ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แถลงข่าวเช้าวันนี้ (30 กรกฏาคม) ว่า วัคซีน Pfizer ที่รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคให้ไทยล็อตแรกจำนวน 1,503,450 โดสนั้นได้มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พร้อมยืนยันจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส ตามคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ไว้ ซึ่งการส่งมอบวัคซีนครั้งนี้ สหรัฐฯ ยืนยันว่าเป็นการให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพียงหนึ่งเดียวคือเพื่อช่วยชีวิตผู้คน ด้วยความตระหนักอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ซึ่งสหรัฐฯ มีความยินดีที่ได้รับทราบว่า รัฐบาลไทยจะมุ่งกระจายวัคซีนเหล่านี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน รวมทั้งมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด
ฮีธระบุด้วยว่า การขนส่งวัคซีนครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเน้นย้ำถึงการสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีต่อพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย
“รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนเคียงข้างไทย หุ้นส่วนของเรา ในการต่อสู้กับโรคโควิด และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือกันนี้สะท้อนคำมั่นของประธานาธิบดีไบเดนที่จะมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับประเทศต่างๆ ที่ขาดแคลน
“รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ประกาศว่า สหรัฐฯ จะแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสในส่วนของสหรัฐฯ เองเพื่อช่วยยุติโรคระบาดใหญ่ในทั่วโลกนี้ และการส่งมอบวัคซีน Pfizer ในครั้งนี้แสดงถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับความร่วมมือระหว่างเรากับไทย ในแผนการบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสของประธานาธิบดีไบเดนนั้น สหรัฐฯ จะมอบวัคซีน 23 ล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย เพื่อที่จะช่วยให้ภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยปลอดภัย การบริจาควัคซีนเหล่านี้เป็นความช่วยเหลือนอกเหนือไปจากความช่วยเหลือมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ ให้ผ่านทาง COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนโควิดให้แก่นานาประเทศอย่างเท่าเทียม”
ช่วงถาม-ตอบสื่อมวลชน ฮีธตอบคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากนี้ โดยบอกว่า หลังจากส่งมอบวัคซีนให้ไทยแล้ว สองฝ่ายจะมีการประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลไทย
ส่วนคำถามที่ว่า วัคซีน Pfizer ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากว่าจะมีการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่ระบุก่อนหน้านี้หรือไม่ และมีกลไกควบคุมตรวจสอบอย่างไรนั้น ฮีธตอบว่า สหรัฐฯ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการมอบวัคซีนครั้งนี้ และไม่มีอำนาจใดๆ ในการควบคุมรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการจัดสรรเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีการประสานและได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าจะมีการจัดสรรให้กลุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมถึงบุคลากรด่านหน้า ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร ด้วยเหตุนี้จึงขอให้ติดตามประกาศจากทางการเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีน เพราะการปฏิบัติจริงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย
สหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญไปที่กลุ่มผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มประชากรเปราะบาง นอกจากนี้ก็ต้องการให้จัดสรรวัคซีนตามหลักการที่ว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใดก็ตาม เพราะไม่มีใครปลอดภัยได้จนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย เนื่องจากไม่ว่าคนชาติใดก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ และสหรัฐฯ ต้องการเห็นการลงทะเบียน จัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน
ส่วนกรณีที่ แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ประกาศการบริจาควัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดสนั้น เกิดคำถามว่าสหรัฐฯ จะจัดส่งให้ไทยในช่วงเวลาใด และเป็นยี่ห้อใด ระหว่าง Moderna, Pfizer หรือ Johnson & Johnson
ฮีธตอบว่ามีการส่งมอบตามที่ประกาศอย่างแน่นอน แต่ตนยังไม่ทราบว่าจะส่งมอบให้ได้เมื่อใด และวัคซีน 1 ล้านโดสนี้ก็ยังไม่สามารถระบุยี่ห้อได้ในเวลานี้ แต่ยืนยันไม่ว่าจะเป็น Moderna, Pfizer หรือ Johnson & Johnson ต่างก็มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ส่วนคำถามเกี่ยวกับกรณีที่จีนทำการทูตวัคซีนได้เร็วกว่าสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ควรทำแบบเดียวกับจีนหรือไม่นั้น ฮีธตอบว่า ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ที่คอยช่วยเหลือไทยด้านข้อมูลอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการบริจาคอุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นชุดป้องกัน (PPE), เครื่องช่วยหายใจ และหน้ากาก ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ส่วนวัคซีนนั้น สหรัฐฯ ก็ต้องการจะบริจาคให้เร็วกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และสูญเสียประชากรไปครึ่งล้านคนจากโควิด
ฮีธยังยืนยันว่า รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งจะส่งมอบภายในสิ้นปี โดยถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ต้องการอย่างมาก
ในการแถลงข่าวเช้านี้ ฮีธยังตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าสนับสนุนให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้บางครั้งความคิดเห็นนั้นอาจเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตาม
กับคำถามที่ว่าสหรัฐฯ รับมืออย่างไรกับโรคระบาดโควิดที่ผ่านมา และไทยสามารถถอดบทเรียนได้อย่างไรนั้น
ฮีธตอบว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าแนวทางไหนดีที่สุด เพราะในสหรัฐฯ มีมากถึง 50 รัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็มีมาตรการ มีแนวทางของตัวเอง บางรัฐอาจใช้การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ขณะที่บางรัฐเป็นการล็อกดาวน์บางส่วนหรือใช้มาตรการแบบผสม จึงบอกยากว่าแนวทางใดดีที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ต้องให้ความกระจ่างหากเกิดเฟกนิวส์ต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับวัคซีน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน ฮีธบอกว่าไม่สามารถแนะนำแนวทางที่ดีที่สุดได้ เนื่องจากตนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่ขอให้คอยติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม เลี่ยงอยู่ในที่แออัดหรือรวมกลุ่มกับคนเยอะๆ และสวมหน้ากากอยู่เสมอ
ภาพ: สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย
อ้างอิง: