×

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ. อยู่ที่ 64.8 ต่ำสุดในรอบ 21 ปี

โดย efinanceThai
12.03.2020
  • LOADING...

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 งบประมาณที่ล่าช้า ภัยแล้ง ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างมากในอนาคต

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.2, 61.4 และ 80.4 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม 2563 ที่อยู่ในระดับ 54.9, 63.8 และ 83 ตามลำดับ โดยดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index – CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 251 เดือน หรือ 20 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 เป็นต้นมา ลดลงจากระดับ 67.3 เป็น 64.8

นอกจากนี้การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป และปัญหาภัยแล้งอาจเป็นปัจจัยลบที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในอนาคตยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 45.0 ในเดือนมกราคม 2563 มาอยู่ที่ระดับ 42.7 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 243 เดือน หรือ 19 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2543 เป็นต้นมา แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ดีอย่างมากในมุมมองของผู้บริโภค”

ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 76.8 มาอยู่ที่ระดับ 74.3 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และเริ่มปรับตัวอยู่ห่างจากระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มขาดความมั่นใจมากขึ้นเป็นลำดับว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต และหากมีปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้ามาเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าปัจจุบันจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหางบประมาณล่าช้า ปัญหาภัยแล้ง และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงในดัชนีทุกรายการต่อเนื่อง เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเชิงลบในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือขยายตัว 1.1% จากเดิม 2.8% ส่งออก -1% จากเดิม 0.8% และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7% จากเดิม 0.9% โดยหากกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายได้ในเดือนสิงหาคม 2563 (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือ 30.7 ล้านคน หรือ -22.9%, สงครามการค้าเข้มข้นมากขึ้น, เงินบาทแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ, สถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในระดับที่แย่กว่าปี 2557 และ 2558 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ภัยแล้งมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ตลอดจนการเมืองขาดเสถียรภาพเป็นอย่างมาก ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะลงไปอยู่ที่ 0.6%

ส่วนกรณีฐาน (Base Case) การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายภายในเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือ 33.5 ล้านคน หรือ -15.7%, สหรัฐอเมริกาและจีนปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟส 1 และไม่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีระหว่างกันอีก, เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ, สถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2557-2558, เสถียรภาพทางการเมืองมีความเปราะบาง

ส่วนกรณีที่ดีที่สุด (Best Case) การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายได้ภายในเดือนเมษายนนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือ 34.7 ล้านคน หรือ -12.8%, สงครามการค้าผ่อนคลายลง, เงินบาทอ่อนค่าขึ้นเหนือระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ, สถานการณ์ภัยแล้งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในปี 2562, การเมืองมีเสถียรภาพอย่างมาก

ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ มีโอกาสที่จะเห็น กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25-0.5% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัว หลังธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ปรับลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว

“เราคาดว่า GDP ไตรมาส 1 จะติดลบ 0.5% และไตรมาส 2 โตขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3-0.5% ไม่คิดว่าจะติดลบสองไตรมาสติด และเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เราต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่จบหรือคลี่คลายในเดือนพฤษภาคมนี้ เราก็จะปรับตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้อีกรอบ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

รายงาน: กรณัช พลอยสวาท  

เรียบเรียง: จารุวรรณ เอี่ยมยิ่งพานิช

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising