×

เจาะสมรภูมิ ‘ชิป’ เมื่อสหรัฐฯ ผ่าน กม.ส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หวังแข่ง ‘จีน’

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2022
  • LOADING...
เซมิคอนดักเตอร์

การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้นส่งผลต่อทุกอย่าง ตั้งแต่สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์มือถือ ไปจนถึงโซเชียลมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่สมรภูมิใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้นั่นคือการแข่งขันเรื่องของ ‘ชิป’ ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงอีกหลายสิ่ง ทั้งรถยนต์ อาวุธ เครื่องซักผ้า หรือวิดีโอเกม เป็นต้น

 

ที่สหรัฐฯ เมื่อวันอังคารก่อน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามในกฎหมายฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ที่มีมายาวนาน และลดการพึ่งพาประเทศอื่นๆ เช่น จีน ในการผลิต โดยกฎหมายที่ถูกให้ชื่อว่า ‘CHIPS and Science Act’ นี้จะมอบสิ่งจูงใจสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา ซึ่งรวมถึงเงินทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนการลงทุนเพิ่มเติมในมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐฯ

 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ได้รับการโหวตในรัฐสภาของสหรัฐฯ มีการกล่าวถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับการสร้างงาน การบรรเทาปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึง ‘ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ (สหรัฐฯ)’ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะจัดสรรเงินเกือบ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้เองกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นกองทุนสำหรับบริษัทโทรคมนาคมที่แข่งขันกับบริษัทจีน เช่น Huawei และบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะได้รับเครดิตภาษี 25% ด้วย ขณะที่สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันระบุว่า จีนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ ‘อย่างหนัก’ โดยชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้ “ยึดมั่นในสงครามเย็นและวิธีคิดแบบมีผู้ได้และมีผู้เสีย และขัดต่อปณิธานร่วมกันของผู้คนจากทุกภาคส่วนในจีนและสหรัฐฯ เพื่อกระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือ”

 

และเมื่อพูดถึงจีนแล้ว จีนก็เป็นกำลังสำคัญในการผลิตด้านเทคโนโลยีมาช้านาน โดยบริษัทต่างๆ เช่น Apple, Google และ Microsoft พึ่งพาจีนอย่างมากในการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นอุปกรณ์ จีนยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ โดยการวิเคราะห์ล่าสุดของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ระบุว่า ส่วนแบ่งการตลาดของจีนเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการประกอบ บรรจุภัณฑ์ และการทดสอบ และเป็นอันดับที่ 4 (ซึ่งนำหน้าสหรัฐฯ) ด้านกระบวนการในการสร้างวงจรรวมบนแผ่นเวเฟอร์

 

ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าที่มีสมาชิกต่างๆ ได้แก่ IBM, Intel, AMD, Qualcomm และ Nvidia ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ของจีนเติบโตมากกว่า 30% ในปี 2020 ไปแตะระดับเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทว่าการระบาดใหญ่ของโควิดทำให้อุปทานชิปทั่วโลกขาดแคลน โดยปีนี้สถานการณ์เลวร้ายลงจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของจีน ทำให้การทำงานของโรงงานหยุดชะงักและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งขณะนี้หลายภูมิภาคกำลังทบทวนแนวทางของตนในอุตสาหกรรมนี้ใหม่ เพื่อที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตในจีน โดยฝั่งสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยกล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานผ่านพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากอิทธิพลจีน ในขณะเดียวกันสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของยุโรปก็เสนอการลงทุนมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของยุโรปเช่นกัน ส่วนจีนนั้นยังคงพยายามที่จะขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนต่อไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ปีที่ประกาศออกมาเมื่อปีที่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นของ เคนตัน ธิโบต์ Resident China Fellow ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัลของสถาบันคลังสมอง Atlantic Council ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ เธอระบุว่า มีการยอมรับเพิ่มขึ้นทั่วโลกว่าเซมิคอนดักเตอร์คือเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะ ‘ชนะ’ ในเศรษฐกิจโลกในอนาคต แต่เธอก็เชื่อว่าการพึ่งพาตนเองอย่างเต็มที่ในการผลิตชิปนั้นเป็นเรื่องที่ ‘พูดง่ายกว่าทำ’ เนื่องจากระดับของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเฉพาะที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหลากหลาย

 

เรื่องที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือไต้หวัน ซึ่งกลายมาเป็นจุดที่มีปัญหาในเชิงการทูตและการทหารระหว่างสหรัฐฯ และจีน ล่าสุดก็มีประเด็นการเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่ทำให้ความตึงเครียดรอบเกาะไต้หวันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ไต้หวันมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยมีผู้ผลิตชั้นนำของโลกหลายรายตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นั่น รวมถึงซัพพลายเออร์ของ Apple อย่าง Foxconn และ Pegatron ขณะที่ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC มีส่วนแบ่งการตลาดของชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงสุดของโลก คิดเป็นกว่าร้อยละ 90

