ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ คือหนึ่งในองค์ประกอบทางสังคมที่สำคัญที่สุดของเมือง นั่นเป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้ถูกใช้งานเพื่อรองรับกิจกรรมสาธารณะของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันพื้นที่สาธารณะยังช่วยสะท้อนลักษณะทางกายภาพที่สามารถระบุถึงความเป็นย่านที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้ หากแต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจนในบริบทของไทย
เมื่อมองเข้าไปยังเมืองหลวงของไทยอย่าง ‘กรุงเทพฯ’ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2560 จากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า พื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ มีจำนวน 7,831 แห่ง มีพื้นที่รวม 37,196,724.57 ตารางเมตร
พื้นที่ดังกล่าวรวมตั้งแต่เกาะกลางถนนไปจนถึงสวนระดับเมือง คิดอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรกรุงเทพฯ แล้ว ออกมาเป็นประมาณ 6.9 ตารางเมตรต่อคน เมื่อเทียบกับมาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอไว้ 9 ตารางเมตรต่อคน ก็ชัดเจนเลยว่ามีปริมาณสวนไม่เพียงพอ
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตีรัศมีรอบสวนใหญ่ๆ ที่คนเข้าไปใช้งานได้ จะพบว่ามีชาวบ้านหลายส่วนในเมืองที่ต้องเดินทางไกลถึง 5 กิโลเมตรเพื่อไปสวน! เมื่อสวนไม่อยู่ในระยะที่เดินถึงได้ โอกาสในการใช้งานก็ลดลงไปอีก
เมื่อนับรวมพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสวนสาธารณะ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรสูงขึ้นเป็น 34.33 ตารางเมตรต่อคน ข้อดีของการมีพื้นที่สีเขียวเยอะๆ คือการเพิ่มปริมาณเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติให้แก่เมืองก็จริง
แต่หากลองตั้งคำถามว่า ทำไมตัวเลขถึงแตกต่างกันมากขนาดนั้น ก็จะได้คำตอบว่า มีพื้นที่สีเขียวอีกมากมายที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น สนามกอล์ฟ หรือสวนประจำที่อยู่อาศัย แปลว่าไม่ใช่ใครก็จะเดินดุ่มๆ เข้าไปใช้ได้นั่นเอง
ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยังมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ น้อยอยู่จริงๆ
‘Uniquely Thai’ พัฒนาเมืองในทุกมิติ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นที่มาของโครงการ ‘Uniquely Thai’ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพัฒนาเมืองในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่ยังขาดพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่รองรับความต้องการการใช้งานที่หลากหลายของพลเมืองทุกช่วงวัย พื้นที่ที่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของประชากรเมืองได้ ซึ่งในหลายประเทศนิยามพื้นที่นี้ว่า Civic Center
โดยโครงการประกวด ‘Uniquely Thai การประกวดแบบ Civic Center ในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานคร’ (‘Uniquely Thai’ Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition 2021) เกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC)
สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้คือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นเจ้าของพื้นที่ในอนาคต ได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอมุมมองที่มีต่อเมือง และไอเดียในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ในมุมมองที่ตัวเองต้องการโดยไม่มีอะไรมาปิดกั้นแนวคิด
ด้วยการเปิดกว้างนี้เองทำให้มีคนรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการแชร์ไอเดียในการพัฒนาเมือง ซึ่งหลากหลายไอเดียของกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ทำให้คณะกรรมการคาดไม่ถึง
จากโจทย์ที่ทุกคนได้รับคือ ‘Uniquely Thai’ การออกแบบ Civic Center ในการประกวดครั้งนี้ทำให้ได้เห็นถึงมุมมองการออกแบบเมืองแบบไทยๆ จากสายตาคนรุ่นใหม่ ที่ต่างออกไปจากเดิม เราได้เห็นการตีโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาชีวิตของคนเมืองผ่านการออกแบบ Civic Center ตีโจทย์ ‘Thai Soft side-Soft power’ สู่แลนด์มาร์กระดับสากล
เราจึงขอยกตัวอย่างผลงานบางส่วนของผู้ชนะ เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการแก้ปัญหา ‘พื้นที่สาธารณะ’
ความเป็นไทยที่สื่อสารผ่านแสง ลม และพื้นที่
ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศประเภทนิสิต-นักศึกษา คือ มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้ชื่อผลงาน Bangkok Civic Center ที่ได้สร้าง Perception of Thainess โดยสร้าง Authenticity of Place ให้กับพื้นที่ จากการรับรู้ Sequence ของแสงและพื้นที่
เธอได้รีเสิร์ชมาจากสถาปัตยกรรมไทย ออกมาเป็นระดับของความ Public และ Private ซึ่งสอดคล้องกับความสว่างของแสงในพื้นที่นั้นๆ โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาดัดแปลงและออกแบบให้เข้ากับสถาปัตยกรรมแบบใหม่ ที่สะท้อนความเป็นไทยดั้งเดิมของสถานที่ที่รับรู้ผ่าน Perception ของผู้เข้าใช้งาน
โดยรูปลักษณ์ภายนอกมีแนวทางการออกแบบมาจากการวิเคราะห์องค์ประกอบของความเป็นไทยดั้งเดิมทางด้านสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ลักษณะนิสัย และงานภูมิปัญญาต่างๆ ที่แสดงลักษณะร่วมกันคือ ความอ่อนช้อย จึงเลือกดัดแปลงลักษณะเหล่านี้มาลดทอนให้เรียบง่าย และยังคงกลิ่นอายความเป็นไทย
“Perception of Thainess คือการสร้างให้อาคารแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อทางเดินเท้า เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปที่พ่อค้ารายย่อย เสริมสร้างการท่องเที่ยวเรียนรู้ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน สร้างการเชื่อมต่อของย่าน”
ซึ่งภายในมี 4 Main Loop ดังนี้
- Cultural Loop เป็นเส้นทางพัฒนาต่อยอดและสืบสานวัฒนธรรมไทย โดยเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนรองรับกิจกรรมใหม่ๆ ในอนาคตได้
- Commercial Loop เส้นทางพัฒนาทางด้านอาชีพ สร้างเสริมธุรกิจ Art and Craft สำหรับคนในชุมชน เพื่อต่อยอดสร้างเสริมอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจ
- Education Loop เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสทางด้านความคิดและความรู้ที่ทันยุคสมัย
- Recreation Loop เส้นทางการพักผ่อนของคนเมือง เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนเมือง
The Dawn หยิบเรื่องคลองมาตีความใหม่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนิสิต-นักศึกษา คือผลงานที่ชื่อว่า ‘The Dawn’ หรือ ‘เดอะ ดอน’ ผลงานของ กฤตธี วงศ์มณีโรจน์, กุลจิรา กรรณกุลสุนทร และ เวธินี พูลเพิ่มพันธ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
‘The Dawn’ ใช้ไอเดียที่ว่า ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองของคลองในกรุงเทพฯ คลองเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งคลองไม่เพียงแต่เป็นช่องทางหลักในการคมนาคมภายในเมืองเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับประเพณีและความเชื่อของไทยอีกด้วย
แต่ที่ผ่านมาคลองถูกถมเป็นถนน ดังนั้นทางทีมจึงต้องการสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกรุ่นผ่านตัวอาคารที่ถูกสร้างเป็นเนินที่จมลงสู่พื้นดิน เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของอาคารวัฒนธรรมและอาคารราชการ พื้นที่ภายในถูกปรับให้เรียบง่ายขึ้นจาก ‘ศาลาริมน้ำไทย’ ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ร่มเงา พื้นที่ระบายอากาศตามธรรมชาติ และพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม พื้นที่กิจกรรมในศูนย์ราชการเปิดโอกาสให้คนทุกรุ่นได้รวมตัวกันและแบ่งปันความสนใจที่หลากหลาย รวมถึงการแสดง ดนตรี และประเด็นสาธารณะ ผู้คนจากแต่ละรุ่นสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างรุ่นได้
HiMawanta การต่อยอดของศิลปะไทย
ด้านรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนิสิต-นักศึกษา คือผลงานที่ชื่อว่า HiMawanta ผลงานของ ธนวัฒน์ ธาราสันติสุข, ณัฐจิรา จิรประเสริฐวงศ์ และ ชาลิสา เสริมศักดิ์ จากคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
HiMawanta ได้นำเอกลักษณ์ด้าน ‘ศิลปะไทย’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในบ้านเราที่ได้รับการยอมรับกันมาช้านาน มาต่อยอดเพื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงเอกลักษณ์ศิลปะไทย ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของป่าหิมพานต์ ที่เป็นสถานที่แห่งจินตนาการและเรื่องราวลี้ลับ มหัศจรรย์ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในจิตรกรรม วรรณกรรมต่างๆ รวมไปถึงเรื่องเล่าตามหลักศาสนา
โดยหยิบป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสถานที่ที่สะท้อนถึงจินตนาการของผู้คนและศิลปิน มาทำให้ดูน่ารัก เรียบง่าย และดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วยให้คนยุคใหม่หันมาสนใจเรื่องราวของป่าหิมพานต์กันมากขึ้น ผลงาน HiMawanta จึงแสดงถึงพื้นที่สาธารณะที่ต้องการให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาใช้งานเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนในบรรยากาศของป่ามหัศจรรย์ใจกลางเมือง พร้อมกับการได้เรียนรู้และสร้างสรรค์จินตนาการผ่านเรื่องราวของป่าหิมพานต์ไปพร้อมกัน
‘เขามอ’ สู่ Metaverse
สำหรับผู้ชนะเลิศในประเภทบุคคลทั่วไปนั้นเป็นผลงานของ ฑิมพิกา เวชปัญญา และ สิปปวิชญ์ รู้อยู่ ภายใต้ชื่อผลงาน Cosmic | Civic Center ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือทีมนี้ได้หยิบเทรนด์ที่ผู้คนกำลังพูดถึงอย่างมากมายคือ Metaverse มาเป็นแกนหลักในการออกแบบ
ทางทีมได้อธิบายว่า ‘Metaverse’ โลกที่เราสามารถอวตารไปสู่โลกดิจิทัล ซึ่งเป็นโลกที่จะทลายข้อจำกัดของจินตนาการและเปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยไปสู่ความไร้ขีดจำกัด ภายใต้วิสัยทัศน์ (Vision) Go Limitless ที่จะพาคนไทยทะยานและวิวัฒน์ไปอีกขั้น โดยคงยึดมั่นในรากฐานและภูมิปัญญาของเราเอง
เหล่านี้กลายเป็นแนวคิดในการนำ ‘เขามอ’ ที่เป็นภูมิทัศน์ตามความเชื่อแบบไทยๆ ที่จำลองจากภูมิจักรวาล และเขาพระสุเมรุที่เปรียบเสมือนสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาที่จะอวตารลงมาปกครองมนุษย์ เช่นเดียวกับแนวคิดในการสร้างเมืองของเรา
‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ เราจึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้และต่อยอด ที่ว่ามนุษย์เราเองก็สามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ในจินตนาการที่เรียกว่า Metaverse ได้
โดยอาคารได้ไอเดียมาจากสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุ และในส่วน Landscape ที่ได้ไอเดียมาจาก เขามอ ซึ่งเป็นสวนภูมิทัศน์จำลองของไทย ที่มีการเล่นกับ Landform และน้ำ เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร จึงได้ขมวดมาเป็นแนวคิดในการวางอาคารให้ลอยอยู่เหนือน้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนไทยเราได้ปรับตัวอยู่กับน้ำตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยการใช้เสาสูงและยังมีพื้นที่ใต้ถุนไว้ใช้งานต่างๆ นอกจากนี้ตัวพื้นที่โครงการยังเป็นพื้นที่สำหรับรับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเมืองด้วย
ในส่วนของโครงการยังมีฟังก์ชันที่พร้อมจะส่งเสริมศักยภาพของคนไทย ในวิสัยทัศน์ Go Limitless ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ครอบคลุม ครบครัน และอัปเดตอยู่เสมอ เป็น Big Data คลังความรู้ของคนกรุงเทพฯ และยังเป็นพื้นที่ให้ทดลองเปิดประสบการณ์โลก Metaverse ซึ่งสามารถต่อยอดได้หลากหลาย
ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจที่ก้าวไปสู่ Meta-Commerce ในด้านวัฒนธรรมที่สามารถสร้างความเป็นไทยส่งออกไปสู่สายตาชาวโลกด้วยมุมมองใหม่ ส่งเสริมให้ชาวโลกต่างอยากมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้สามารถปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัดและดึงศักยภาพของคนไทยออกมาได้อย่างเต็มที่
“เพราะเราอยากเห็นคนไทยก้าวไกลไปมากกว่าที่เคย” ทีมกล่าว
เดอะ บางกอก ฟอรัม (The Bangkok Forum)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป คือผลงานที่ชื่อว่า เดอะ บางกอก ฟอรัม (The Bangkok Forum) ผลงานของ สุทธหทัย นิยมวาส, ณัฐชนน โลหะวัฒนวาสี, ชารสา ปิยะจิตรา, ทะเล กังขาว และ เทอญไผท ถนอมถิ่น
ทางทีมอธิบายว่า เดอะ บางกอก ฟอรัม ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่เป็นการแสดงถึงการต่อต้านพื้นที่สาธารณะรูปแบบเดิมๆ และเป็นการทบทวนถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะและตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาปัตยกรรมต่อพื้นที่สาธารณะ
ด้วยพื้นที่สาธารณะแบบไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ แต่เกิดจากที่ว่างที่สามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มพื้นที่นั้น ดังนั้นแทนที่จะเริ่มจากการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เรากลับเลือกที่จะโฟกัสการสร้างพื้นที่ว่างที่สามารถรองรับกิจกรรมทางสังคมในอนาคตได้ โดยเริ่มจากการวิเคราะห์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยมา 26 แบบ เพื่อที่จะทำความเข้าใจการใช้พื้นที่ของคนไทยมากขึ้น
โดยโปรแกรมของกิจกรรมถูกนำเสนอบนชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดในงาน พื้นที่ถูกออกแบบเป็นระบบเปิดสำหรับผู้คนได้มีส่วนร่วมและใช้งานได้เต็มที่ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ถูกวางอยู่ชั้นบน โดยเชื่อมกับพื้นที่ด้านล่างผ่านทางเดินของอาคาร สุดท้ายกำแพงถูกออกแบบไว้เพื่อรองรับและเติมเต็มพื้นที่ส่วนหลัก ในขณะเดียวกันกำแพงจะทำหน้าที่เป็น พื้นที่เปลี่ยนถ่าย (Buffer Zone) จากด้านนอกสู่ด้านใน รวมถึงสร้างความกลมกลืนระหว่างโปรเจกต์กับบริบทโดยรอบอย่างแท้จริง
“เดอะ บางกอก ฟอรัม เป็นพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงที่สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นตัวเอกในอาคารแห่งนี้ แต่เป็นที่ว่างที่ยินยอมให้ประชาชนทั่วไปมีอำนาจที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมและการมีส่วนร่วมภายในสังคมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ทีมกล่าว
