×

บรรดาหุ้นแบงก์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกถล่มขายกว่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หวั่นวิกฤต ‘Bank Run’ กระทบสภาพคล่องรุนแรง

10.03.2023
  • LOADING...
ธนาคารสหรัฐ

ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่งของสหรัฐอเมริกาถูกนักลงทุนเทขาย ทำให้มูลค่าตลาดลดลงไปกว่า 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ท่ามกลางการขายหุ้นธนาคารและภาคการเงินอย่างกว้างขวาง นักวิเคราะห์เชื่อว่าสถานการณ์นี้เชื่อมโยงกับความกลัวของนักลงทุนถึงมูลค่าพอร์ตตราสารหนี้ของผู้ให้กู้

 

การเทขายหุ้น JPMorgan Chase, Bank of America, Citigroup และ Wells Fargo ดูเหมือนจะเกิดจากปัญหาของ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายเล็กให้สตาร์ทอัพ เปิดเผยว่าบริษัทสูญเสียสินทรัพย์จากการขายเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ หลังจากเงินฝากของธนาคารลดลงมากกว่าที่คาดไว้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ขณะเดียวกันการปิดตัวอย่างกะทันหันของ Silvergate Capital และการระดมทุนอย่างเร่งด่วนของ SVB Financial Group ได้สร้างความกังวลต่อหุ้นธนาคารสหรัฐฯ ทั่วทั้งอุตสาหกรรม จนนำไปสู่การตั้งคำถามของนักลงทุนในวงกว้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ใหญ่กว่าที่คาดไว้หรือไม่?

 

เกิดอะไรขึ้นในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ?

เมื่อช่วงสายของวันพุธที่ผ่านมา (8 มีนาคม) SVB เปิดเผยว่าบริษัทขาดทุนประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ หลังจากการขายพอร์ตหลักทรัพย์มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อปรับสภาพคล่องตามเงินฝากของลูกค้าที่ลดลง การขาดทุนนี้ทำให้ธนาคารประกาศขายหุ้นเพื่อพยุงฐานะเงินทุน 

 

ในปี 2021 เป็นช่วงที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายตํ่า เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้สินทรัพย์และเงินฝากของ SVB เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หลังธนาคารสามารถระดมทุนได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น SVB นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้อื่นๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ทุกอย่างพลิกผันไป

 

สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและบริษัทร่วมทุนที่ธนาคาร SVB ให้บริการอยู่ เงินฝากลดลงเกินคาดและยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ VC จำนวนมาก เช่น Founders Fund ภายใต้การบริหารของ Peter Thiel และผู้ร่วมทุนรายใหญ่รายอื่นๆ แนะนำให้บรรดาธุรกิจที่เป็นลูกค้าถอนเงินของพวกเขาจาก SVB อย่างไรก็ตาม ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งยังคงไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์นี้

 

การขาดทุนที่สูงลิ่วจากการขายหลักทรัพย์ของ SVB ได้เบนความสนใจของนักลงทุนไปยังความเสี่ยงที่อาจแฝงตัวอยู่ในพอร์ตพันธบัตรขนาดใหญ่ที่ถือโดยธนาคารอื่นๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งหลายแห่งได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอายุยืนยาวนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 

 

หุ้น SVB ดิ่งตัวลงกว่า 60% ภายในวันเดียว ขณะที่ดัชนี KBW Bank ซึ่งเป็นดัชนีเกณฑ์มาตรฐานของหุ้นธนาคารในสหรัฐฯ ลดลงมากกว่า 7% โดยเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 หลังนักลงทุนเทขายหุ้นธนาคาร เพราะกังวลว่าจะเกิดภาวะช็อกทางการเงินเหมือนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด

 

การเทขายนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังข้อมูลจาก Federal Deposit Insurance Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้กู้ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงรวมกันประมาณ 6.2 แสนล้านดอลลาร์ ในพอร์ตหลักทรัพย์ของพวกเขา 

 

อย่างไรก็ตาม การขาดทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาพร้อมกับการลดลงของเงินฝากธนาคาร เนื่องจากผู้ออมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงเวลาที่ Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับธนาคารคือพวกเขาอาจต้องปฏิบัติตาม SVB โดยการขายหลักทรัพย์บางส่วนที่ขาดทุนเพื่อให้ครอบคลุมการถอนเงินฝาก 

 

นับเป็นสัปดาห์ที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมธนาคารของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการประกาศหยุดดำเนินการของ Silvergate Capital ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของวงการคริปโตเคอร์เรนซี เนื่องจากการหดตัวของอุตสาหกรรมคริปโต ทำให้เกิดการแห่ถอนเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งธนาคารไม่สามารถแบกภาระขาดทุนจากการขายสินทรัพย์หลายพันล้านดอลลาร์ได้

 

โลกการลงทุนกำลังตั้งคำถามว่าใครจะเป็นรายต่อไป? 

นักวิเคราะห์กล่าวว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกะทันหันสำหรับธนาคารหลายแห่งอาจไม่มี แต่ก็มีโอกาสได้รับผลกระทบได้ โดยแทนที่จะต้องเผชิญกับการถอนเงินฝากจำนวนมาก ธนาคารอาจจะถูกบังคับให้แข่งขันกันรุนแรงขึ้น เช่น ธนาคารจะเสนอการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นให้กับผู้ออม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการให้กู้ยืมและทำให้รายได้ลดลง

 

โดยปกติแล้วเงินทุนของธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีการกระจายตัวน้อยกว่า ทำให้อาจได้รับแรงกดดันเป็นพิเศษ ซึ่งจะบังคับให้ธนาคารเหล่านี้ขายหุ้นมากขึ้น และส่งสัญญาณให้นักลงทุนถอยห่างจากธนาคารเหล่านี้

 

Christopher Whalen ประธานบริษัท Whalen Global Advisors เชื่อว่า SVB จะเป็นเพียงแค่ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง และยังทิ้งท้ายว่า “ผมไม่กังวลธนาคารขนาดใหญ่มากเท่าไร แต่บรรดาธนาคารขนาดเล็กจำนวนมากกำลังจะเผชิญปัญหาที่รายล้อมและจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนอย่างไม่ต้องสงสัย”

 

ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าได้ใช้เวลาในการตรวจสอบงบดุลของธนาคารขนาดเล็กน้อยลง และนำเวลาเหล่านั้นไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทางการเงินหรือสกุลเงินดิจิทัล

 

ในทางกลับกันทางการกลับให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเสถียรภาพของธนาคารขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อระบบการเงิน เช่น J.P. Morgan และ Bank of America ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008

 

Michael Barr รองประธานฝ่ายกำกับดูแลของ Fed กล่าวว่า พวกเขาได้บังคับให้ผู้ให้กู้รายใหญ่ที่สุดกันเงินทุนจำนวนมากเอาไว้ ซึ่งบางครั้งอาจมาจากเสียงบ่นของนายธนาคาร เพื่อให้ธนาคารยังดูปลอดภัยในช่วงเวลาเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่ามีสถาบันขนาดใหญ่ที่เผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงเหล่านี้มักจะเป็นส่วนเล็กๆ ของงบดุล ดังนั้นแม้ว่าพวกเขาจะประสบกับการไหลออกของเงินฝากเท่ากัน แต่พวกเขาก็ยังมีเกราะป้องกันที่ดีกว่า

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X