×

อัปเดตแนวทางการรักษาโควิด-19 ใหม่ ประชาชนควรรู้อะไรบ้าง?

04.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมื่อก่อนถ้าใครมีอาการไอ เจ็บคอ แต่ไม่มีไข้ หรือวัดอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่า ‘ไม่เข้าเกณฑ์’ แต่แนวทางฯ ฉบับใหม่กำหนดว่า ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น* หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ก็จะ ‘เข้าเกณฑ์’ อาการแล้ว โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ก็ได้
  • แนวทางฯ กำหนดให้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่บ้านต่อจนครบ 30 วันนับจากวันเริ่มป่วย (ย้ำว่าไม่ได้นับจากวันที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล) เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น และสามารถสร้างภูมิต้านทานได้เต็มที่ที่จะมีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์หยุดงานให้
  • จะเห็นว่าแนวทางฯ ฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่แรกเริ่มวินิจฉัย รักษา จนกระทั่งผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล แต่สิ่งหนึ่งที่แนวทางฯ ไม่ได้พูดถึงคือสภาพจิตใจของผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบด้านการรักษาผู้ป่วย ได้ปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นับเป็นครั้งที่… ผมจำไม่ได้แล้ว เพราะที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนบ่อยมาก

 

เมื่อก่อนถ้าแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ไม่ได้ติดตามงานวิจัยหรือแนวทางฯ ใหม่เป็นประจำ สิ่งที่เคยเรียนหรือความรู้เมื่อ 1-2 ปีก่อนก็อาจล้าสมัยแล้ว 

 

แต่สำหรับโควิด-19 ถ้าแพทย์ไม่ได้ติดตามการปรับปรุงแนวทางที่กรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ประกาศเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็อาจวินิจฉัยหรือดูแลรักษาผู้ป่วยไม่เหมือนกันแล้ว

 

แนวทางฯ ฉบับนี้เขียนกำกับไว้ตั้งแต่ส่วนหัวแล้วว่า ‘สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข’ แต่ผมยังเห็นว่ารายละเอียดบางอย่างในเอกสารก็ ‘น่ารู้’ สำหรับประชาชนทั่วไปเหมือนกัน เพราะจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น และถ้าหากป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว (สมมตินะครับ) จะได้เข้าใจขั้นตอนการรักษาของแพทย์

 

นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์

นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ โดยเกณฑ์ที่ว่าคือเกณฑ์ในการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโควิด-19 ยังใช้เกณฑ์อาการ + ประวัติเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนวันเริ่มป่วยอยู่ แต่แนวทางฯ ฉบับนี้ได้ปรับมาให้ความสำคัญกับอาการทางระบบทางเดินหายใจมากขึ้น 

 

กล่าวคือ เมื่อก่อนถ้าใครมีอาการไอ เจ็บคอ แต่ไม่มีไข้ หรือวัดอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ก็จะถือว่า ‘ไม่เข้าเกณฑ์’ แต่แนวทางฯ ฉบับใหม่กำหนดว่า ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น* หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ก็จะ ‘เข้าเกณฑ์’ อาการแล้ว โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ก็ได้

 

*สังเกตว่าผู้เชี่ยวชาญได้เพิ่มอาการ ไม่ได้กลิ่น เข้ามาในนิยามเป็นครั้งแรกด้วย

ส่วนประวัติเสี่ยงยังมี 4 ข้อเหมือนเดิมคือ ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

 

  1. เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรค 
  2. ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก 
  3. ไปในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน 
  4. สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน

 

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์โรคปอดอักเสบที่แพทย์สงสัย เกณฑ์บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนทั่วไป แต่เกณฑ์สุดท้ายคือเกณฑ์ผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน (cluster) คือถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้นตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปที่มีความเชื่อมโยงกันในสถานที่เดียวกันและในช่วงเวลาเดียวกัน จะต้องตรวจโควิด-19 ด้วย

 

การสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ

รายละเอียดในส่วนของการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ผมต้องการย้ำให้เห็นว่าบุคลากรป้องกันตัวกันอย่างไร ประชาชนจะได้มั่นใจว่าตัวเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ และประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องป้องกันตัวเกินกว่าแพทย์หรือพยาบาลซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยมากกว่า

 

โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ 

 

  1. กรณีทั่วไป ให้ใช้การป้องกันละอองสารคัดหลั่งและการสัมผัส (droplet and contact precaution) โดยสวมกาวน์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย และเฟซชิลด์ (4 ชิ้น) 
  2. กรณีที่ต้องทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (aerosol) เช่น การเก็บตัวอย่าง จะต้องเปลี่ยนเป็นกาวน์กันน้ำ หน้ากากชนิด N95 + หมวกคลุมผม ส่วนเฟซชิลด์จะใช้แว่นป้องกันตา (goggle) แทนก็ได้ ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากชนิด N95

 

การแยกโรคและการรักษา

ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 จะถูกรับไว้ในโรงพยาบาล ในห้องแยกโรคเดี่ยว (single isolation room) หรือหอผู้ป่วยรวมที่มีเฉพาะผู้ป่วยยืนยัน (cohort ward) โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องความดันลบ ยกเว้นกรณีอาการรุนแรงหรือต้องทำหัตถการที่ทำให้เกิด aerosol เพราะเชื้ออาจแพร่ผ่านอากาศ (airborne) ได้

 

จากการลงพื้นที่สอบสวนโรค ผมสังเกตว่าโรงพยาบาลเอกชนจะใช้ห้องแยกโรคเดี่ยว คือใช้ห้องผู้ป่วยเดิมซึ่งแยก 1 คนต่อ 1 ห้องอยู่แล้ว แต่กำหนดให้ทั้งชั้นรับเฉพาะผู้ป่วยยืนยัน ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐจะใช้ห้องความดันลบ แต่ถ้าเตียงเต็มก็จะใช้หอผู้ป่วยรวม ซึ่งดัดแปลงจากหอผู้ป่วยสามัญเดิมที่อยู่กันหลายคนแทน

 

ส่วนการรักษาจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มคือ 

 

  1. กลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะหายได้เอง หรือถ้าให้ยาก็จะได้รับผลข้างเคียงจากยาแทน 
  2. กลุ่มอาการน้อยและไม่มีภาวะเสี่ยง ให้ยาต้านไวรัส 2 ชนิดนาน 5 วัน 
  3. กลุ่มอาการน้อย แต่มีภาวะเสี่ยง ให้ยาต้านไวรัส 2 ชนิดนาน 5 วัน และอาจให้ยาชนิดที่ 3 ร่วมด้วย แต่ถ้ากลุ่ม 2 และ 3 มีอาการแย่ลงให้เพิ่มยาฟาวิพิราเวียร์
  4. กลุ่มที่มีภาวะปอดอักเสบ ให้ยาต้านไวรัส 3 ชนิด (รวมยาฟาวิพิราเวียร์) นาน 5-10 วัน และอาจให้ยาชนิดที่ 4 ร่วมด้วย

 

ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล

ผู้ป่วยจะต้องนอน ‘โรงพยาบาล’ อย่างน้อย 2-7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย (แต่ต้องกินยาอย่างน้อย 5 วัน) หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะได้รับการส่งตัวไปสังเกตอาการต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือโรงพยาบาลที่รัฐจัดให้ หรือที่มักจะได้ยินผ่านสื่อว่า ‘โรงพยาบาลสนาม’ (designated hospital/hospitel) จนครบ 14 วันนับจากวันเริ่มป่วย

 

เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่หายแล้ว (ไม่มีอาการแล้ว) ยังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ และอาจนานได้ถึง 50 วัน แต่มีอีกงานวิจัยพบเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 8 วันนับจากวันเริ่มป่วยเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยที่กักตัวครบ 14 วันแล้วจะมีโอกาสแพร่เชื้อต่ำมาก จึงสามารถกลับบ้านได้

 

แต่แนวทางฯ กำหนดให้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่บ้านต่อจนครบ 30 วันนับจากวันเริ่มป่วย (ย้ำว่าไม่ได้นับจากวันที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล) เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น และสามารถสร้างภูมิต้านทานได้เต็มที่ที่จะมีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์หยุดงานให้

 

ทั้งนี้แพทย์และทีมสหวิชาชีพจะต้องประเมินความพร้อมของผู้ป่วย ครอบครัว และสถานที่ก่อนว่าผู้ป่วยจะสามารถแยกตัวจากสมาชิกคนอื่นภายในบ้านได้หรือไม่ เพราะจะต้องปฏิบัติตัวเหมือนเป็นผู้ที่ต้องกักตัว 14 วันหลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็สามารถพักต่อที่โรงพยาบาลสนามได้จนครบกำหนด

 

จะเห็นว่าแนวทางฯ ฉบับนี้ครอบคลุมตั้งแต่แรกเริ่มวินิจฉัย รักษา จนกระทั่งผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ผมสรุปมาแต่ในส่วนที่คิดว่าประชาชนทั่วไปน่ารู้ แต่ถ้าอยากทราบรายละเอียด ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของกรมการแพทย์ แต่สิ่งหนึ่งที่แนวทางฯ ไม่ได้พูดถึงคือสภาพจิตใจของผู้ป่วย

 

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราต่างถูกจำกัดการเดินทาง บางคนทำงานอยู่ที่บ้าน บางคนสลับวันไปทำงานกับเพื่อนในแผนกเดียวกัน บางคนตกงานเพราะบริษัทห้างร้านปิดทำการ ส่วนถ้าต้องออกนอกบ้าน เราต่างต้องเว้นระยะห่างทางกาย 1-2 เมตร แค่นี้เรายังรู้สึกอึดอัดมาก แต่ถ้าลองนึกเป็นผู้ป่วยที่ต้องกักโรคที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามโดยที่ไม่สามารถออกไปไหนได้เลย รวม 2 สัปดาห์ พอได้กลับบ้านก็ยังต้องแยกตัวต่ออีก 2 สัปดาห์ เขาจะรู้สึกอึดอัดมากแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่เราจะช่วยเหลือได้อย่างน้อยก็คือ การไม่แสดงท่าทีรังเกียจ

 

ผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะไม่แพร่เชื้อ โดยหลังจากครบ 1 เดือนนับจากวันเริ่มป่วย ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ ดังนั้นเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมคอนโดฯ หรือเพื่อนร่วมงาน จึงสามารถมั่นใจได้ แต่ทุกคนไม่ว่าจะเคยป่วยหรือยังไม่เคยป่วย ต้องไม่ลืมดูแลสุขอนามัยส่วนตัวครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising