×

ศาลสหรัฐฯ ระงับแผนรัฐบาลทรัมป์ชั่วคราว กรณีเพิกถอนสิทธินักศึกษาต่างชาติของฮาร์วาร์ด

24.05.2025
  • LOADING...
us-court-harvard-ruling

ผู้พิพากษาในศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งชั่วคราวเมื่อวันศุกร์ (23 พฤษภาคม) เพื่อระงับแผนของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการเพิกถอนสิทธิของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการรับนักศึกษาต่างชาติ โดยคำสั่งศาลครั้งนี้มีขึ้นหลังจากฮาร์วาร์ดยื่นฟ้องร้อง รัฐบาลกลางในข้อหาละเมิดกฎหมายและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ได้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์การเข้าถึงระบบฐานข้อมูลนักเรียนต่างชาติ SEVP (Student and Exchange Visitor Program) หรือโครงการนักเรียนและผู้แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของฮาร์วาร์ด ซึ่งอาจส่งผลให้นักศึกษานานาชาติราว 6,800 คน หรือกว่า 27% ของนักศึกษาทั้งหมดของฮาร์วาร์ด ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถูกเนรเทศหรือไม่สามารถจบการศึกษาได้

 

ในบรรดานักศึกษาต่างชาติที่ได้รับผลกระทบ ยังรวมถึง เจ้าหญิงเอลิซาเบธ แห่งเบลเยียม พระราชธิดาองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป ซึ่งเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งของราชบัลลังก์เบลเยียม โดยขณะนี้ทรงกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ

 

ฮาร์วาร์ดระบุในเอกสารฟ้องร้องว่า “ด้วยลายเซ็นเพียงหนึ่งฉบับ รัฐบาลพยายามลบล้างนักศึกษาหนึ่งในสี่ของทั้งมหาวิทยาลัย นักเรียนต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อพันธกิจของสถาบัน”

 

อธิการบดี อลัน การ์เบอร์ ออกจดหมายแถลงประณามว่า “นี่คือการตอบโต้ทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย และไม่สมเหตุสมผล ต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัยที่ปฏิเสธการยอมจำนนต่ออิทธิพลทางการเมืองในการจัดการหลักสูตร คณาจารย์ และนักศึกษา”

 

ในขณะที่ทำเนียบขาวแสดงท่าทีตอบโต้ผ่านรองโฆษกหญิง แอบิเกล แจ็กสัน โดยกล่าวหาฮาร์วาร์ดว่าเพิกเฉยต่อ “กลุ่มปลุกระดมต่อต้านอเมริกา ต่อต้านยิว และสนับสนุนการก่อการร้าย” พร้อมทั้งโจมตีผู้พิพากษาว่ามี “วาระเสรีนิยม” และ “ไม่มีสิทธิมาหยุดยั้งรัฐบาลทรัมป์ในการบริหารนโยบายตรวจคนเข้าเมืองและความมั่นคงของชาติ”

 

ผลกระทบต่อชีวิตจริงของนักศึกษา

 

ขณะที่บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์ดูเงียบสงบ แต่เบื้องหลังนักศึกษาต่างชาติกำลังสับสนและวิตกต่ออนาคต คอร์แม็ก ซาเวจ นักศึกษาจากไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งใกล้จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ในอีก 6 วัน กล่าวว่า เขาเลือกทำงานที่บรัสเซลส์แทนที่จะอยู่ต่อในสหรัฐฯ เพราะไม่แน่ใจว่า “จะสามารถกลับมาทำงานหรือเรียนจบในอเมริกาได้หรือไม่”

 

โรฮาน บัตตูลา นักศึกษาปี 3 จากสหราชอาณาจักร ก็เลือกอยู่ในแคมปัส เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้หากเดินทางกลับบ้าน

 

ไอแซค บังกูรา นักศึกษาสาธารณสุขจากเซียร์ราลีโอน เล่าว่า หลังมีข่าวลูกๆ ของเขาถามว่า “เรากำลังจะถูกส่งกลับบ้านอีกแล้วใช่ไหม” เขาต้องคอยปลอบลูกๆ และบอกว่ามีความหวังต่อประชาชนอเมริกันว่าจะหาทางออกได้เสมอ

 

เลโอ แอคเคอร์แมน นักเรียนใหม่ที่กำลังจะเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ดในเดือนสิงหาคม กล่าวว่า “ผมรู้สึกเหมือนความฝันจะถูกพรากไป มันเป็นช่วงเวลาเศร้าสำหรับหลายคน”

 

เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ

 

ความขัดแย้งระหว่างฮาร์วาร์ดกับรัฐบาลทรัมป์ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยรัฐบาลเคยสั่งระงับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ และขู่จะเพิกถอนสถานะองค์กรไม่แสวงหากำไรของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีการกดดันให้สถาบันเปลี่ยนแปลงแนวทางการจ้างงานและการคัดเลือกนักศึกษา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอลและปาเลสไตน์

 

แม้ฮาร์วาร์ดจะมีการปรับบางตำแหน่ง เช่น ปลดผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกกลางศึกษา แต่ก็มีการจ้างทีมทนายความชั้นนำ รวมถึงอดีตที่ปรึกษาคดีลับของโจ ไบเดน เพื่อสู้คดีในชั้นศาล

 

คาร์ล โทเบียส ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มองว่า ศาลในรัฐแมสซาชูเซตส์มีแนวโน้มยืนฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทรัมป์ แต่คดีนี้อาจยืดเยื้อไปถึงศาลสูง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้

 

อนาคตที่ยังไม่แน่นอน

 

การเพิกถอนสิทธิของฮาร์วาร์ดในระบบ SEVP จะทำให้นักศึกษาต่างชาติไม่สามารถอยู่ในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย และอาจต้องโอนย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่นหรือเดินทางกลับประเทศ

 

นักศึกษาหลายคนให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยไม่เปิดเผยชื่อ เพราะกังวลว่าจะถูกตรวจสอบจากทางการ “พวกเรารู้ว่าปัญหาเสรีภาพในการแสดงออกในแคมปัสมีอยู่จริง และเรากำลังแก้ไขมันอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานคือเรื่องช็อก” นักศึกษารายหนึ่งกล่าว พร้อมระบุว่า “พวกเรารู้สึกเหมือนถูกใช้เป็นตัวหมากในการเมือง”

 

ภาพ: Photo by Brett Phelps / The Boston Globe via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising