×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ไบเดน VS. แซนเดอร์ส เทียบแนวคิดการเมือง-นโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของสองผู้สมัครมาแรงจากเดโมแครต

12.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • นโยบายของ โจ ไบเดน เป็นเสรีนิยมสายกลาง ในขณะที่นโยบายของ เบอร์นี แซนเดอร์ส เป็นอุดมคตินิยมและเสรีนิยมสุดโต่ง ดังนั้นหากใครชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ก็จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมาก
  • ในด้านนโยบายต่างประเทศต่อจีนนั้น นโยบายของไบเดนมีลักษณะผสมผสานระหว่างนโยบายปิดล้อมและนโยบายปฏิสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ มาโดยตลอดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่แซนเดอร์สกลับมีท่าทีและนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยโจมตีจีนว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นตัวการทำให้คนงานอเมริกันตกงานหลายล้านคน
  • นโยบายการค้าของแซนเดอร์สมีความใกล้เคียงกับนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาต่อต้านการค้าเสรีมาตลอด ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการตั้ง FTA ตรงข้ามกับไบเดนที่สนับสนุนอย่างเต็มที่

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้จะมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงแข่งกับตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งขณะนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์

หากไบเดนหรือแซนเดอร์สชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ บทความนี้จึงจะวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไบเดนและแซนเดอร์สเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นจุดเหมือนและจุดต่างของนโยบายของทั้งสอง และจะวิเคราะห์โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อดังนี้

Grand Strategy
ไบเดนมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเสรีนิยมสายกลาง เน้นนโยบายประนีประนอม ไม่สุดโต่ง คือไม่เสรีนิยมเกินไป และไม่อนุรักษนิยม ธีมนโยบายต่างประเทศของไบเดนคือ ‘America must lead again’ โดยเสนอว่าเขาจะนำสหรัฐฯ กลับมาเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหาโลกอีกครั้งหนึ่ง

แต่ในส่วนของแซนเดอร์สมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากไบเดนไม่น้อย โดยเขาเป็นเสรีนิยมแบบสุดโต่ง เป็นนักอุดมคตินิยม และมีแนวนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางอุดมการณ์รัฐสวัสดิการที่เราเรียกว่า Social Democrat หรือ Socialist โดยธีมนโยบายต่างประเทศของแซนเดอร์สคือ ‘Global Engagement’ เขาต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้าคือ Global Hegemony และต่อต้านลัทธิโดดเดี่ยวนิยม โดยเป้าหมายของสหรัฐฯ ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกหรือ Global Engagement

ข้อแตกต่างที่สำคัญของ Grand Strategy ของทั้งสองคือแซนเดอร์สต้องการให้สหรัฐฯ ปฏิสัมพันธ์กับโลก แต่ไม่ใช่ครอบงำโลก ในขณะที่ไบเดนจะไปไกลกว่าแซนเดอร์สที่ไม่เพียงแค่ปฏิสัมพันธ์ แต่สหรัฐฯ จะต้องเป็นผู้นำของโลกต่อไปด้วย

 

 

เครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ทั้งไบเดนและแซนเดอร์สเห็นตรงกันในเรื่องของการให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคี แต่แซนเดอร์สมีแนวคิดที่ค่อนข้างสุดโต่งในเรื่องเวทีพหุภาคี คือเขาเน้นว่าเวทีพหุพาคีจะต้องไม่ใช่เวทีระหว่างรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างประชาชนด้วย ภาคประชาสังคมจะต้องมีบทบาทในเวทีโลก

สำหรับในเรื่องของการใช้เครื่องมือทางทหารและสงครามในการดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้น แซนเดอร์สมีท่าทีต่อต้านเต็มที่ และต่อต้านการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ แต่ในขณะที่ไบเดนยังแบ่งรับแบ่งสู้ สงวนท่าที โดยมีแนวโน้มจะใช้กำลังทางทหารในบางกรณีหากจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนเห็นตรงกันในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการทูตเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

