิวเฉียดชนิดที่ว่า เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในฐานะประธานวุฒิสภาโหวตตัดสิน (tie-breaking vote) เพื่อรับรองให้ พีต เฮกเซธ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เสนอชื่อ ด้วยคะแนน 51 ต่อ 50

 

แม้อดีตพิธีกร Fox News ยังมีคดีความติดตัว แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรค เขาเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วในการเข้ามาคุมเพนตากอนที่มีงบประมาณในความดูแลถึง 8.49 แสนล้านดอลลาร์

 

มี สว.รีพับลิกัน 3 คน รวมถึง มิตช์ แมคคอนเนลล์ อดีตผู้นำเสียงข้างมากของรีพับลิกันในวุฒิสภา ที่แตกแถวโหวตสวนร่วมกับ สว.เดโมแครต และ สว.อิสระรวม 47 คน 

 

ตัดเรื่องคดีอื้อฉาวทางเพศ เฮกเซธถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่รู้จักเอเชียดีพอ ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกังวล โดยเฉพาะนักวิชาการสายความมั่นคง

 

สว.แมคคอนเนลล์ให้เหตุผลที่เลือกโหวตไม่รับรองเฮกเซธว่า เขายังไม่พร้อมที่จะนำกระทรวงที่มีบุคลากร 3 ล้านตำแหน่ง งบประมาณมหาศาล และต้องจัดการความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั่วโลก

 

ขณะที่ ซูซาน คอลลินส์ สว.รีพับลิกันอีกคนที่โหวตสวนให้เหตุผลว่า เฮกเซธยังไม่มีประสบการณ์และมุมมองที่จำเป็นสำหรับงานนี้

 

เฮกเซธ ‘ผู้ไม่รู้จักอาเซียน’?

 

ในระหว่างการตอบข้อซักคำถามต่อคณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาเมื่อกลางเดือนมกราคม เฮกเซธตอบคำถาม แทมมี ดักเวิร์ธ สว.เดโมแครต ไม่ได้ว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอาเซียนมีใครบ้าง เขาตอบว่าไม่รู้จำนวนแน่ชัด พร้อมยกตัวอย่างว่ามีญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอีกประเทศคือออสเตรเลียที่อยู่ในกรอบความร่วมมือ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)

 

ความเข้าใจของเฮกเซธอาจคิดว่าอาเซียนกับเอเชียคือสิ่งเดียวกัน นั่นจึงทำให้ สว.ดักเวิร์ธจากรัฐอิลลินอยส์กล่าวโจมตีเฮกเซธว่าไม่ทำการบ้าน และตอบโดยที่ไม่มีความรู้

 

ในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของดักเวิร์ธที่เผยแพร่ภายหลังการซักถามระบุว่า เฮกเซธ “ขาดคุณสมบัติ ขาดจรรยาบรรณ และไม่เหมาะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม”

 

‘รบเก่ง’  

 

รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในรายการ Decoding the World : ถอดรหัสโลก ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ทำหน้าที่เหมือน ‘เครื่องจักรสงคราม’ (War Machine) ทรัมป์เลือกเฮกเซธมาก็เพราะชื่นชอบในตัวเขาที่เคยเป็นทหารที่ ‘รบเก่ง’ มีบุคลิกเข้มแข็ง เสียงดังฟังชัด

 

รศ. ดร.ปณิธาน ยอมรับว่า แม้เป็นเรื่องน่ากังวลที่เขาไม่รู้จักอาเซียนมากนัก แต่ระบบรัฐสภาจะช่วยให้เขาทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ประธานเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ คนปัจจุบันก็รู้จักไทยเป็นอย่างดี เมื่อเฮกเซธทำงานไปสักระยะ บุคคลเหล่านี้จะช่วยให้คำปรึกษาเขา รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศก็จะมีบทบาทช่วยเฮกเซธด้วย

 

โดยปกติกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหมมักขัดแย้งในแนวนโยบาย โดยที่ทหารไปทางหนึ่ง การทูตไปอีกทาง แต่ รศ. ดร.ปณิธาน เชื่อว่าในยุคทรัมป์ 2.0 การต่างประเทศภายใต้ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่จะมีบทบาทนำ

 

ก่อนหน้ารับตำแหน่ง รูบิโอย้ำว่าไทยเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ ซึ่ง รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าเป็นเรื่องดี และแนะนำว่าไทยควรเดินบทบาทเชิงรุกในการเข้าหาสหรัฐฯ โดยคุยผ่านรูบิโอ แต่ขณะเดียวกันก็ควรเจรจากับจีนควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างสมดุลรักษาผลประโยชน์ของไทย

 

รัฐมนตรี ‘สายเหยี่ยว’ แข็งกร้าวต่อจีน

 

อีกเหตุผลที่ทรัมป์เลือกเฮกเซธ ก็เพราะแนวคิดสายเหยี่ยว และจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนที่เขาแสดงออกผ่านสื่อหลายครั้ง 

 

เมื่อปลายปีที่แล้ว เฮกเซธเคยกล่าวหาจีนว่ากำลังสร้างกองทัพเพื่อที่จะเอาชนะสหรัฐฯ โดยเฉพาะ และใช้ความเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและการผลิตในการครอบงำโลก

 

นอกจากนี้เขายังระบุว่า จีนมีเป้าหมายยึดครองไต้หวันเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอยู่ในซัพพลายเชนผลิตชิปที่สำคัญของโลก

 

จุดยืนของเฮกเซธไปในแนวทางเดียวกับรูบิโอในเรื่องจีน จึงน่าจับตาว่า สหรัฐฯ ยุคทรัมป์ 2.0 จะนำพาความสัมพันธ์ปักกิ่ง-วอชิงตันไปสู่จุดไหน ถึงแม้มีสัญญาณบวกที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงต่อสายหาทรัมป์ ซึ่งนำไปสู่การต่อลมหายใจให้ TikTok ในสหรัฐฯ และการที่ทรัมป์ยังไม่ประกาศขึ้นภาษีกับจีนตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่งก็ตาม

 

แต่นโยบายของทรัมป์มีความผันผวนไม่แน่นอนสูง โดยยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มาก่อน (America First) ซึ่งบรรดารัฐมนตรี รวมถึงเฮกเซธ ก็พร้อมรับลูก

 

จับตานโยบายต่อเอเชีย-แปซิฟิก

 

เมื่อถามว่านโยบายของทรัมป์และเฮกเซธต่อเอเชียแปซิฟิกจะเป็นอย่างไรต่อนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ยังต้องรอดูกลุ่มคนที่รับผิดชอบนโยบายต่อเอเชียของกระทรวงการต่างประเทศด้วย เพราะจะเป็นคนที่คุมงานด้านเอเชียจริงๆ 

 

ดร.สุรชาติ กล่าวว่าการแต่งตั้งเฮกเซธครั้งนี้ จะทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อเอเชียในทางทหาร เป็นประเด็นที่ต้องจับตาดู เพราะไม่ชัดเจนว่า ผู้นำชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ต่อเอเชียอย่างไร และทรัมป์จะดำเนินการในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอย่างไร

 

แต่นักวิเคราะห์มองเห็นตรงกันว่า ทรัมป์มองภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ ต้องเข้ามาปกป้องผลประโยชน์และคานอำนาจกับจีน ซึ่งไทยก็เป็นตัวแสดงสำคัญในกระดานภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ 

 

ภาพ: Andrew Harnik / Getty Images, Mike Segar / Reuters, Hernan E. Schmidt via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising