×

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องอาเซียนดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรง-ฟื้นฟูการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย-ปล่อยผู้ถูกขังในเมียนมา

15.07.2021
  • LOADING...
Antony Blinken

เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และสำนักข่าวต่างประเทศรายงานกรณีที่ แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวในการประชุม Video Conference ร่วมกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนเมื่อวันพุธ โดยมีประเด็นใหญ่สองประเด็นหลัก ได้แก่ ข้อพิพาทกรณีทะเลจีนใต้ และกรณีรัฐประหารในเมียนมา

 

โดยกรณีของเมียนมานั้น การประชุมนี้มีตัวแทนจากเมียนมาเข้าร่วมด้วย และบลินเคนก็ระบุว่าสหรัฐฯ มี ‘ความกังวลเป็นอย่างยิ่ง’ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา และร้องขอให้อาเซียนดำเนินการร่วมกันเพื่อเรียกร้องการยุติความรุนแรง ฟื้นฟูการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้บลินเคนยังเรียกร้องให้อาเซียนดำเนินการทันทีเพื่อให้รัฐบาลรัฐประหารเมียนมารับผิดชอบต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เกี่ยวกับสถานการณ์​ในเมียนมาที่อาเซียนเห็นชอบร่วมกันในการประชุมเมื่อเดือนเมษายน และเพื่อให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษของประธานอาเซียนตามฉันทามติดังกล่าว ซึ่ง Reuters ระบุว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาได้แสดงสัญญาณเพียงเล็กน้อยในการเอาใจใส่ฉันทามตินี้

 

ด้านสำนักข่าว AP รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านสิทธิในเมียนมาได้เปลี่ยนจากวิกฤตการเมืองเป็น ‘ภัยพิบัติด้านสิทธิมนุษยชนหลายมิติ’ โดยระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 900 คน และอีก 200,000 คนถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัยเนื่องจากการบุกจู่โจมของทหาร ส่วนโครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) ก็คาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 6 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างมาก

 

นอกจากนี้ AP ยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวนักการทูตจากชาติสมาชิกอาเซียนรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการประชุมแต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่มีอำนาจในการอภิปรายต่อสาธารณะว่าชาติสมาชิกอาเซียนได้เสนอชื่อผู้ที่เป็นไปได้ที่จะเป็นทูตของอาเซียนไปยังเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา ซึ่งเป็นบุคคลจากไทยและอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีการตอบรับ นักการทูตรายดังกล่าวยังระบุว่าตัวแทนอาเซียนสองคนที่เดินทางไปยังเมียนมาเดือนที่แล้วขอเข้าพบ ออง ซาน ซูจี และผู้ที่ถูกคุมขังรายอื่นๆ แต่ถูกปฏิเสธ

 

ส่วนกรณีทะเลจีนใต้ บลินเคนบอกว่าสหรัฐฯ ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่เขาบอกว่า ‘ผิดกฎหมาย’ ในทะเลจีนใต้ของจีน และยืนเคียงข้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญกับการบีบบังคับจากจีน

 

และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา บลินเคนออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการในกรณีทะเลจีนใต้ ส่วนหนึ่งของการแถลงดังกล่าวระบุว่า “ไม่มีที่ใดที่ระเบียบทางทะเลที่มีกฎกติกาเป็นพื้นฐานจะอยู่ใต้ภัยคุกคามมากเท่ากับในทะเลจีนใต้ จีนยังคงบีบบังคับและข่มขู่รัฐชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุกคามเสรีภาพในการเดินเรือในเส้นทางผ่านที่สำคัญระดับโลกนี้” แถลงการณ์ดังกล่าวยังอ้างถึงคำตัดสินส่วนหนึ่งของอนุญาโตตุลาการในครั้งนั้นที่ปฏิเสธการเรียกร้องสิทธิทางทะเลที่กว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้ว่าไม่มีพื้นฐานในกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ยุติพฤติกรรมยั่วยุ และดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมระหว่างประเทศว่ามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามระเบียบทางทะเลที่เคารพต่อสิทธิของทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก

 

ปรากฏว่า จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุผ่านการแถลงข่าวในกรุงปักกิ่ง ตอบโต้แถลงการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของสหรัฐฯ เพิกเฉยต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงอันยุติธรรมของปัญหาทะเลจีนใต้ ละเมิดและบิดเบือนกฎหมายระหว่างประเทศ จ้าวลี่เจียนยังบอกว่าแถลงการณ์นี้ “จงใจปลุกปั่นข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเล สร้างความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และยังบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง” นอกจากนี้จ้าวลี่เจียนยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น อาทิ ประวัติศาสตร์อำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของจีนในทะเลจีนใต้ หรือประเด็นการใช้อำนาจของอนุญาโตตุลาการในขณะนั้นที่เขาบอกว่าเกินขอบเขต และประเด็นการสนับสนุนการเจรจาและปรึกษาหารืออย่างฉันมิตรเพื่อแก้ไขปัญหา เป็นต้น

 

จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ผ่าน ‘เส้นประ 9 เส้น’ ซึ่งเป็นการประกาศโดยฝ่ายจีน ซึ่งเส้นประ 9 เส้นดังกล่าวไปซ้อนทับกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ล้วนเป็นสมาชิกอาเซียน ทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ที่เป็นเส้นทางการค้ามูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และยังเป็นแหล่งประมงและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

 

ในข่าวที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุว่า บลินเคนให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เสรีและเปิดกว้างต่อไป ภายใต้ ‘ความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ’ ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทยระบุไว้ในครั้งนั้นว่า “ในการต่อยอดจากความสำเร็จของข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขง ประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, ไทย และเวียดนาม) และสหรัฐฯ ได้เปิดตัวหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ เพื่อเป็นเวทียุทธศาสตร์ความร่วมมือ ซึ่งจะสานต่องานที่กำลังดำเนินอยู่ และยกระดับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านพลังงาน การพัฒนาทุนมนุษย์ การจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติข้ามพรมแดน และความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security)” ทั้งนี้ Reuters ระบุว่า แม่น้ำโขงกลายเป็นแนวหน้าใหม่ในการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยจีนนั้นแซงหน้าสหรัฐฯ ทั้งในด้านการใช้จ่ายและอิทธิพลเหนือประเทศปลายน้ำซึ่งแล้วแต่การควบคุมน้ำในแม่น้ำ

 

การประชุมดังกล่าวนับเป็นการประชุมครั้งแรกนับแต่รัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลในหมู่นักการทูตและคนอื่นๆ ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสนใจมากเพียงพอกับภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อกลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในการตอบโต้จีนซึ่งแสดงออกอย่างมั่นใจมากขึ้น

 

ภาพ: Fatih Aktas / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X