‘ลาน-ละ-เล่น’ ภูมิปัญญาที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ
ด้านรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทบุคคลทั่วไป คือผลงานที่ชื่อว่า ‘ลาน-ละ-เล่น’ ผลงานของ พชรพล โอสถเจริญผล, ณัฐธัญ จารุชวลิต และ ณัฐพล ลิมป์ศุภวาณิช
ทีมอธิบายว่า ‘การละเล่น’ คือภูมิปัญญาที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ ตั้งแต่อดีตคนสมัยโบราณได้สรรค์สร้างการเล่นเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ไว้อย่างชาญฉลาด ทั้งในแง่ของความสนุกสนานบันเทิง แต่ในปัจจุบันนั้นการละเล่นได้ถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะไม่สามารถพบเห็นเด็กวัยรุ่นเล่นขี่ม้าก้านกล้วยกันได้อีกต่อไป แต่ในทางกลับกันเราสามารถพบเห็นเด็กวัยรุ่นเล่นเซิร์ฟสเกตได้ตามลานห้างสรรพสินค้า
‘ลาน-ละ-เล่น’ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘การละเล่น’ ยังคงไม่ได้หายไป เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความสนุกสนานเหมือนอย่างที่เคยมีมาในอดีต ผ่านการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะให้กับเมือง ที่มีการออกแบบให้มีลานกว้างหน้าอาคารสำหรับเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของคนเมือง ซึ่งจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงด้านบนอาคารอีกด้วย เหมือนเป็นการนำลานโล่งมาหุ้มทับอาคารเอาไว้ ทำให้เกิดความต่อเนื่องกันระหว่างลานหน้าอาคารและลานบนอาคาร ทั้งทางสายตา การสัญจร และการใช้งาน
ฟังก์ชันหลักของอาคารนี้คือ พื้นที่ทางวัฒนธรรมและพลเมือง โดยกินสัดส่วนพื้นที่มากที่สุดของอาคาร ประกอบด้วยห้อง Mini Concert Hall อเนกประสงค์, Game Center, Exhibition Hall อเนกประสงค์, Library and Co-working Space และลานกิจกรรมอเนกประสงค์ทั้งบนอาคารและลานด้านหน้าอาคาร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้บริการของราชการ (ไปรษณีย์, ศูนย์ติดต่อราชการ) และเพื่อเป็นการสนับสนุนฟังก์ชันพื้นที่ทางด้านวัฒนธรรมและพลเมือง จึงต้องมีพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนอีกด้วย (Foodcourt, Retail, Fitness)
อีกสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ ‘ลาน-ละ-เล่น’ โครงการนี้ถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย กทม. ที่กำลังพัฒนาและเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมของคนกรุง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อกลายเป็นสวน ซึ่งจะทำให้คนกรุงสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวภายใน 15 นาที
ตลอดจนการจัดกิจกรรมประจำเดือน เช่น กรุงเทพกลางแปลง ที่ได้หยิบหนังดังต่างๆ มาฉายกลางแปลง ซึ่งทำให้ผู้ชมได้ย้อนไปสู่บรรยากาศในวันวานที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเทศกาลต่างๆ ที่จะจัดตลอดทั้งปีอีกด้วย
‘เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล’ มิติเอกลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในทุกห้วงเวลา
นอกจากผลงานที่กล่าวมาแล้ว เราขอนำเสนอผลงานที่ได้ Popular Vote กับ ‘เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล’ ผลงานของ สุจินดา สุราใหม่, อริสรา พุ่มประสพ, ธนิศรา ทองวงค์ และ ธิดาณัฐ หอมยามเย็น
ทางทีมอธิบายว่า อารยธรรมของไทยนั้นถูกคิดค้นพัฒนา สั่งสม และสืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยที่ในอนาคตนั้นไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกสืบสานต่อหรือล่มสลายไป ตัวแปรสำคัญของผลลัพธ์นี้นั้นคือกาลเวลา
ดังนั้นทีมจึงได้นำเอาเสน่ห์ในความหลากหลายของอัตลักษณ์ไทยมาสร้างมิติความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวบนตัวแปรกาลเวลา ตั้งแต่ความงามยุคโบราณที่เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ความจริงในปัจจุบันของสังคมไทย และอนาคตที่คนไทยวาดฝันที่จะสร้างเมืองไทยในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ล้วนถูกนำมาแสดงในตำแหน่งเดียวกันภายใต้อาคารสาธารณะแห่งนี้
แนวคิด ‘เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล’ (การผสมความหลากหลายบนเวลาที่แตกต่างกัน เกิดเป็นมิติเอกลักษณ์สร้างสรรค์ในทุกห้วงเวลา) จึงเป็นเป้าหมายต่อความเป็นไปได้ของเอกลักษณ์ไทยที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดอาคารที่มีแนวทางผสมผสานมิติความหลากหลายต่างๆ ของความเป็นไทย สู่อาคารที่มีชีวิตเหมือนดั่งต้องมนตร์ ที่สามารถหลุดไปยังกาลเวลาต่างๆ ของประเทศไทย
โดยแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมหมุนเวียนไปตามเทศกาลไทยทั้ง 12 เดือน เพื่อสัมผัสประสบการณ์การเฉลิมฉลองใจกลางเมือง เกิดพื้นที่ที่มีประโยชน์ เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ไทยเดิมให้คงอยู่ เพื่อเผยแพร่ให้คนรับรู้ถึงสิ่งดีงามของไทยมากขึ้น และพร้อมที่จะนำเอกลักษณ์ไทยเคลื่อนตัวไปในโลกอนาคต
อาคารสาธารณะนี้เปรียบเสมือนการทิ้งร่องรอยอารยธรรมมนุษย์ บ่งบอกถึงความสำคัญของปัญญามนุษย์ในการรังสรรค์สิ่งต่างๆ แม้เราไม่สามารถสร้างอาคารในศตวรรษหน้าได้ แต่เราสามารถสร้างอาคารที่แสดงถึงการมีชีวิตอยู่ในศตวรรษนี้ เพื่อบ่งบอกถึงการเกิด การคงอยู่ การดับสูญของอารยธรรมในประเทศไทย
เพื่อหวังให้โครงการนี้จะสร้างชีวิตด้วยตัวของมันเอง พร้อมเดินทางไปในอนาคตกับสังคมไทยที่กำลังจะพัฒนาไปข้างหน้า ทั้งรองรับสถานการณ์ทางเลือกในอนาคตได้อย่างหลากหลาย เช่น อาคารสามารถพัฒนาและกระจายตัวไปยังใจกลางเมืองจังหวัดต่างๆ หากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนผันของสภาวะสิ่งแวดล้อม อาคารสามารถเป็นอาคารต้นไม้ที่พร้อมจะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวได้ มีพื้นที่รองรับน้ำท่วมจากการระบายน้ำช้าในตัวเมือง ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าอาคารไม่เพียงแต่จะตอบสนองต่อผู้คนในการใช้สอย แต่ยังพร้อมที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยตัวอาคารเอง
เหล่านี้เป็นเพียงผลงานตัวอย่างจากโครงการ ‘Uniquely Thai’ Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition 2021 ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ออกแบบอนาคตแบบที่ต้องการ และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เราจึงอยากให้ติดตามการประกวดในปีต่อๆ ไป ซึ่งจะมีหัวข้อที่แตกต่างออกไป และทำให้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะมาออกแบบอนาคตที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตต่อไป
ซึ่งนอกจากได้โชว์ไอเดียแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมยังได้ประโยชน์จากครีเอทีฟ แล็บ และผู้สนับสนุนทุกองค์กร ตลอดจนความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการออกแบบทั้งไทยและอินเตอร์
ผู้สนใจรายละเอียดโครงการและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของโครงการ สามารถติดตามข่าวสารได้ผ่านทางเฟซบุ๊ก Bangkok Civic Center Architectural Design Competition 2021
อ้างอิง: