×

ไขปม ‘สหรัฐฯ’ ขึ้นบัญชี ‘ไทย’ เฝ้าจับตาปั่นค่าเงิน เราควรต้องกังวลอะไร

17.12.2020
  • LOADING...

เมื่อคืนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานเรื่อง ‘การบิดเบือนค่าเงิน’ โดยรายงานดังกล่าวมีชื่อ ‘ไทย’ เป็นหนึ่งในประเทศที่เฝ้าจับตา (Monitoring List) เพราะทางการสหรัฐฯ สงสัยว่าไทยอาจดำเนินมาตรการทางการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นการ ‘บิดเบือนค่าเงิน’ เพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ

 

นอกจากไทยแล้ว ยังมีอีก 9 ประเทศที่อยู่ในข่ายเฝ้าจับตาเช่นเดียวกับไทยคือ ไต้หวัน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

ส่วนประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้น ‘บัญชีดำ’ เป็นประเทศที่ดำเนินการบิดเบือนค่าเงินอย่างชัดเจนเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ มี 2 ประเทศคือ สวิตเซอร์แลนด์กับเวียดนาม

 

กล่าวโดยสรุปแล้วคือ ไทยยังไม่ถึงกับถูกขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ เหมือนกับสวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม เพียงแต่ถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่เฝ้าจับตาเท่านั้น 

 

อาจมีคำถามว่าสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าประเทศใดบ้างที่กระทำการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ และเพราะเหตุใดสหรัฐฯ ถึงต้องตั้งกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมา

 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ ต้องกำหนดเกณฑ์นี้ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการลดการขาดดุลการค้าที่อยู่ระดับสูงมาต่อเนื่องหลายปี โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่ดูจะไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า รัฐบาลสหรัฐฯ จึงเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อหวังลดการขาดดุลเหล่านี้ลง สหรัฐฯ จึงได้กำหนดเกณฑ์นี้ขึ้นมาเพื่อเจรจาต่อรองหรือแม้กระทั่งตอบโต้ทางการค้ากับประเทศเหล่านี้

 

สำหรับเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ใช้ในการดูว่าประเทศใดบ้างที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ จะดูจาก 3 ข้อหลักคือ

 

  1. ดูว่าประเทศเหล่านั้นมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP แต่ละประเทศหรือไม่ 
  2. ดูว่าประเทศเหล่านั้นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาหรือไม่
  3. ดูว่าประเทศเหล่านั้น มีการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 2% ของ GDP หรือไม่

 

สำหรับไทยซึ่งติดอยู่ในข่ายเฝ้าจับตา เพราะเข้าตามเกณฑ์ข้างต้น 2 ข้อ คือ 1. ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราว 6.3% ของ GDP สูงกว่าเกณฑ์ของสหรัฐฯ ที่ 2% และ 2. ไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราว 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของสหรัฐฯ ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ส่วนเกณฑ์เรื่องการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถือเป็นข้อเดียวที่ไทยไม่เข้าข่าย โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไทยมีการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.8% ของ GDP ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของสหรัฐฯ ที่ 2% ทำให้ไทยรอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินเหมือนกับที่สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนามโดนข้อกล่าวหานี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้ไทยจะรอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า แต่ต้องยอมรับว่าไทยตกอยู่ในเป้าสายตาของสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้วจากการถูกขึ้นบัญชีเฝ้าจับตา ซึ่งหมายความว่าหลังจากนี้ไปสหรัฐฯ คงติดตามดูการเคลื่อนไหวของไทยอย่างใกล้ชิดว่า ในอนาคตไทยจะมีการดำเนินนโยบายใดๆ ที่เป็นการบิดเบือนค่าเงินเผื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ หรือไม่ 

 

โดยรายงานชิ้นนี้ของสหรัฐฯ ปกติจะประกาศในทุกๆ 6 เดือน ซึ่งหมายความว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้าไทยคงต้องมาลุ้นกันอีกรอบว่าจะถูกขึ้นบัญชีดำหรือไม่

 

สำหรับประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดังกล่าว เบื้องต้นสหรัฐฯ จะให้เวลา 1 ปีในการแก้ไขเพื่อให้หลุดพ้นจากกฎเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อของสหรัฐฯ แต่หากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทางการสหรัฐฯ ก็จะมีบทลงโทษดังกล่าวไปนี้

 

  1. ปฏิเสธการเข้าร่วม OPIC (The Overseas Private Investment Corporation)
  2. กีดกันผู้ประกอบการจากประเทศไทยในการเข้ารับงานของรัฐบาลสหรัฐฯ
  3. ให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จับตาดูประเทศไทย
  4. ขอให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ พิจารณาการละเมิดเกณฑ์ในการเจรจาทางการค้าใดๆ 

 

ทั้งนี้แม้ไทยจะถูกสหรัฐฯ จัดให้อยู่เพียงแค่บัญชีเฝ้าจับตา แต่ดูเหมือนผลกระทบเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปยังค่าเงินบาทบ้างแล้ว เพราะหลังเปิดตลาดเงินเมื่อวานนี้ เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นทันทีจนทะลุระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ มาทำสถิติแข็งค่าสุดระหว่างวันที่ 29.81 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนมาปิดตลาดที่ระดับ 29.86 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปี นับจากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2556 สาเหตุเพราะนักลงทุนคาดการณ์กันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทมากนัก เพราะเกรงว่าจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำในครั้งถัดไป

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ธปท. ออกมาชี้แจงว่า ธปท. ไม่มีนโยบายเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อหวังความได้เปรียบทางการค้า

 

โดย จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวยืนยันว่า กรณีที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าจับตายังไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่ทำการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์

 

ทั้งนี้ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า และไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X