×

เยือนนครศรีฯ แดนถิ่นธรรม นอนฟังเสียงน้ำไหล จากแหล่งโอโซนที่ดีที่สุดในประเทศ

23.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ‘นครศรีธรรมราช’ เป็นจังหวัดใหญ่ทางตอนใต้ที่มีประวัติยาวนาน มีประชากรมากที่สุด และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ ชื่อเมืองสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมือง คือ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ ซึ่งแปลได้ความว่า ‘นครอันงามสง่า แห่งพระราชาผู้ทรงธรรม’ และ ‘ธรรมของราชา’
  • มหัศจรรย์อย่างหนึ่งขององค์พระบรมธาตุ คือ ไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด จากความมหัศจรรย์นี้ ททท. จึงยกให้เป็น 1 ใน Unseen Thailand
  • ปากพนัง เคยเป็นเมืองท่าหลักที่เลี้ยงปากท้องคนทั้งประเทศมาแล้ว เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ มีสำเภาจากเมืองจีนและเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มาเทียบท่าและกระจายสินค้ามากโข
  • ‘ขนมลา’ เป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีต้นกำเนิดและแพร่หลายจาก ต.หอยราก มีลักษณะเป็นแป้งสีน้ำตาลทอดเป็นแผ่นๆ โดยใช้เทคนิคเจาะภาชนะให้เป็นรูนับสิบ แล้วให้แป้งดิบไหลผ่านลงสู่กระทะ หมุนสะบัดวนจนกลายเป็นแพ
  • เที่ยวคีรีวงให้สนุก บอกเลยว่าไม่ต้องทำอะไร แค่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้ธรรมชาติได้ชะล้าง

     มีคำกล่าวว่า ‘เมืองคอน’ หรือ ‘นครศรีธรรมราช’ เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมแดนใต้ วลีนี้ไม่ผิดนัก ตามหนังสือเรียนประวัติศาสต์ เรารู้จัก ‘นครศรีธรรมราช’ ในฐานะหัวเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา ที่มีเมืองในปกครองมากถึง 12 เมืองโดยรอบ หรือถ้านับย้อนลงลึกไปอีก ก็รู้จักกันในนามของ ‘อาณาจักรตามพรลิงค์’ ซึ่งมีอายุพอๆ กับอาณาจักรสุโขทัย หรืออาจเก่าแก่กว่าด้วยซ้ำ นครศรีธรรมราชเป็นต้นกำเนิดของประเพณี วัฒนธรรมหลายอย่าง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติที่คนไทยราว 80 เปอร์เซ็นต์นับถือในปัจจุบัน

     นั่นคือความเกรียงไกรและรุ่งโรจน์ของหัวเมืองแดนใต้ในอดีต ทว่าในปัจจุบันเมืองคอนถูกจัดอันดับให้อยู่ในประเภทของเมืองรอง คือเมืองเล็กน่าเที่ยวที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก แม้ฟังดูน่าน้อยใจ แต่นั่นถือเป็นจุดแข็งสำหรับนักท่องเที่ยวทางเลือกที่ชอบบรรยากาศน่ารัก ผู้คนเป็นกันเอง สงบเงียบ ไม่พลุกพล่าน ครบทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่สำคัญอาหารอร่อย ซึ่งฉันถือว่านั่นเป็นข้อดีอย่างที่สุด

 

นครศรีฯ แดนถิ่นธรรม

     ‘นครศรีธรรมราช’ เป็นจังหวัดใหญ่ทางตอนใต้ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน มีประชากรมากที่สุด และมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากสุราษฎร์ธานี ชื่อเมืองสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราช คือ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ ซึ่งแปลได้ความว่า ‘นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม’ และ ‘ธรรมของราชา’ ธรรมแห่งพระพุทธศาสนา

 

 

     จากกรุงเทพมหานครสู่นครศรีธรรมราช สมัยก่อนถ้าไม่นั่งรถเป็นวันๆ ก็ต้องโดยสารรถไฟกันข้ามคืนกว่าจะถึง แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า การคมนาคมขนส่งเจริญแบบก้าวกระโดด ซื้อตั๋วเครื่องบินนั่งเพลินๆ เพียงชั่วโมงเดียวก็สามารถเยี่ยมเยือนกันได้แล้ว เราเริ่มต้นทริปด้วยบะกุ๊ดเต๋ร้อนๆ และกาแฟโบราณเข้มๆ จาก ‘ร้านโกปี๊’ ตั้งอยู่ละแวกเดียวกับศาลากลางจังหวัด ร้านกาแฟโบราณที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ใครไปใครมาก็ต้องเริ่มต้นกันที่นี่ เปิดกิจการมานานแล้วกว่า 70 ปี แรกเริ่มเดิมที โกปี๊เปิดขายอยู่ที่จังหวัดชุมพร ก่อนย้ายมาปักหลักสร้างตำนานที่นครศรีธรรมราช คนนครศรีฯ เป็นคนชอบคุยชอบสมาคม ทุกเช้าก็มานั่งจิบกาแฟ พูดคุยกัน ถกปัญหาต่างๆ การเมืองบ้าง สังคมบ้าง คล้ายเป็นสภากาแฟ มาแล้วถ้าอยากร่วมสมาคมไม่ยาก ฉีกยิ้มให้กันสักหน่อย เลี้ยงกาแฟสักแก้ว ก็ได้มิตรไมตรีจิต

 

 

     อิ่มท้องแล้ว มุ่งหน้าสู่ ‘วัดพระมหาธาตุ’ วัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่รัฐบาลจังหวัดพยายามผลักดันให้กลายเป็นมรดกโลกอยู่หลายครา และยังคงผลักดันอยู่อย่างต่อเนื่อง เดิมเรียก ‘วัดพระธาตุ’ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร โดยมี ‘พระบรมธาตุเจดีย์’ ทำหน้าที่เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวเมือง ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระทันตธาตุ หรือกระดูกส่วนฟันของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชค้นพบพระทันตธาตุที่หาดทรายแก้วจากเหตุการณ์เรือล่มของคณะเจ้าเมืองทนธบุรีจากแดนชมพูทวีป ที่หวังเชิญพระธาตุหลบหนีไปยังกรุงลังกาแต่ติดพายุเสียก่อน จึงฝังบางส่วนของพระธาตุไว้ที่นี่ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชไปพบเข้า จึงโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน พร้อมกับสร้างเมืองในคราวเดียวกัน

 

 

     พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบล้านนา มีจุดเด่นอยู่ที่ยอดซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้ มีองค์เจดีย์บริวารทั้งหมด 149 องค์ ลูกหลานเมืองคอนสร้างถวายไว้เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ โดยอธิษฐานว่าขอให้ญาติตนได้กลับมาเกิดในศาสนาของพระพุทธองค์อีกครั้งในภพภูมิหน้า ช่วงวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชาจะมีงานบุญประจำปี เป็นงานแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ เชื่อว่าใครได้ทำพิธี ขออะไรก็จะสมหวัง ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งขององค์พระบรมธาตุ คือ ไม่มีเงาทอดลงพื้น ไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางใด จากความมหัศจรรย์นี้ ททท. จึงยกให้เป็น 1 ใน Unseen Thailand ชักชวนให้คนไทยมาเที่ยว ต้องมาให้เห็นด้วยตาตนเอง

 

 

     หนังตะลุง คือหัวใจแห่งวัฒนธรรมชาวใต้ฉันใด พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงก็เปรียบดังกล่องดวงใจของชาวใต้ฉันนั้น จากพระธาตุประมาณ 20 นาที เป็นสถานที่ตั้งของ ‘บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน’ พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทย แหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญของประเทศ ก่อตั้งโดยนายหนังตะลุง ‘สุชาติ ทรัพย์สิน’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) พ.ศ. 2549 ตอนนี้คณะหนังตะลุงและพิพิธภัณฑ์ของครูสุชาติอยู่ในความดูแลของ ‘วาที ทรัพย์สิน’ ลูกชายมากความสามารถที่สืบทอดเจตนารมณ์และวิชาการเชิดมาจนเชี่ยวชาญ

 

 

     บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน เปรียบได้ดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่นี่ยังคงทำหนังตะลุงจริง มีการจัดแสดงจริงๆ โดยแบ่งบริเวณบ้านออกเป็นส่วนต่างๆ ทั้งส่วนอาศัย อาคารสาธิตและจำหน่ายของที่ระลึก ส่วนอาคารจัดแสดงของเก่า ซึ่งมีหนังตะลุงโบราณให้ดูหลายสิบตัว บางตัวอายุมากกว่า 100 ปีเสียด้วยซ้ำ หลังปล่อยให้ทุกคนเดินดูกันจนพอใจ คุณวาทีก็ใจดีเปิดโรงหนังเชิดหุ่นแสดงรอบพิเศษให้เราดูด้วย ซึ่งเนื้อความส่วนใหญ่มักเป็นการหยอกล้อ เสียดสี อิงกับการเมือง และเรื่องราวสมัยนิยมในขณะนั้น มีความสนุกมาก ในการเชิดหนังตะลุง นายหนังต้องมีความสามารถและไหวพริบสูง ต้องดึงคนให้อยู่ไม่ต่างกับการแสดงดนตรีหรือละคร ทุกอย่างดำเนินได้เพียงคนคนเดียว ทั้งขับร้อง ทั้งเชิดตัวหนัง จัดแสงและเงา ไม่แปลกใจว่าทำไมหนังตะลุงคณะดังๆ จึงมีไม่ถึง 10 คณะจากที่มีอยู่ 500 คณะทั่วภาคใต้

 

 

     ที่นี่ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและโบราณสถาน ปี พ.ศ. 2539 และรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ ปี พ.ศ. 2553 ด้วย

 

ปากพนัง อดีตเมืองท่าที่เคยรุ่งโรจน์

     จากตัวเมืองคอน เปลี่ยนทำเลมายัง อำเภอปากพนัง อำเภอใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากพอๆ กับเขตอำเภอเมือง สมัยเด็กฉันมีโอกาสมาเที่ยวเล่นอยู่บ่อยครั้ง เพราะพ่อเป็นคนที่นี่ ท่านชอบโม้เรื่องราวความอุดมสมบูรณ์สมัยยังเยาว์ของตัวเองว่าตอนเด็กได้กินปูตัวใหญ่ขนาดไหน บรรยากาศในเมืองครึกครื้นเพียงใด กระโดดลงแม่น้ำปากพนังไม่นานก็ได้ของสดมาเต็มกระบุง สารภาพตามตรงว่าฉันแอบรู้สึกเหม็นเบื่อเล็กๆ (หัวเราะ) เพราะอะไรก็ดูเกินจริงไปเสียหมด แต่พอโตขึ้นเมื่อเราเดินทางมายังบ้านเกิดของบุพการีในวันที่เรียกได้ว่า ‘รู้เรื่อง’ ‘คิดเป็น’ และ ‘เข้าใจ’ อะไรมากขึ้น ปากพนังในมโนภาพที่พ่อเคยเล่าให้ฟังไม่ได้ไกลเกินความเป็นจริงเลย ร่องรอยต่างๆ มีให้เห็นจางๆ ทั่วไปหมด

 

 

     กิจกรรมล่องเรือในแม่น้ำปากพนังทำให้เห็นภาพรวมวิถีชาวเมืองชัดขึ้น เห็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่หลายสิบอู่ มีทั้งที่ยังเปิดอยู่และปิดตายไปแล้ว เห็นท่าเรือประมงขนาดใหญ่ที่ตอนนี้เงียบเหงา ร้างไร้ผู้คน จะมีก็แต่เรือท้องถิ่นเทียบท่าอยู่บ้าง เห็นโรงป่นกระดูกที่พ่อชอบเล่าให้ฟังว่า สัตว์น้ำเล็กๆ ที่ขายไม่ได้หลังออกเรือจะถูกส่งไปป่นที่นี่ เห็นตึกอาคารทรงสูง ทึบร้างปิดตาย ที่เข้าใจได้ว่าเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่น ตามสองฝั่งคลองเต็มไปด้วยป่าชายเลน มีทั้งแสม โกงกาง และต้นจาก ถ้านึกภาพตามก็เข้าใจได้เลยว่าเคยรุ่งโรจน์เพียงใด

 

 

     ปากพนัง เคยเป็นเมืองท่าหลักที่เลี้ยงปากท้องคนทั้งประเทศมาแล้ว เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล และมีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำ เหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ทำให้สภาพเศรษฐกิจในสมัยก่อนเฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีสำเภาจากเมืองจีนและเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มาเทียบท่าและกระจายสินค้ามากโข

     ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จเยือนปากพนัง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 ความตอนหนึ่งว่า

 

     “อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงฝั่งรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้น ผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้…เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาอย่างไรเทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง”

 

     แต่เมื่อทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดน้อยถอยลง จากเดิมที่เคยออกเรือไม่พ้นปากอ่าวก็ได้ของกลับมาเทียบท่า กลายเป็นต้องออกหาสัตว์น้ำไกลขึ้น พอยิ่งออกหาปลาไปไกล กว่าจะใช้เวลากลับเทียบท่าก็นานขึ้นเป็นเท่าทวี จากท่าเรือปากพนังที่เคยครึกครื้น ก็ย้ายกลายเป็นแถวสงขลา และเลื่อนลงไปแถวปัตตานี จนกระทั่งถนนหนทางดีขึ้น การคมนาคมขนส่งมีให้เลือกหลายช่องทาง เมืองท่าต่างๆ ก็ซบเซาไปตามเหตุและผล

 

 

     ปัจจุบันแม้ปากพนังจะไม่ใช่เมืองท่าหลักและยิ่งใหญ่เช่นอดีต แต่ถ้าคุณได้เดินตามตลาด เช่น ‘ตลาดโบราณ 100 ปี ปากพนัง’ ก็ยังพอเห็นบรรยากาศเมืองท่าหลงเหลืออยู่บ้าง มีสัตว์น้ำแปลกตา ที่ไม่ค่อยเห็นนิยมกินในถิ่นอื่น เช่น ปลาขี้เกง หรือปลาขี้ตัง ที่มีมากในทะเลสาบสงขลา ปลากดขี้ลิง ปลากดทะเลที่ชาวบ้านนิยมนำมาทำแกงส้ม ทอด หรือปลาเค็ม เห็นแบบนี้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท

     ใกล้กับป้ายทางเข้า ตลาดโบราณ 100 ปี ปากพนัง หากเป็นนักสังเกตสักหน่อย จะเห็นเลยว่ามีอาคารทรงปูนกลิ่นอายโคโลเนียลเล็กๆ ปิดตายหมดทั้งประตูและหน้าต่าง ขอให้รู้ไว้เลยว่า นั่นคืออาคารหลังแรกในจังหวัดที่เลี้ยงนกนางแอ่น เพื่อทำรังนก ก่อนขยับขยายกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจประจำจังหวัด

 

 

     คุณพรเทพ เซ่งรักษา รองนายก อบต. หูล่อง และประธานชมรมท่องเที่ยวกลุ่มคนลุ่มน้ำปากพนัง พาเราไปชมวิธีการทำรังนกที่ ‘ร้านสไมล์ รังนก’ เป็นร้านเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดเพียง 10 นาทีโดยรถยนต์ ที่นี่คุณสามารถหาซื้อรังนกแท้ได้ทุกขนาด ทุกคุณภาพและราคา มีตั้งแต่กิโลกรัมละไม่กี่พัน ไปจนถึงระดับพรีเมียมกิโลกรัมละ 50,000 บาท กว่าจะได้รังนกดิบชิ้นขาวสะอาด ต้องผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดด้วยมือถึง 5 ขั้นตอน หยิบออกทีละเส้นทีละชิ้น แค่เห็นก็เหนื่อยและท้อแทนแล้ว ใครที่ไม่ชอบทำอาหาร อยากซื้อแบบปรุงสำเร็จก็มีขายขวดละ 100-150 บาท อยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี อร่อย และได้เนื้อกว่ารังนกเจ้าดังที่หาดื่มได้ตามร้านสะดวกซื้อเสียอีก คุ้มค่ามาก

 

 

     มาถึงปากพนัง ถ้าพลาด ‘ขนมลา’ ก็เหมือนมาไม่ถึงถิ่น แนะนำให้บุกไปยัง ‘วิสาหกิจชุมชนบ้านศรีสมบูรณ์ (หอยราก)’ คุณจะได้เห็นและเรียนรู้ถึงวิธีการทำขนมลาแบบครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่หมักแป้งไปจนถึงแปรรูป

     ‘ขนมลา’ เป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ที่มีต้นกำเนิดและแพร่หลายจาก ต.หอยราก มีลักษณะเป็นแป้งสีน้ำตาลทอดเป็นแผ่นๆ โดยใช้เทคนิคเจาะภาชนะให้เป็นรูนับสิบ แล้วให้แป้งดิบไหลผ่านลงสู่กระทะ หมุนสะบัดวนจนกลายเป็นแพ ชาวบ้านปากพนังนิยมทำขนมลาสำหรับใช้ในงานประเพณีสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราช โดยถือเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของแพรพรรณเครื่องนุ่มห่ม มีรสหวานมันและกินเพลิน

 

 

ล้างปอด สูดโอโซนในอ้อมกอดของขุนเขา ‘คีรีวง’

     ฉันไป ‘คีรีวง’ ครั้งล่าสุด คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคีรีวง สด สะอาด และไร้ชื่อมาก โฮมสเตย์หรือที่พักก็ไม่ค่อยจะมี เป็นเมืองเล็กๆ ในหุบเขาที่เมื่อเอ่ยชื่อออกไป คนกรุงคงต้องงงเป็นไก่ตาแตก มาดูตอนนี้สิ ‘คีรีวง’ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบชุมชนมีชื่อ ซึ่งฉันคิดว่าชาวบ้านที่นี่ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมสำหรับการท่องเที่ยวได้ดีมาก คือยังคงมีความเป็นชุมชน ไม่ละทิ้งตัวตน และเอื้อต่อนักท่องเที่ยว

 

 

     หมู่บ้านคีรีวงเป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่อพยพไปอยู่เชิงเขาหลวง ชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ชีวิตในแบบชาวบ้านชนบท เรียบง่าย อาชีพหลักคือการทำกสิกรรม ทำสวนผลไม้แบบผสมผสานแล้วนำมาแปรรูป จัดทำเป็นสินค้า OTOP ต่างๆ เช่น กลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้ กลุ่มไวน์ กลุ่มทุเรียนกวน กลุ่มสมุนไพร กลุ่มจักสานกะลามะพร้าว กลุ่มทำผ้ามัดย้อม ฯลฯ

 

 

     สีเขียวจากพืชพันธุ์ เสียงธารน้ำและสายน้ำไหล อากาศบริสุทธิ์แสนสดชื่นที่มีให้สูดจนเต็มปอดครั้งแล้วครั้งเล่า เที่ยวคีรีวงให้สนุก บอกเลยว่าไม่ต้องทำอะไร แค่ปล่อยตัว ปล่อยใจ ให้ทำธรรมชาติได้ชะล้าง หากเบื่อๆ ก็แค่เช่าจักรยานออกไปปั่น ดูนก ชมไม้ ไปกับสถานที่ที่หลายคนถึงกับชมว่าเป็น ‘สวิตเซอร์แลนด์ของไทย’ แวะเรียนรู้งานหัตถกรรมจากชาวบ้านกลุ่มต่างๆ แค่นี้ก็สุขสำราญอิ่มใจไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

 

 

     ก่อนจากกัน แวะกราบสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ‘วัดพระธาตุน้อย’ ซึ่งตั้งขึ้นโดยความประสงค์ของพ่อท่านคล้าย (พระครูพิศิษฐ์อรรถการ) พระเกจิอาจารย์ที่ชาวใต้เลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงยิ่งรูปหนึ่ง ในพระอุโบสถองค์เจดีย์ ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและสรีระสังขารพ่อท่านคล้าย ชาวบ้านนิยมขอพรจากท่านเนื่องจากเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อว่าพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น ท่านมักจะให้พรกับทุกคน ขอให้เป็นสุขๆ เสมอ ชาวบ้านเชื่อว่าหากสักการะท่าน ชีวิตจะเป็นสุข ไร้โรค และปลอดภัย

 

 

     จริงๆ นครศรีธรรมราชมีอะไรให้เที่ยวชมอีกมาก ไม่ว่าจะทะเลสวยที่ อ.ขนอม (ที่ยังมีปลาโลมาสีเผือกหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง) น้ำตกและป่าสวยที่ อ.ร่อนพิบูลย์ อาหารพื้นถิ่นที่กินอร่อยในทุกพื้นที่ ที่สำคัญราคาโปรโมชันตั๋วถูกมีให้แวะเวียนออกจะบ่อย ลองเปลี่ยนจากเมืองหลัก เป็นเมืองรอง เมืองเล็กน่ารักที่นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่านดูบ้าง แล้วคุณจะชอบ และอยากกลับมาเที่ยวอีกแน่ๆ เรารับรอง

 

FYI

What Should You Know

  • เมืองคอน เป็นสถานที่ไม่กี่แห่งในประเทศที่ทุกศาสนาอยู่รวมกันอย่างสงบสุข แม้อยู่ในเขตวัดพระธาตุคุณก็ยังได้ยินบทสวดจากคัมภีร์อัลกุรอานจากมัสยิดหลังใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่หลังวัดอยู่เนืองๆ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ดังเห็นได้จาก หอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ ริมถนนราชดำเนิน โบราณสถานสำคัญของชาวฮินดู อยู่คู่เมืองมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

Getting There

  • มีสายการบินภายในประเทศเปิดให้บริการหลายสายการบิน สามารถเช็กตารางบินได้ที่ Airasia, Nok Air, Thaismile
  • เช่ารถจากสนามบินนครศรีธรรมราช มีหลายเจ้าให้บริการ ได้แก่ Nakhon Car Rent, Car Pluz, Avis และ Thai Rent A Car เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 1,100 บาทต่อวัน

 

Where to Stay

 

Where to Eat

  • ร้านโกปี๊

          4/1 ถ.นางงาม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

          โทร. 08 9701 7777,  www.facebook.com/kopinst

  • ร้านขนมจีนเมืองคอน

          130/10 ถ.พานยม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

          โทร. 0 7534 2615

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X