×

การแข่งขันสหรัฐฯ-จีน ขยายสู่เครื่องบินรบยุคที่ 6

26.03.2025
  • LOADING...
เครื่องบินรบ F-47

สัปดาห์ที่แล้วเรดาร์ของนักสังเกตการณ์เทคโนโลยีการทหารจับไปที่โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของสหรัฐฯ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า Boeing คือผู้ชนะเหนือ Lockheed Martin ในโครงการพัฒนาและผลิตเครื่องบินขับไล่แบบ F-47 ภายใต้โครงการ Next Generation Air Dominance (NGAD) ของสหรัฐฯ

 

การประกาศของทรัมป์ถือเป็นการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดของโครงการ NGAD หลังจากที่สหรัฐฯ เก็บเป็นความลับมานานหลายปี

 

ที่ว่าลึกลับนั้นก็เพราะกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพิ่งเปิดเผยว่าต้นแบบของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ทั้งจากค่าย Boeing และ Lockheed Martin ต่างทดสอบบินมาแล้วหลายร้อยชั่วโมง รวมเวลา 5 ปีโดยที่ไม่มีใครรู้

 

แต่จากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยออกมาก็นับว่ายังน้อยอยู่ดี นอกจากภาพร่างของต้นแบบเครื่องบินที่ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจนนัก ดังนั้นโครงการนี้จึงจัดว่ายังลับสุดยอดมาก สิ่งที่เราทำได้คือการคาดคะเนด้านคุณสมบัติต่างๆ จนกว่าจะมีการเปิดเผยภาพออกมามากกว่านี้ 

 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนทรัมป์ประกาศผู้ชนะโครงการพัฒนา F-47 สื่อใหญ่อย่าง South China Morning Post รายงานว่ามีผู้พบเห็นและถ่ายภาพโปรโตไทป์ของ J-36 ของจีนได้อีกครั้ง หลังจากที่ J-36 เคยปรากฏตัวจนสร้างความฮือฮาในโลกโซเชียลมีเดียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยในวันนั้นมีคนถ่ายภาพเครื่องต้นแบบเครื่องบินรบยุคที่ 6 อีกรุ่นในสถานที่ต่างกันด้วย (J-XX)

 

แม้ทางการจีนยังไม่เคยยืนยันว่า J-36 เป็นเครื่องบินรบยุคที่ 6 แต่จากรูปร่างและการวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ ทำให้นักวิเคราะห์ฟันธงว่ามันคือเครื่องบินรบเจนใหม่ที่มีคุณสมบัติหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ได้ดีขึ้น และเป็นแพลตฟอร์มการรบที่มีขีดความสามารถสูงกว่าเครื่องบินยุคที่ 5

 

แน่นอนว่า การที่สหรัฐฯ เปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับ F-47 และการปรากฏตัวของ J-36 ในจีนก่อนหน้านี้ ย่อมถูกนำมาเปรียบเทียบ และทำให้การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในด้านเทคโนโลยีการทหารเด่นชัดขึ้นไปสู่มิติของการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็น Game Changer ในการครองอากาศในอนาคตอันใกล้ โดยที่ปี 2025 นั้นเป็นดั่งหมุดหมายหรือจุดสตาร์ทในเชิงสัญลักษณ์กลายๆ ของการวิ่งแข่ง ถึงแม้ว่าทั้งสองชาติจะเริ่มพัฒนาเครื่องบินรบยุคที่ 6 มานานหลายปีแล้วก็ตาม

 

เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับ F-47 และ J-36 

 

ทรัมป์เปิดเผยว่า F-47 จะทำความเร็วได้มากกว่ามัค 2 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเครื่องบินขับไล่ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ นอกจากนี้ยังบอกว่า F-47 จะมีเทคโนโลยีสเตลธ์ที่ล้ำสมัย “จนทำให้เราแทบมองไม่เห็นมันเลย” 

 

ขณะที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ เผยข้อมูลว่า F-47 จะบินได้ไกลกว่า F-22 ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบที่สหรัฐฯ เตรียมจะปลดประจำการและนำ F-47 เข้าประจำการแทนที่ในอนาคต 

 

สำหรับคุณสมบัติพื้นฐานของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ที่ F-47 ต้องมีก็คือความสามารถในการหลบหลีกเรดาร์หรือการถูกตรวจจับได้ยาก หรือที่เรียกว่า Stealth และต้องมีคุณสมบัตินี้เหนือกว่าเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 ซึ่งเป็นเครื่องยุคก่อนหน้าอย่าง F-22 หรือ F-35 ด้วย หรือหากเทียบคู่แข่งจากชาติอื่น ก็ต้องเหนือกว่า Su-57 ของรัสเซีย รวมถึง J-20 และ J-35 ของจีนเช่นกัน

 

อีกคุณสมบัติเด่นของเครื่องบินรบยุคที่ 6 คือ การเป็น ‘เครื่องบินรบแบบร่วมปฏิบัติการ’ ที่ทำหน้าที่เป็นยานแม่คอยควบคุมโดรนเพื่อให้ทำภารกิจบางอย่างแทน เช่นการสั่งให้โดรนบินลาดตระเวน ปล่อยอาวุธ หรือทำภารกิจการข่าวอื่นๆ ซึ่ง อนาลโย กอสกุล นักสังเกตการณ์การทหารอิสระและแอดมินเพจ Thaiarmedforce.com ระบุว่า เครื่องบินขับไล่ยุค 6 เพียงลำเดียวสามารถสร้างอำนาจการยิงและปฏิบัติภารกิจได้เหมือนมีเครื่องบินหลายลำ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติแรกของ F-47 และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6

 

โดยโดรนที่จะทำงานร่วมกับ F-47 ในอนาคตนั้น เวลานี้ยังอยู่ในขั้นประกวดแบบระหว่าง YFQ-44A Fury ของ Anduril Industries และ YFQ-42A Gambit ของ General Atomic ซึ่งยังต้องรอประกาศผู้ชนะ

 

หลังมีภาพร่างของ F-47 ออกมา สื่อทางการจีนอย่าง Global Times ได้นำเสนอการวิเคราะห์เกี่ยวกับคุณสมบัติ F-47 ของผู้เชี่ยวชาญหลายคนด้วย ซึ่ง จางเสวี่ยเฟิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของจีนมองว่า เมื่อดูจากลักษณะภายนอกของ F-47 มีความสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไม่มีแพนหางดิ่ง ซึ่งเป็นความพยายามในการเพิ่มสมรรถนะการล่องหนในทุกทิศทุกทาง นอกจากนี้ยังมีจมูกแบน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเครื่องบินขับไล่ยุคนี้ด้วย

 

เขาระบุด้วยว่า เครื่องบินรบยุคที่ 6 ต้องมีระบบควบคุมใหม่มาแทนหางดิ่ง เช่น ปลายปีกที่ขยับได้เพื่อควบคุมทิศทางการบิน อย่างไรก็ตาม จางตั้งข้อสังเกตว่า การที่ F-47 มีคานาร์ด (ปีกเล็กด้านหน้า) อยู่ด้านหน้าปีกหลักอาจส่งผลต่อสมรรถนะด้านการล่องหนไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นไปได้ว่า Boeing อาจขาดเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบควบคุมใหม่ๆ จึงต้องอาศัยคานาร์ด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างเก่า 

 

ส่วน หวังหย่าหนาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Aerospace Knowledge ที่มีสำนักงานอยู่ในปักกิ่ง ให้ความเห็นกับ Global Times ว่า เมื่อเปรียบเทียบขนาดของกระจกครอบห้องนักบินและล้อหน้าลงจอดแล้ว สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ขนาดโดยรวมของ F-47 ไม่น่าจะใหญ่กว่า F-22 มากนัก ซึ่งหมายความว่า F-47 ยังคงเป็นเครื่องบินรบทางยุทธวิธี ไม่ใช่แพลตฟอร์มอากาศยานขนาดใหญ่แบบอเนกประสงค์ที่สามารถปฏิบัติภารกิจในระดับยุทธการเหมือนกับเครื่องบินของค่ายจีนที่มีรูปถ่ายปรากฏออกมาก่อนหน้านี้

 

อย่างไรก็ตาม หวังระบุว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงการวิเคราะห์จากภาพจำลอง ซึ่งเป็นแค่การร่างขึ้นเท่านั้น ยังไม่ใช่ภาพถ่ายจริง 

 

แต่หวังตั้งข้อสังเกตว่า การให้ Boeing พัฒนาโครงการนี้อาจมีความเสี่ยง เพราะก่อนหน้านี้ Boeing ก็แพ้ให้กับ Lockheed Martin ในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 และพอร์ตในปัจจุบันที่มีอยู่อย่าง F-15 และ F/A-18 ก็เป็นเครื่องบินที่เริ่มพัฒนาโดย McDonnell Douglas ที่ภายหลังเข้าควบรวมกับ Boeing นอกจากนี้ Boeing ยังเผชิญกับปัญหาอื้อฉาวมากมายในเครื่องบินพาณิชย์แบบ 737 MAX ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

ข้ามมาที่คุณสมบัติของ J-36 บ้าง นักสังเกตการณ์วิเคราะห์จากภาพถ่ายก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 6 ด้วยคุณสมบัติเด่นที่ไม่ต่างจาก F-47 ที่กล่าวไว้ข้างต้น 

 

ในบทความ China’s 6th-Generation Fighter: Potential Game Changer for Air Superiority in Asia? ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Diplomat เมื่อเดือนกุมภาพันธ์วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเปิดตัว J-36 และ J-XX เป็นการแสดงถึงก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในการพัฒนาแสนยานุภาพทางอากาศของจีน และเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมเปลี่ยนโครงสร้างความมั่นคงหรือดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 

 

J-36 ใช้เครื่องยนต์ถึงสามเครื่อง ลำตัวเครื่องเป็นรูปทรงเพชรและออกแบบไร้แพนหางเพื่อปฏิบัติภารกิจในระยะไกลโดยที่สามารถหลบหลีกการถูกตรวจจับด้วยระบบของศัตรูได้ 

 

คาดว่าระยะปฏิบัติการของ J-36 อาจมีพิสัยเกินกว่า 2,500 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าสามารถโจมตีไกลถึงฐานทัพสหรัฐฯ ที่เกาะกวม ดิเอโกการ์เซีย หรือแม้แต่รัฐอะแลสกาได้ 

 

นอกจากนี้อีกคุณสมบัติเด่นที่คาดว่าจะมีในเครื่องบินรุ่นนี้คือความเร็วเหนือเสียง (hypersonic) โดยสามารถทำความเร็วได้เกินมัค 2 และหากมีการปรับแต่งเพิ่มเติม อาจทำความเร็วเฉียดมัค 3 โดยเฉพาะในระดับความสูงที่อากาศเบาบาง 

 

อีกคุณสมบัติที่คล้าย F-47 คือ เครื่องบินเหล่านี้ถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางการควบคุมฝูงอากาศยานไร้คนขับ โดยผสานระบบขับเคลื่อนแบบมีนักบินและไร้นักบินเข้าด้วยกัน เช่น UCAV (อากาศยานไร้คนขับที่ติดอาวุธ) ซึ่งทำให้จีนสามารถขยายระยะการปฏิบัติการรบได้อีกหลายร้อยกิโลเมตร

 

ต้นแบบ J-36 และ J-XX มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบิน F-35 และ F-22 ของสหรัฐฯ อย่างมาก จีนเชื่อว่าเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ของสหรัฐฯ มีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งจำกัดทั้งปริมาณเชื้อเพลิงและขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมถึงการรวมข้อมูลจากเซนเซอร์ (sensor fusion), การประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ และการควบคุมฝูง UCAV ในสงครามปฏิบัติการร่วม

 

นอกจากโครงการ NGAD ของสหรัฐฯ และโครงการ J-36 ของจีนแล้ว ยังมีหลายประเทศที่กำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 เช่นกัน โดยฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน มีโครงการ Future Combat Air System (FCAS) ขณะที่สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น ร่วมมือกันพัฒนาโครงการ Global Combat Air Programme (GCAP) ส่วนรัสเซียก็มีรายงานจากสำนักข่าว TASS ว่ากำลังพยายามพัฒนาเครื่องบินรบยุค 6 เช่นกัน

 

จากนี้คาดว่าทั้ง F-47 และ J-36 จะใช้เวลาทดสอบระบบต่างๆ อีกหลายปี ก่อนที่จะพร้อมเข้าประจำการ ซึ่งการแข่งขันจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่จีนลดช่องว่างกับสหรัฐฯ ลงเรื่อยๆ ขณะที่ชาติอื่นๆ ที่หันมาพัฒนาเครื่องบินรบยุคที่ 6 ด้วยก็น่าจับตาไม่แพ้กัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising