สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 6.2% เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแรงในเดือนดังกล่าว แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มย่อตัวลงมาแล้ว ทำให้คาดว่า เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนผลัก หรือ Cost-Push น่าจะเริ่มมีทิศทางที่บรรเทาลง
อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation ของสหรัฐฯ ล่าสุด จะพบว่าอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศยังมีสูง ซึ่งอาจกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปได้เช่นกัน
“โดยสรุปคือ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่น่าพุ่งขึ้นแรงกว่านี้ แต่ก็จะไม่ลดลงมากจากปัจจัยด้านอุปสงค์ แต่คงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลมากของสหรัฐฯ เพราะรายได้คนของเขาก็เพิ่มตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ถ้าถามว่าเงินเฟ้อที่เกิดในต่างประเทศจะส่งผ่านมาถึงไทยหรือไม่ เชื่อว่าผลกระทบจะยังไม่เห็นในทันที เพราะด้าน Cost-Push เรายังมีภาครัฐช่วยอุดหนุนอยู่ ส่วนฝั่ง Demand-Pull ของไทยก็ยังไม่มีเพราะกำลังซื้อคนยังไม่กลับมา ทำให้เราอาจยังไม่ต้องกังวลใจในระยะสั้น” สมประวิณกล่าว
อย่างไรก็ดี สมประวิณกล่าวว่า ประเทศไทยก็ไม่ควรชะล่าใจเนื่องจากในระยะยาวหากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า ในท้ายที่สุด Demand-Pull จะผลักดันให้ราคาสินค้าโลกปรับสูงขึ้นอยู่ดี ซึ่งภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณเข้ามาชดเชยค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากได้
“โจทย์ของเราคือต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้น ถ้าคนมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อจะไม่น่ากลัว อย่ามองว่าเราเปิดประเทศแล้วจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา และต้องใช้เวลากว่าที่ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว โดยส่วนตัวผมมองว่าไทยยังต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ เพื่อจัมป์สตาร์ทเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือการดูแลเงินเฟ้อของเราจะต้องทำทั้งสองขา คืออุดหนุนค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน” สมประวิณกล่าว
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ และจีนที่ออกมาสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ยังคงเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากปัญหาในภาคการผลิตและราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้นจากอุปสงค์และอุปทานที่ยังไม่สมดุลกันในตลาด แต่อาจเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ยาวนานกว่าเดิม โดยเชื่อว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อน่าจะเริ่มคลายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
“ตัวเลขเงินเฟ้อที่ 6.2% ของสหรัฐฯ คงจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว ในระยะสั้นสหรัฐฯ น่าจะมีการเร่งระบายสต๊อกน้ำมันดิบเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ส่วนในระยะยาวก็น่าจะผลักดันเรื่องพลังงานสะอาด คงยังไม่ถึงขั้นที่ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเพราะจะทำให้เศรษฐกิจเขาชะลอ ส่วนเงินเฟ้อของจีนเกิดจากราคาถ่านหินเป็นหลัก แต่ก็ยังมีทางออกคือการเร่งนำเข้าได้ หากดูดัชนี PPI ของจีนจะเห็นว่าปรับขึ้นไป แต่ CPI ยังปรับขึ้นไม่เยอะ สะท้อนว่าผู้ผลิตของยอมเฉือนเนื้อตัวเองแบกรับต้นทุนอยู่” อมรเทพกล่าว
อมรเทพระบุว่า หากพิจารณาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในโลกเวลานี้จะพบว่ามีสาเหตุหลักมาจาก Supply Disruption ทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นจาก Pent-Up Demand เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมยังไม่น่ากังวล อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยอาจจะต้องระมัดระวังคือ การส่งออกเงินเฟ้อจากกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วมายังไทยที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวผ่านการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่างๆ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อไทยเพิ่มสูงขึ้น
“การที่ไทยฟื้นตัวช้ากว่าคนอื่นจะทำให้เรามีข้อจำกัดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นนโยบายการคลังอาจจะต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ก็อาจจะทำให้ต้นทุนการเงินของไทยปรับสูงขึ้น” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวว่า ขณะนี้สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าเป็นบวกมากขึ้น จากการกระจายวัคซีนในประเทศที่ดีขึ้นและการเปิดเมือง ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยในเร็วๆ นี้ธนาคารจะมีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีหน้า รวมถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คาดว่า GDP จะขยายตัว 3.2% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.6 ล้านคน
“ในปีหน้าการส่งออกจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีการบริโภคในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวเป็นแรงหนุน และมีการท่องเที่ยวเป็นความหวัง ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตาดูคือเงินเฟ้อซึ่งจะกดดันกำลังซื้อของคน” อมรเทพกล่าว
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนไทยค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังเลือกแบกรับภาระดังกล่าวเอาไว้เองอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวทำให้การปรับขึ้นราคายังทำได้ยาก
“บางธุรกิจสามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้เลยทันทีเพราะสินค้าเขาเป็นที่ต้องการ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่ธุรกิจจำนวนมากก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอาไว้เอง เช่น ขนส่งโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี เรามองว่าน้ำมันแพงจะเป็นภาวะชั่วคราวไม่ใช่ระยะยาว และการที่ภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนน่าจะทำให้ภาคธุรกิจยังไปต่อได้จนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น” สุพันธ์ุกล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP