×

กรมประมงแถลงมาตรการด่วน ทำปลาหมอคางดำให้เป็นหมัน มั่นใจภายใน 3 ปีเอาอยู่

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 กรกฎาคม) บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ ในประเทศไทย ซึ่งพบตั้งแต่ปี 2560 และแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลางเมื่อต้นปี 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และเพชรบุรี 

 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา จึงกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำขึ้น และออก 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 

 

1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 

 

2) การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาวและปลาอีกง หรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ

 

3) การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู 

 

4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ 

 

5) การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน 

 

ที่ผ่านมากรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันพบการแพร่ระบาดเพิ่มในบางพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และสงขลา และได้รับแจ้งว่ามีการระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐมและนนทบุรี รวมทั้งสิ้นเป็น 16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด

 

ทั้งนี้ ทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อดำเนินการทำร่างแผนปฏิบัติการ และงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว เพื่อให้แผนรายจังหวัดสามารถปฏิบัติได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุด ในขณะนี้ทุกจังหวัดได้เริ่มดำเนินการตามแผนเบื้องต้นไปแล้ว โดยมีหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ร่วมบูรณาการกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประมงท้องถิ่น และภาคประชาชน ในการดำเนินการ 

 

นอกจากนี้ ร.อ. ธรรมนัส ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุน​สงเคราะห์​การทำ​สวนยาง​ ในระหว่างที่รอของบกลาง และได้สั่งการเร่งด่วนมายังอธิบดีกรมประมงให้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภายใน 1 สัปดาห์ ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 

 

สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในขณะนี้ กรมประมงขอชี้แจงว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้ขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำมิให้แพร่ระบาด 

 

ดังนั้น หากภาคเอกชนใดต้องการนำเข้ามาในประเทศต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และเมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำ กรมประมง จะดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นจนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต คือกระบวนการที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อนำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ 

 

ภายหลังบริษัทดังกล่าวยกเลิกการทำวิจัย และไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด 

 

จากการลงตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัทในช่วงพบการแพร่ระบาดในปี 2560 ของเจ้าหน้าที่กรมประมง จึงได้รับรายงานว่า ได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบ จากที่เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้วิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม จำนวน 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ 

 

กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่นำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด 

 

ที่สำคัญ ในระยะยาวกรมประมงจะนำ ‘โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ’ มาใช้ โดยโครงการดังกล่าว กรมประมงได้มีแนวทางควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ ด้วยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ 

 

ในเบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 – กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าที่สุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว และเมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่นๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่าและการจับปลาไปใช้ประโยชน์ จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนควบคุมการระบาดได้ในอนาคต ภายใน 3 ปี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising