วานนี้ (26 มกราคม) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เผยว่า การปลูกฝิ่นในเมียนมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่กองทัพตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อราว 2 ปีก่อน
โดยพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นในเมียนมามีมากกว่า 40,000 เฮกตาร์ (ราว 2.5 แสนไร่) เมื่อปี 2022 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2021 ถึง 33% สวนทางกับช่วงปี 2014-2020 ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติเมื่อปี 2022 นี้ UNODC จึงคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลผลิตฝิ่นของเมียนมาจะสูงกว่า 790 ตัน (7.9 แสนกิโลกรัม) ซึ่งเป็นสารเสพติดที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นเฮโรอีนได้ โดยเทคนิคการเพาะปลูกที่ซับซ้อนขึ้นและการเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ ยิ่งทำให้ผลผลิตฝิ่นในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 20 กิโลกรัมต่อ 6.25 ไร่
ทางด้านเจเรมี ดักลาส ผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC เผยว่า การชะงักงันทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และวิกฤตธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารได้สร้างสภาวะที่เอื้อให้เกิดการเพาะปลูกฝิ่นมากยิ่งขึ้น บรรดาเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลไม่มีทางเลือกมากนัก จึงหันกลับไปเพาะปลูกฝิ่นกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรัฐตามแนวชายแดนที่มักเผชิญปัญหาความขัดแย้งบ่อยครั้ง
โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พื้นที่ที่พรมแดนประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมามาบรรจบกันนั้น นับเป็นศูนย์กลางการค้ายาเสพติดในแถบภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน และแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าภูมิภาคนี้ดูเหมือนจะเชื่อมต่อกับตลาดโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะในมิติของการค้ายาเสพติด
นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ UN ยังชี้อีกว่า การเพาะปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้นสัมพันธ์กับการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ในเมียนมาที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดค้ายาเสพติดในเมียนมาและภูมิภาคโดยรอบสร้างเม็ดเงินและกำไรมหาศาล โดยเฉพาะการค้าเฮโรอีนภายในภูมิภาคนี้มีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.28 แสนล้านบาท) ขณะที่ตลาดค้าฝิ่นของเมียนมามีมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.6 หมื่นล้านบาท)
ภาพ: Ye Aung Thu / AFP
อ้างอิง: