×

ภาคี สสส. ห่วงปลดล็อกโควิด-19 ช่วงสงกรานต์เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน เสนอมาตรการเชิงรุก ลดเหล้าควบคู่ป้องกันการแพร่ระบาด

โดย THE STANDARD TEAM
06.04.2021
  • LOADING...
ภาคี สสส. ห่วงปลดล็อกโควิด-19 ช่วงสงกรานต์เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน เสนอมาตรการเชิงรุก ลดเหล้าควบคู่ป้องกันการแพร่ระบาด

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน เรื่อง สงกรานต์ปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์เข้าร่วมประชุมด้วย

            

อภิวัชร์ เกตุทัต ประธาน มสส. กล่าวว่า มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินโครงการสานพลังสื่อมวลชนไทย ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างวิถีสุขภาวะ เพื่อทำงานร่วมกันกับสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด เพื่อรณรงค์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะเรื่องสงกรานต์ปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด-19

 

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สงกรานต์ในปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่มีจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงลดลง 61.2% ที่สำคัญยอดผู้เสียชีวิตลดลงถึง 56.8% ทั้งนี้เพราะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการการใช้ยาแรง 3 ประการ คือ มีการล็อคดาวน์ เคอร์ฟิว และห้ามขายเหล้า ในขณะที่สงกรานต์ 2564 ครั้งนี้ แม้ยังมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ไม่ได้มีมาตรการยาแรงแบบสงกรานต์ปี 2563 ประกอบกับคาดว่าปีนี้ผู้คนจะกลับบ้านไปฉลองสงกรานต์หรือพบปะสังสรรค์ในหมู่เครือญาติกันมากขึ้น เนื่องจากหลายคนไม่ได้กลับมานาน ครั้งนี้ภาครัฐมีการประกาศหยุดเพิ่มอีก 1 วัน ทำให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ ดังนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

 

โดยความเสี่ยงดังกล่าวประกอบไปด้วย หนึ่ง ความเสี่ยงช่วงเดินทาง ทั้งเรื่องขับเร็ว ง่วงหลับใน โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความเร็ว’ ซึ่งสงกรานต์ 2563 ที่ผ่านมา พบความเร็วเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตถึง 49.7% เพิ่มสูงกว่าปี 2562 ส่งผลให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดยมีถึง 56.89% ที่เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 

 

สอง ความเสี่ยงช่วงฉลอง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีการฉลองและงานรื่นเริงเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 10-12 เมษายน ก่อนสงกรานต์ เพราะมีการหยุดยาว รวมทั้งไม่ได้มีมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนสงกรานต์ปีที่แล้ว 

 

นอกจากนี้ ความเสี่ยงสำคัญประการที่สามที่พบทั้งในช่วงเดินทางและช่วงฉลอง คือการขับขี่โดยไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ( 84.3%) ที่เสียชีวิต และพบว่าในกลุ่มนี้ 3 ใน 4 หรือ 75.6 % ไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มาเกี่ยวข้องคือยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งไม่สวมหมวกกันน็อก   

 

นพ.ธนะพงศ์กล่าวในตอนท้ายว่า จากแนวโน้มการคาดการณ์ความเสี่ยงความสูญเสียที่จะเพิ่มขึ้นในสงกรานต์นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคนโยบายและหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานหลัก ทั้งกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ต้องวางแผนโดยใช้กลไกในพื้นที่ เช่น ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน แกนนำอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาจัดการความเสี่ยง โดยบูรณาการให้เกิดมาตรการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  

 

ในส่วนมาตรการชุมชนก็ผสมผสานไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ระดับชุมชน เช่น ด่านชุมชนมีการกำกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งตรวจวัดไข้-การใส่หน้ากากอนามัยควบคู่ไปกับการสวมหมวกกันน็อกด้วย “ทุกการตาย ทุกการสูญเสีย ต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องของการทำตัวเองของเหยื่อ”

            

วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายงดเหล้าโดยการสนับสนุนของ สสส. ได้ผลักดันเรื่องการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า โดยมี 50 ถนนตระกูลข้าว และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม  

 

อย่างไรก็ตาม สงกรานต์ปีนี้จะมีการหยุดยาวถึง 9 วัน มีสัญญาณเตือนว่าประชาชนจะกลับไปตั้งวงสังสรรค์และดื่มหนักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงจากความมึนเมาจะมากขึ้น และหากมีการดื่มแล้วขับก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดมาตรการป้องกันที่ต้นน้ำให้มากขึ้น เพื่อทำให้การดื่มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง 

 

ด้วยเหตุนี้เครือข่ายงดเหล้าจะส่งสัญญาณไปที่เครือข่ายชุมชนต่างๆ ที่ทำงานอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เช่น สวนสาธารณะ สวนอาหารริมน้ำ สถานที่เล่นน้ำ หาด หรือแก่งต่างๆ เพื่อร่วมกันหามาตรการเชิงรุก ขอความร่วมมือร้านค้าและประชาชนไม่ให้มีการจำหน่ายและนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่มในพื้นที่ รวมทั้งการนำเอามิติทางวัฒนธรรมประเพณีวิถีชุมชนมาใช้ เพื่อเป็นกุศโลบายสร้างกิจกรรมที่เน้นคุณค่าความหมายและความเป็นมงคลให้แก่ชีวิต เพื่อให้แต่ละครอบครัวใช้เวลาไปกับกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น

 

ทางด้านตัวแทนสื่อมวลชนที่มาร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การสื่อสาร รณรงค์ เพื่อกระตุกให้สังคมทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์และรับผิดชอบถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ไม่เฉพาะในช่วงเทศกาล

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X