 

มาร์ก หลิว ประธานของ TSMC ยืนยันกับ CNN ว่าไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC โดยใช้กำลังได้ และบอกว่าหากมีการใช้กำลังทหารหรือบุกรุก จะทำให้โรงงาน TSMC ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะโรงงานของ TSMC เป็นโรงงานผลิตที่มีความซับซ้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์กับโลกภายนอก อย่างยุโรป ญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ

 

แต่กับกฎหมาย CHIPS and Science Act นี้ กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันยืนยันหลังกฎหมายผ่านสภาล่างของสหรัฐฯ ว่าตำแหน่งสำคัญของไต้หวันในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะไม่สะเทือนแต่อย่างใด ไต้หวันเป็นพันธมิตรของโลกมาโดยตลอด จากที่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะบรรเทาปัญหาห่วงโซ่อุปทานของชิปอัตโนมัติ และยืนยันว่าโมเดลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบ ‘ผลิตในไต้หวัน’ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้มากที่สุด

 

กลับมาที่สหรัฐฯ อีกครั้ง เมื่อไปดูสถานการณ์จะพบว่ามีการผลักดันให้เกิดการผลิตชิปในสหรัฐฯ มากขึ้น โดย TSMC ได้ให้คำมั่นที่จะใช้เงินอย่างน้อย 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในรัฐแอริโซนา โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2024 ส่วนผู้ผลิตของไต้หวันอีกเจ้าอย่าง GlobalWafers ก็เพิ่งให้คำมั่นที่จะใช้เงินราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานแผ่นเวเฟอร์ซิลิคอนในเท็กซัส และเมื่อต้นปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Samsung และ SK Group ก็วางแผนที่จะใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายฐานการผลิตด้านเทคโนโลยีในสหรัฐฯ

 

แซคารี คอลลิเออร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่มหาวิทยาลัยแรดฟอร์ดในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยง ระบุว่า แม้ว่าการลงทุนของ TSMC จะเกิดขึ้นก่อนกฎหมาย CHIPS and Science Act แต่กฎหมายนี้น่าจะกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ นำโรงงานไปอยู่ในสหรัฐฯ มากขึ้น เขาอธิบายว่าการสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่เป็นกระบวนการที่ใช้เงินทุนสูงมาก และอะไรก็ตามที่ช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้ ก็จะจูงใจบริษัทต่างๆ ในการตั้งโรงงานได้

 

ซึ่งนอกเหนือไปจากแรงจูงใจในระยะสั้น บริษัทต่างๆ อาจกระตือรือร้นที่จะสร้างฐานการผลิตในสหรัฐฯ เนื่องจากเสถียรภาพของประเทศที่มีในระดับหนึ่ง ความปลอดภัย ชนชั้นแรงงานที่มีการศึกษาสูง และที่สำคัญที่สุดคืออุปสงค์ 

 

คอลลิเออร์ประมาณการว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก แต่การผลิตในสหรัฐฯ มีเพียง 12% ของการผลิตทั่วโลกเท่านั้น ขณะที่ TSMC เผยว่าโดยทั่วไปแล้วรายได้จากอเมริกาเหนือคิดเป็น 65% ของรายได้ของบริษัท ขณะที่จีนและญี่ปุ่นคิดเป็น 10% และ 5% ตามลำดับ

 

กระนั้นการเข้ามา ‘แทนที่’ จีนก็อาจจะไม่ง่าย ธิโบต์ชี้ว่า ขณะนี้จีนมีข้อได้เปรียบอยู่ที่การมีกลยุทธ์ร่วมกันในการนำเสนอเทคโนโลยีและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศต่างๆ ที่ต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ “สหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการแข่งขันกับจีนเท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินการในเชิงรุกในการจัดหาทางออกจริงสำหรับความต้องการที่แท้จริง” เขาระบุ

 

แต่ไม่ว่ากี่ประเทศจะพยายามหนุนฐานการผลิตในท้องถิ่นมากแค่ไหนก็ตาม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกตัวออกจากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญและซับซ้อนเหมือนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งการออกแบบ การผลิต หรือแม้แต่วัตถุดิบสำหรับชิป ถูกกระจายไปในหลายประเทศและภูมิภาค

 

“มันเป็นการโยงใยขนาดใหญ่จริงๆ” คอลลิเออร์กล่าว พร้อมเสริมว่าไม่ว่าประเทศต่างๆ จะพยายามจำกัดวงการผลิตมากเพียงใด ระดับของการพึ่งพาอาศัยกันนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ: Rich Townsend / GettyImages 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising