เมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทั้ง 15 ประเทศเห็นพ้องออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมา และสร้างหลักประกันว่า พลเรือนชาวเมียนมาทุกคนจะได้รับความปลอดภัย
เมียนมาตกอยู่ภายใต้เงาของเผด็จการทหารมานานกว่า 9 เดือนแล้ว หลังจากกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยควบคุมตัวสมาชิกและแกนนำคนสำคัญของรัฐบาลพลเรือน เดินหน้ากำจัดศัตรูทางการเมืองและกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดคณะมนตรีได้รับรายงานเกี่ยวกับการใช้อาวุธหนักและกองทัพเข้าปะทะกับกลุ่มต่อต้านในรัฐชีน รัฐทางด้านตะวันตกของประเทศที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งในแถลงการณ์ยังระบุว่า ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีต่างแสดงความกังวล เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงและปกป้องชีวิตของพลเรือนให้ได้รับความปลอดภัย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยเจรจา เพื่อหาทางออกที่สอดคล้องตามเจตจำนงของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศเมียนมาเป็นสำคัญ
นอกจากนี้คณะมนตรียังเรียกร้องให้ ทางการเมียนมาเปิดช่องทางให้ประชาคมโลกสามารถส่งความช่วยเหลือด้านมานุษยธรรม ความปกป้องคุ้มครอง ยารักษาโรคต่างๆ เข้าไปยังภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมา หลังจากที่ประเทศเกือบทั้งหมดหยุดชะงักลง เนื่องจากพิษวิกฤตทางการเมืองและวิกฤตโควิด
เบื้องต้นสื่อท้องถิ่นและสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานว่า จนถึงเมื่อวานนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,252 ราย มีผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวสะสมอย่างน้อย 7,091 ราย โดยตัวเลขของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ถูกจับกุมยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพ: Lev Radin / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2021/11/11/un-security-council-calls-for-an-end-to-violence-in-myanmar
- https://www.irrawaddy.com/news/burma/un-security-council-expresses-deep-concern-as-myanmar-violence-worsens.html.
- https://aappb.org/
UNSC ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ แบ่งเป็นสมาชิกถาวร 5 ประเทศ (มีสิทธิ Veto คัดค้าน) ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ขณะที่สมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย อินเดีย ไอร์แลนด์ เคนยา เม็กซิโก ไนเจอร์ นอร์เวย์ เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ตูนีเซีย และเวียดนาม