แต่แซนเดอร์สมีมุมมองที่แตกต่างจากไบเดนในเรื่องการใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วย แซนเดอร์สได้ยกตัวอย่างแผนการมาร์แชลที่สหรัฐฯ ได้ทุ่มเงิน 1.3 แสนล้านดอลลาร์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ปัญหาโลก
สำหรับบทบาทของสหรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหาโลกนั้น ทั้งสองคนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ไบเดนดูจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากกว่าแซนเดอร์ส โดยไบเดนเสนอว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะจัดประชุมสุดยอดของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อผลักดันให้ประชาธิปไตยเป็นวาระของโลก

สำหรับปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น ทั้งสองคนให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ไบเดนดูไปไกลกว่าแซนเดอร์ส โดยจะผลักดันให้สหรัฐฯ กลับมามีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหานี้ และจะผลักดันให้มีการจัดประชุมสุดยอดขึ้น

จะเห็นได้ว่านโนบายการจัดการปัญหาโลกของทั้งสองต่างกัน โดยนโยบายของไบเดนมีลักษณะเชิงรุกและเน้นผลักดันให้สหรัฐฯ มีบทบาทนำในการจัดการกับปัญหาโลก ในขณะที่แซนเดอร์สไม่เน้นนโยบายเชิงรุก แต่เน้นแค่สหรัฐฯ เข้าร่วมในการแก้ปัญหาเท่านั้น ไม่เน้นให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา

 

ท่าทีต่อมหาอำนาจ
ทั้งสองคนมีท่าทีเหมือนกันที่มองทั้งรัสเซียและจีนเป็นลบตามกระแสสังคมอเมริกันในขณะนี้ โดยนโยบายต่อรัสเซียนั้น แซนเดอร์สเน้นการคว่ำบาตรรัสเซีย ในขณะที่ไบเดนไปไกลกว่าแซนเดอร์สในเรื่องมาตรการต่อต้านรัสเซีย คือนอกจากการคว่ำบาตรแล้ว ไบเดนยังเสนอให้ใช้องค์การ NATO เป็นกลไกหลักในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของรัสเซีย และสนับสนุนให้ NATO ขยายสมาชิกออกไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

สำหรับนโยบายต่อจีนนั้น ไบเดนมองว่าการผงาดขึ้นมาของจีนเป็นสิ่งท้าทายสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก และโจมตีนโยบายการค้าของจีนที่ไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน อย่างไรก็ตาม ไบเดนก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีน โดยมองว่าสหรัฐฯ ไม่ควรดำเนินนโยบายแบบเอกภาคีนิยมหรือไล่บี้จีนฝ่ายเดียว แต่ควรสร้างแนวร่วมของพันธมิตรเพื่อกดดันจีน

อย่างไรก็ตาม ไบเดนก็มองว่ายังมีปัญหาโลกหลายเรื่องที่สหรัฐฯ กับจีนน่าจะร่วมมือกันได้ ดังนั้นนโยบายของไบเดนจึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างนโยบายปิดล้อมและนโยบายปฏิสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ มาโดยตลอดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

แต่แซนเดอร์สกลับมีท่าทีและนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยโจมตีจีนว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ พร้อมกล่าวโทษจีนว่าเป็นตัวการทำให้คนงานอเมริกันตกงานหลายล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่นโยบายต่อจีนและนโยบายการค้าของแซนเดอร์สกลับไปใกล้เคียงกับนโยบายของทรัมป์มากกว่านโยบายของไบเดน โดยแซนเดอร์สสนับสนุนการทำสงครามการค้ากับจีน และมองว่าการที่ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจีนนั้นเป็นมาตรการที่ถูกต้องแล้ว และหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาก็จะใช้มาตรการนี้เช่นเดียวกัน

 

 

นโยบายการค้า
ที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายต่อจีนก็คือนโยบายการค้าของทั้งสองคน ซึ่งทั้งสองคนมีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมากในเรื่องนี้ ไบเดนประกาศว่านโยบายการค้าและนโยบายต่างประเทศของเขาจะเป็นนโยบายเพื่อชนชั้นกลาง เขาสนับสนุนการเปิดเสรีการค้ามาโดยตลอด และโจมตีสงครามการค้าและนโยบายการค้าของทรัมป์อย่างหนัก ขณะที่ไบเดนมองว่าสหรัฐฯ จะต้องเป็นผู้นำในการจัดระเบียบการค้าโลกและการค้าเสรีโลก

ไบเดนสนับสนุนเขตการค้าเสรี หรือ FTA สนับสนุน FTA ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีชื่อย่อว่า TPP ที่รัฐบาลสมัย บารัก โอบามา ผลักดันเต็มที่ อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมอเมริกันขณะนี้มีแนวโน้มต่อต้านโลกาภิวัตน์และต่อต้านการค้าเสรีอย่างหนัก ไบเดนจึงหลีกเลี่ยงนโยบายสนับสนุน FTA แบบสุดโต่ง โดยบอกว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะระมัดระวังและไม่เจรจา FTA หากสหรัฐฯ ไม่พร้อม

ในขณะที่ไบเดนสนับสนุนการค้าเสรีและย้ำว่านโยบายการค้าของเขาเป็นนโยบายสำหรับชนชั้นกลางนั้น แต่นโยบายการค้าของแซนเดอร์สจะเป็นนโยบายการค้าสำหรับชนชั้นแรงงาน โดยเขามีจุดยืนมุ่งเน้นปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานสหรัฐฯ เป็นหลัก แซนเดอร์สต่อต้านการค้าเสรีมาหลายสิบปี โดยมองว่าการค้าเสรีให้ประโยชน์กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของคนรวย ในขณะที่ก่อผลเสียหายอย่างมากต่อคนงานอเมริกัน เขาจึงมีนโยบายต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้าน FTA และมองว่า FTA เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนอเมริกันตกงานอย่างมหาศาล

ดังนั้นแซนเดอร์สจึงต่อต้าน FTA ในทุกรูปแบบ โดยมองว่า TPP เป็นหายนะ และเขาไม่มีทางที่จะเจรจาและเข้าร่วม TPP อีก หากเขาเข้าร่วม TPP ก็เท่ากับเป็นการทรยศต่อคนงานอเมริกัน นอกจากนี้เขายังต่อต้านเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเขามองว่ามีผลทำให้บริษัทอเมริกันย้ายฐานการผลิตไปเม็กซิโก ทำให้คนงานอเมริกันตกงานมหาศาล

แซนเดอร์สสนับสนุนการใช้มาตรการขึ้นภาษีเพื่อลงโทษประเทศที่เอาเปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้มาตรการภาษีในการกดดันจีนให้เปลี่ยนนโยบายการค้า 

 

ช่องว่างรวยจน
หัวใจหลักของแนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งหรืออุดมการณ์ Social Democrat คือการลดช่องว่างรวยจนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของแซนเดอร์สจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แซนเดอร์สกับไบเดนมีจุดยืนต่างกันอย่างมาก โดยแซนเดอร์สที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ในขณะที่ไบเดนไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย แซนเดอร์สย้ำว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่คนรวยที่สุด 6 คนของโลกจะมีทรัพย์สินเงินทองเท่ากับคนจน 3,700 ล้านคน และมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่บรรษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินโลกจะผูกขาดอำนาจและครอบงำเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

กล่าวโดยสรุป นโยบายต่างประเทศของไบเดนมีความเหมือนและแตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของแซนเดอร์สหลายเรื่องด้วยกัน นโยบายของไบเดนเป็นเสรีนิยมสายกลาง ในขณะที่นโยบายของแซนเดอร์สเป็นอุดมคตินิยมและเสรีนิยมสุดโต่ง ดังนั้นหากใครชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่จะส่งผลกระทบต่อโลกเป็นอย่างมาก

ในบทความตอนต่อไปของผมจึงจะมาวิเคราะห์ขยายออกไปเปรียบเทียบนโยบายของพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน และจะวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่านโยบายต่างประเทศของแต่ละคนจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X