×

เปิดรายละเอียดดีลสำคัญที่ทำให้ตุรกีเลิกค้านสวีเดน-ฟินแลนด์เข้า NATO

โดย THE STANDARD TEAM
01.07.2022
  • LOADING...
NATO

องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือ NATO มีท่าทียินดีอย่างยิ่ง หลังตุรกี ฟินแลนด์ และสวีเดน สามารถบรรลุข้อตกลงที่ทำให้รัฐบาลตุรกี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก NATO ยอมถอนวีโต้คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ของสวีเดนและฟินแลนด์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี กล่าวหา 2 ประเทศนี้อย่างดุเดือดว่าให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ด ที่ตุรกีระบุชัดว่าเป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’

 

ที่มาที่ไปของดีลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีรายละเอียดสำคัญอะไรบ้าง ที่ทำให้ตุรกียอมกลับลำเปิดทางให้ 2 ประเทศที่อยู่ใกล้รัสเซียเข้าร่วมกับ NATO และทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่าง NATO และรัสเซีย ยิ่งทวีความคุกรุ่นมากขึ้นไปอีก

 

ตุรกี ‘ได้สิ่งที่ต้องการ’

 

การปิดดีลสำคัญระหว่างตุรกี ฟินแลนด์ และสวีเดน เกิดขึ้นภายหลังการพูดคุยเจรจาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28 มิถุนายน) ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 4 ชั่วโมง และผ่านการถกเถียงและพยายามหาทางออกมาก่อนหน้านี้แล้วหลายสัปดาห์ กระทั่งกลายเป็นข้อตกลงไตรภาคีหรือข้อตกลง 3 ฝ่าย

 

เงื่อนไขสำคัญหลักๆ ที่ทำให้ตุรกีตอบรับข้อตกลงฉบับนี้ ได้แก่

 

  • ฟินแลนด์และสวีเดน ยกเลิกมาตรการห้ามจัดส่งอาวุธแก่ตุรกี
  • เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มเคลื่อนไหวของกองกำลังชาวเคิร์ด
  • ดำเนินการตามข้อเรียกร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของตุรกี สำหรับผู้ต้องสงสัยที่เป็นนักรบชาวเคิร์ด

 

กองกำลังชาวเคิร์ดนั้นถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไม่มีประเทศบ้านเกิด โดยประชากรกว่า 30 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วตุรกี อิรัก อิหร่าน และซีเรีย ซึ่งกองกำลังติดอาวุธหลักของชาวเคิร์ดที่เรียกว่ากลุ่ม PKK นั้นถูกรัฐบาลตุรกีตราหน้าเป็นกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ทำสงครามกับรัฐบาลอังการามาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งการสู้รบระหว่าง 2 ฝ่าย ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 40,000 คน

 

โดยตุรกี สวีเดน และฟินแลนด์ ต่างก็จัดให้กลุ่ม PKK เป็นองค์กรก่อการร้าย แต่ประธานาธิบดีแอร์โดอันกล่าวหา 2 ประเทศนอร์ดิกว่าให้ที่พักพิงและการสนับสนุนด้านการเงินแก่นักรบ PKK ซึ่งทั้ง 2 ประเทศยืนกรานปฏิเสธ แต่สวีเดนนั้นพบว่าเคยสนับสนุนและส่งความช่วยเหลือแก่กลุ่มชาวเคิร์ดอื่นๆ ในซีเรีย ซึ่งตุรกีมองว่ากลุ่มชาวเคิร์ดเหล่านี้ไม่แตกต่างไปจาก PKK

 

สำหรับแอร์โดอัน การให้การรับรองและเพิ่มความร่วมมือในประเด็นชาวเคิร์ด และการแสดงให้เห็นถึงการให้ความเคารพต่อประเด็นความมั่นคงของตุรกีนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็นอันดับ 1 ที่มีผลต่อการเจรจาข้อตกลงกับสวีเดนและฟินแลนด์

 

ซึ่งตุรกี ‘ได้รับสิ่งที่ต้องการ’ จากดีลกับฟินแลนด์และสวีเดน ที่มีการจรดปากกาลงนามไปเมื่อช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา โดยทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีออกแถลงการณ์ ระบุว่า

 

“นั่นหมายถึงความร่วมมืออย่างเต็มที่กับตุรกีในการต่อสู้กับกลุ่ม PKK และเครือข่าย” แถลงการณ์ระบุ ซึ่งเครือข่ายของ PKK นั้นหมายถึงกลุ่ม YPG ในซีเรีย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย ISIS

 

ขณะที่รัฐบาลสตอกโฮล์มและเฮลซิงกิยังให้คำมั่นว่า “จะไม่กำหนดข้อจำกัดการส่งออกอาวุธและสิ่งที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้แก่ตุรกี” และยอมที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ‘อย่างเป็นรูปธรรม’ เพื่อส่งตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยชาวเคิร์ดให้แก่ตุรกี

 

ความหวังได้ครอบครอง F-16

 

สิ่งหนึ่งที่ถูกมองว่าอาจเป็นผลพลอยได้จากการบรรลุข้อตกลงกับสวีเดนและฟินแลนด์ คือการที่ประธานาธิบดีแอร์โดอันได้พบปะพูดคุยแบบ ‘ตัวต่อตัว’ กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ที่กรุงมาดริดของสเปน ซึ่งปิดฉากไปเมื่อวานนี้ (30 มิถุนายน)

 

โดยสิ่งที่ตุรกีคาดหวังจากการพูดคุยกับไบเดนคือการผลักดันให้สหรัฐฯ ยอมขายเครื่องบินขับไล่รุ่น F-16 ให้กับตุรกี เพื่อปรับปรุงศักยภาพทัพฟ้าของตุรกีให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ตุรกีเคยยื่นข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมขายเครื่องบินขับไล่ F-16 จำนวน 40 เครื่อง แต่รัฐบาลวอชิงตันไม่มีท่าทีตอบรับใดๆ นอกจากบอกว่า การขายอาวุธทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย

 

ซึ่งหลังการพูดคุยล่าสุดระหว่างแอร์โดอันและไบเดน ท่ามกลางบรรยากาศอันดีที่สหรัฐฯ เองก็ต้องการให้ตุรกีเปิดทางให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เพื่อรับมือภัยคุกคามจากรัสเซีย ทำให้รัฐบาลไบเดนแสดงท่าทีสนับสนุนความเป็นไปได้ที่อาจจะขายเครื่องบินขับไล่ F-16 แก่ตุรกี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะขาย F-16 แก่ตุรกีนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรสเสียก่อน ขณะที่ตุรกีนั้นเคยถูกสหรัฐฯ ขับออกจากโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ F-35 มาแล้ว หลังจากที่ไปซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซีย

 

ชัยชนะของ NATO และตุรกี แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ ‘ปูติน’

 

ทิโมธี แอช เจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ของบริษัทจัดการสินเชื่อและกลยุทธ์การลงทุนรายใหญ่ของยุโรปมองว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างตุรกี ฟินแลนด์ และสวีเดน ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับ NATO และยังเป็นชัยชนะของตุรกีด้วย ส่วนผู้แพ้รายใหญ่ของข้อตกลงนี้คือรัสเซีย ที่กำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน

 

โดยข้อตกลงฉบับนี้อาจพูดได้อีกอย่างว่าเป็น ‘ความสำเร็จสำหรับประธานาธิบดีแอร์โดอัน’ ซึ่งการได้ในสิ่งที่ต้องการบางอย่างจากชาติตะวันตก ในขณะที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มี ทำให้แอร์โดอันสามารถกลับไปตุรกีพร้อมกับแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาทำได้จากความพยายามเจรจาของเขา 

 

ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลดีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนปีหน้า แต่แรงสนับสนุนทางการเมืองหรือผลประโยชน์ต่างๆ จากเรื่องนี้อาจจะมีข้อจำกัดจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังย่ำแย่ ซึ่งเงินเฟ้อในประเทศพุ่งกว่า 70%

 

‘การกระทำ’ สำคัญกว่า ‘คำพูด’

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีแอร์โดอันเตือนว่า ตุรกียังสามารถขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของฟินแลนด์และสวีเดนได้ หากทั้ง 2 ประเทศ ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ตุรกีคาดหวังไว้อย่างเต็มที่

 

โดยเขากล่าวหลังการประชุมผู้นำ NATO ว่า หาก 2 ประเทศนอร์ดิกไม่รักษาคำสัญญาตามข้อตกลงที่ให้ไว้ รัฐสภาตุรกีอาจปฏิเสธการให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงดังกล่าว

 

ขณะที่เสียงของตุรกีในการรับรองให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก NATO นั้นมีความสำคัญ เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทั้ง 2 ประเทศ จะเกิดขึ้นได้ ต้องผ่านฉันทามติรับรองจากสมาชิก NATO ทั้ง 30 ประเทศ

 

“ธุระนี้จะเป็นไปไม่ได้หากเราไม่ผ่านเรื่องนี้ในสภาของเรา ประการแรก สวีเดนและฟินแลนด์ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สำเร็จ และนั่นก็อยู่ในเนื้อหา (ข้อตกลง) แล้ว แต่หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตามนั้น แน่นอนว่าไม่มีทางที่เราจะส่งเรื่องนี้ไปยังสภาของเรา” แอร์โดอันกล่าว พร้อมอ้างว่า สวีเดนให้สัญญาที่จะส่งมอบ ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ชาวเคิร์ด จำนวน 73 คนที่ตุรกีต้องการ และจะกวาดล้างกิจกรรมการเกณฑ์กำลังพลและการสนับสนุนทางการเงินของกลุ่ม PKK

 

ภาพ: Photo by TUR Presidency / Murat Cetinmuhurdar / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X