×

สหรัฐฯ ปฏิเสธร่วมโครงการ COVAX พัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับนานาชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2020
  • LOADING...

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติ ที่นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อพัฒนา ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม และตอนนี้มีกว่า 170 ประเทศที่กำลังเจรจาเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้

 

จัดด์ เดียร์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงยืนยันว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากไม่ต้องการทำงานร่วมกับ WHO ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยวิจารณ์ท่าทีของ WHO ที่ยึดจีนเป็นศูนย์กลางในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับชาติพันธมิตร

 

“สหรัฐฯ จะยังคงมีส่วนร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าเราเอาชนะไวรัสนี้ได้ แต่เราจะไม่ยอมถูกบีบบังคับจากองค์กรพหุภาคีต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากองค์กรทุจริตอย่างองค์การอนามัยโลกและจีน” เดียร์ กล่าว พร้อมยืนยันว่าภายใต้การนำของทรัมป์นั้น การวิจัย การพัฒนาและการทดลองวัคซีน และวิธีบำบัดรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้นมีความก้าวหน้าด้วยความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้แสดงท่าทีต่อต้าน WHO โดยกล่าวหาว่าถูกรัฐบาลจีนควบคุม พร้อมทั้งประกาศถอนตัวและตัดเงินสนับสนุน ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่สนับสนุนเงินทุนแก่ WHO มากที่สุด

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข มองว่าการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX หมายความว่าสหรัฐฯ กำลังเดิมพันความเสี่ยงกับการพัฒนาวัคซีนของตนเอง และสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ทำเช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดโอกาสของตนเองในการได้วัคซีนจากผู้พัฒนาชาติอื่นๆ แล้ว ยังอาจส่งผลให้ราคาของวัคซีนแต่ละโดสนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

“อเมริกากำลังเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยยุทธศาสตร์ลุยเดี่ยว” ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าว

 

ด้าน ซูเอรี มูน ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์สุขภาพระดับโลกของสถาบันการศึกษาและพัฒนาระหว่างประเทศ ที่นครเจนีวา กล่าวว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความพยายามของนานาชาติในการรับประกันการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 

 

“พฤติกรรมของประเทศต่างๆ เมื่อเป็นเรื่องวัคซีนสำหรับโรคระบาดครั้งนี้ จะมีผลสะท้อนทางการเมืองที่นอกเหนือจากเรื่องสาธารณสุข มันจะประมาณว่าคุณเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้หรือไม่? ในตอนท้าย คุณตั้งใจจะเก็บของเล่นทั้งหมดเอาไว้เพื่อตัวเองหรือไม่?” มูน กล่าว

 

สำหรับความหวังในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ที่โครงการ Operation Warp Speed ที่รัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญ และตั้งเป้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนจำนวน 300 ล้านโดสให้ได้ในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งล่าสุดวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบขั้นสุดท้ายในสหรัฐฯ 

 

ขณะที่เมื่อวานนี้ (1 กันยายน) ทางคณะผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยร่างแผนงานแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทางสถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐฯ เสนอให้แจกจ่ายวัคซีนเป็น 4 ระยะ แก่ 4 กลุ่มประชากร ได้แก่

 

ระยะแรก: กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรในด่านหน้า ที่มีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อโควิด-19 และกลุ่มผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา และสถานดูแลอื่นๆ ตลอดจนประชาชนในทุกกลุ่มอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง

ระยะสอง: กลุ่มครู เจ้าหน้าที่โรงเรียน แรงงานในอุตสาหกรรมที่จำเป็น กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนในเรือนจำ (ในระยะสองนี้คาดว่าจะครอบคลุมประชากรอเมริกันเกินครึ่ง)

ระยะสาม: กลุ่มวัยรุ่น เด็ก และผู้ประกอบอาชีพที่มีความจำเป็น (ในระยะนี้จะครอบคลุมประชากรอเมริกันราว 95%)

ระยะสี่: แจกจ่ายวัคซีนให้ประชากรทุกคนที่เหลือ

 

โดยคาดว่าแผนแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวจะประกาศเป็นข้อแนะนำได้ในเดือนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน เฮเลน ดี เกล ซีอีโอของมูลนิธิชุมชนชิคาโก ระบุว่าแผนการแจกจ่ายวัคซีนดังกล่าวนั้นไม่ปกติ โดยเธอมองว่าควรมีความเป็นกลาง และไม่เอนเอียงไปทางกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานใดมากเกินไป โดยในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงนั้น รวมถึงกลุ่มชาวผิวสีและชาวละตินอเมริกัน ตลอดชาวอเมริกันพื้นเมือง แต่ทางคณะผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า การคัดเลือกกลุ่มประชากรให้อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงสูงนั้น ยึดจากปัจจัยหลายด้านอาทิ งานที่ทำ สภาพการอยู่อาศัย และสภาพสังคม ไม่ใช่เหตุผลด้านเชื้อชาติ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X