×

กลุ่มอภิมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ เรียกร้องให้เก็บภาษีความมั่งคั่งเพิ่ม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

25.06.2019
  • LOADING...
ความเหลื่อมล้ำ

กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในสหรัฐฯ ร่วมเรียกร้องผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งปี 2020 ให้พิจารณาใช้ระบบจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

ในจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดยอภิมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ หลายคน รวมถึง จอร์จ โซรอส นักลงทุนชื่อก้องโลก, คริส ฮิวจ์ส ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก และมอลลี มังเกอร์ บุตรสาวของมหาเศรษฐี ชาร์ลี มังเกอร์ ระบุว่า “สหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักศีลธรรม จรรยา และเศรษฐกิจ ในการเก็บภาษีความมั่งคั่งจากพวกเราเพิ่มขึ้น

 

“เราเขียนจดหมายมาเพื่อเรียกร้องให้แคนดิเดตประธานาธิบดีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรีพับลิกันหรือเดโมแครต ให้สนับสนุนระบบจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจากทรัพย์สินของเรา ซึ่งอยู่ในกลุ่มชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ

 

“ภาษีความมั่งคั่งจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ยกระดับเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม และเสริมสร้างเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยของเรา การเก็บภาษีความมั่งคั่งเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณรัฐของเรา” จดหมายระบุ

 

นอกจาก 3 บุคคลข้างต้นแล้วยังมีสมาชิกครอบครัวของวอลต์ ดิสนีย์ และกลุ่มเจ้าของเชนโรงแรมไฮแอทที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้แคนดิเดตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เพิ่มขึ้น

 

จดหมายยังระบุด้วยว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุน เคยกล่าวไว้ว่าเขายังถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่าเลขาฯ ของเขาเสียอีก 

 

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ Medium.com ก่อนที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 จากพรรคเดโมแครตจะเปิดฉากดีเบตครั้งใหญ่ครั้งแรกในเมืองไมอามี ขณะที่ เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกเดโมแครตจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดต ได้เรียกร้องให้มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ที่ถือครองทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศจำนวน 75,000 ครอบครัว โดยวอร์เรนประมาณการว่าระบบภาษีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศจำนวน 2.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลา 10 ปี

 

ภาพประกอบ: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X