บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดว่ามาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีน อัดวงเงิน 3 แสนล้านหยวน ใช้ซื้อโครงการบ้านขายไม่ออก ช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทั้งหมด
สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในแต่ละตลาดถือว่ามีความสอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 1/67 ออกมา โดยเฉพาะตลาดหุ้นต่างประเทศ คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเดินหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดต่อเนื่อง
โดยผลประกอบการไตรมาส 1/67 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดถึง 9 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่า บจ.สหรัฐฯ จะรายงานกำไรไตรมาส 1/67 ออกมาเติบโตในระดับ 0-1% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่รายงานออกมาจริงเติบโต 7.4% ซึ่งเติบโตสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้หากนำรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในไตรมาส 1/67 ของหุ้นกลุ่ม Healthcare ออก ภาพผลประกอบการตลาดหุ้นในสหรัฐฯ จะเติบโตขึ้นถึงระดับ 10.2% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเติบโตทั้งในส่วนของมิติทั้งด้านรายได้และอัตราในการทำกำไร จึงเป็นปัจจัยหนุนภาพของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้หากวิเคราะห์ผลประกอบการไตรมาส 1/67 ของ บจ.สหรัฐฯ จะมี 3 ธีมสำคัญ ได้แก่
- มีจำนวน 250 บริษัทในดัชนี S&P 500 ในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ได้นำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ รวมถึงนำมาใช้ในกระบวนการ Productivity และพูดถึงการนำ AI มาใช้งาน
- Consumer ของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ดังนั้นส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการจับจ่ายเน้นในกลุ่มสินค้าจำเป็น อีกทั้งมีการพิจารณาในแง่ของปัจจัยราคาที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น
- Expense บจ. ของสหรัฐฯ มีการพูดถึงให้ความสำคัญในแผนการบริหารจัดการลดต้นทุน
สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีน ส่งเกาหลี-ญี่ปุ่น-อาเซียน
สำหรับการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาเกี่ยวข้องกับสงครามการค้า (Trade War) โดยสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มีมูลค่ารวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยประเมินว่า นโยบายที่ออกมาเป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มยุโรปอย่างชัดเจน ปัจจุบันสหรัฐฯ ดำเนินการอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ
- นโยบาย US Biosecure Bill หรือกลุ่ม BioTech ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการที่จะแยกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ออกจากกัน โดยให้นโยบายนี้มีผลถึงปี 2032 บ่งชี้ว่าจีนจะสามารถ Soft Landing บนกลุ่ม BioTech ได้ในช่วงระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า ส่งผลให้จีนมีระยะเวลาปรับตัวในการหาโอกาสธุรกิจ ตลาด และลูกค้ารายใหม่ๆ สะท้อนข้อมูลว่าจีนกับสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างสูงในด้านของ BioTech
การประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในรอบนี้เน้นไปที่กลุ่มสินค้า New Trio หรือกลุ่มสินค้า 3 อุตสาหกรรมหลักของจีนคือ EV, โซลาร์ และแบตเตอรี่ หากดูที่รายละเอียดเพิ่มเติมของนโยบายนี้จะบ่งชี้ว่ามีผลกระทบค่อนข้างน้อยกับจีน เพราะจีนส่งออกสินค้า 3 กลุ่มดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของสินค้าจีนทั้งหมด อีกทั้งปัจจุบันจีนส่งออกรถ EV ไปยังสหรัฐฯ สัดส่วนประมาณ 1% ของยอดส่งออกรถ EV ทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำมาก
อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายนี้ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ใหญ่ เช่น BMW, Benz ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20% ที่มาจากจีน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ของจีนถือว่าทันสมัยที่สุดของโลก โดยส่งออกแบตเตอรี่ไปยังสหรัฐฯ มีสัดส่วนต่ำกว่า 5% ของสัดส่วนทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่ที่ดีเหมือนกับจีน แต่นโยบายนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ผลิตแบตเตอรี่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ด้านกลุ่มสินค้าโซลาร์ปัจจุบันจีนไม่ได้ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยตรง แต่ใช้วิธีการให้บริษัทจีนที่มีฐานในกลุ่มอาเซียนเป็นผู้ผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้นประเมินว่าผลกระทบของนโยบายเก็บภาษีของสหรัฐฯ กับจีนจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัด ขณะที่กลุ่มอาเซียนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ด้วยในฐานะผู้ผลิต
จีนอัด 3 แสนล้านหยวน แต่ปัญหาไม่จบ
สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่รัฐบาลประกาศใช้วงเงิน 3 แสนล้านหยวน เพื่อนำไปใช้ซื้อโครงการบ้านที่ขายไม่ออก รวมทั้งการปรับลดเงินดาวน์ลงเหลือ 15% สำหรับการซื้อบ้านหลังแรกและ 25% สำหรับการซื้อบ้านหลังที่สอง จากเดิมอยู่ที่ 20% และ 30% ตามลำดับ
ทั้งนี้ประเมินว่ามาตรการที่ออกมาสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้างได้ทั้งหมด ซึ่งในอดีตเคยใช้นโยบายในลักษณะที่คล้ายกันนี้มาแก้ปัญหาแล้ว
เนื่องจากวงเงินที่นำออกมาใช้ยังไม่มีจำนวนมากเพียงพอให้สต็อกคงค้างที่อยู่อาศัยค้างสต็อกปรับลดลงมาก่อนเกิดปัญหา ดังนั้นจำเป็นต้องใช้วงเงินกับระยะเวลาจำนวนมากในการแก้ปัญหาเพื่อทำให้สต็อกของที่อยู่อาศัยลดลงมาอยู่ในระดับช่วงก่อนมีปัญหาคือปี 2561
ขณะที่มาตรการที่ออกมาจะสนับสนุนด้านภาษีในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่บางเมืองมากกว่าเมืองเล็ก ดังนั้นยังต้องติดตามว่ามาตรฐานที่ออกมาจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้คลายความกังวลได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
เศรษฐกิจไทยโตต่ำ
สำหรับฝั่งประเทศไทย การรายงาน GDP ไตรมาส 1/67 ที่ออกมาขยายตัว 1.5% ซึ่งสอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 1/67 ของ บจ.ไทย สะท้อนถึงแนวโน้มของการเริ่มฟื้นตัว แต่การเติบโตยังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งของสหรัฐฯ
หากดูตามผลประกอบการของไตรมาส 1/67 บจ.ไทย ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ปัจจัยหลักไม่ได้มาจากการเติบโตของรายได้ แต่มาจากแผนการบริหารลดต้นทุนซึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้อีกแค่ไหน แต่ถือเป็นการเติบโตของกำไรของ บจ. จำนวน 3 ไตรมาสติดต่อกันเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส
นอกจากนี้ประเมินว่าผลประกอบการของ บจ.ไทย ในช่วงไตรมาส 2/67 มีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/66 ที่กำไรสุทธิของ บจ. หดตัวไป 37.2%
ดังนั้นประเมินว่าภาคเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตชะลอตัวลงได้สะท้อนไปในราคาของตลาดหุ้นไทยแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำ แต่ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้