เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จาก Aaa เป็น Aa1 ซึ่งถือเป็นการประกาศปลดสหรัฐฯ ออกจากอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด เป็นสิ้นสถานะ AAA ที่เคยครองมานานนับตั้งแต่ปี 1919
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความให้ความเห็นผ่าน Facebook ระบุว่า กรณีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จาก Aaa เป็น Aa1 ทำให้ประเทศที่เคยมีความน่าเชื่อถือดีที่สุดของโลก ได้เคยรับ AAA จากทั้ง S&P’s, Moody’s และ Fitch จนถึงปี 2010
ดังนั้นตอนนี้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่อยู่แถวที่สอง โดย S&P’s ลดเป็น AA+ เมื่อ 2011 ส่วน Fitch ลดเป็น AA+ เมื่อ 2023
ขณะที่ล่าสุดปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จากครั้งนี้ของ Moody’s ทำให้สถาบันจัดอันดับชั้นนำทั้งสาม เห็นตรงกันว่า สหรัฐฯ ไม่ควรคู่กับ Top Rating อีกต่อไป
โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ ที่สูงระดับ 36 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 124% ของ GDP
อีกส่วนมาจากแผนการลดภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังรออนุมัติในรัฐสภา ที่จะทำให้สหรัฐฯ ก่อหนี้เพิ่มอีกอย่างน้อย 4 ล้านล้านดอลลาร์ ตลอดจน ขาดดุลการคลังเพิ่มจาก 6.4% เป็นประมาณ 9% ใน 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่ตัวอย่างของ ‘วินัยการคลังที่ดี’ ไม่ควรคู่กับ AAA อีกต่อไป
ดังนั้นเป็นคำถามใหญ่ให้รัฐสภาและรัฐบาลสหรัฐฯ คิดว่าจะ Get US Fiscal House in Order หรือ จะจัดการปัญหาการคลังให้เข้ารูปรอยเมื่อไร หรือจะยอมเดินไปอย่างนี้
โดยไม่ยอมลดการใช้จ่าย ไม่พยายามหาเงินเพิ่ม และเมื่อเต็มวงเงิน ก็เล่นละคร แล้วยอมเพิ่มเพดานหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะลงไปถึงไหนซึ่งจะส่งผลต่อฐานะดอลลาร์ที่เป็นเงินสำรองของโลกในที่สุดครั้งนี้ คงเป็นสัญญาณเตือนภัยอย่างดีให้กับสหรัฐฯ