กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน พบว่า เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ดัชนี CPI มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% นับเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2008 อีกทั้งยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมีนาคมก่อนหน้า
ขณะเดียวกันหากไม่นับรวมสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.3% ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.0% ในเดือนที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.3%
นักวิเคราะห์มองว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI รายเดือนมีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI ในสัดส่วนรายปีมีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ปรับตัวลดฮวบ เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ขยับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนตุลาดคม 2014 โดยราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อแกลลอนอยู่ที่ 3.008 ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้วลดลงสู่ที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 และคลังน้ำมันดิบสำรองสหรัฐฯ ลดลง 400,000 บาร์เรลต่อวัน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวดิ่งลงแรงเมื่อวานนี้ โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 681 จุด ปิดที่ 33,587.66 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 89.06 จุด ปิดที่ 4,063.04 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 357.75 จุด ปิดที่ 13,037.68 จุด โดยเป็นผลสืบเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบฉับพลัน
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นเพียงการปรับตัวเพิ่มขึ้นชั่วคราวเท่านั้น โดยชี้ให้เห็นว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นภายใต้การกำกับดูแลอย่างดถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัว
อ้างอิง: