×

Uniqlo ปรับโครงสร้างพนักงานใหม่ ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนในคลังสินค้า 90%

12.10.2018
  • LOADING...

เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าแรงงานมนุษย์สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ เมื่อ Uniqlo แบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นจากประเทศญี่ปุ่นภายใต้การบริหารงานของบริษัท Fast Retailing ปรับโครงสร้างพนักงานครั้งใหม่ด้วยการนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานในคลังเก็บสินค้าแทนมนุษย์ในสัดส่วน 90% : 10% เพื่อให้สามารถทำงานต่อเนื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

Uniqlo ได้เริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์และระบบ Automated กับคลังสินค้าแห่งหนึ่งในโตเกียวภายใต้การร่วมมือกับ ไดฟูกุ (Daifuku) ผู้ให้บริการระบบขนถ่ายวัสดุ โดยตัวระบบถูกออกแบบมาให้สามารถขนย้ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ มายังคลังเก็บสินค้าด้วยรถบรรทุก, อ่านป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดมาบนตัวสินค้าและยืนยันข้อมูลสต๊อก, บรรจุลงหีบห่อ ฯลฯ

 

ประโยชน์ของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้จะช่วยให้ Uniqlo ลดทรัพยากรมนุษย์ 90% ทั้งยังดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน มีเพียงขั้นตอนเล็กๆ เท่านั้นที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ ส่วนแผนการต่อจากนี้ พวกเขาเล็งนำโมเดลนี้ไปใช้กับคลังเก็บสินค้าในสาขาอื่นๆ ทั่วโลก เพราะได้ประกาศแผนการร่วมมือในระยะยาวกับไดฟูกุ พร้อมเตรียมเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านเยน หรือราว 29,000 ล้านบาทไว้แล้ว (ตามรายงานระบุว่างบลงทุนของการติดตั้งระบบอัตโนมัติในโรงงานแต่ละแห่งจะเริ่มต้นที่ 1,000-10,000 ล้านเยน)

 

ทาดาชิ ยานาอิ ผู้บริหารระดับสูงประจำบริษัท Fast Retailing เชื่อว่าการปรับตัวครั้งนี้ถือเป็นความพยายามที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เนื่องจากอุตสาหกรรมค้าปลีกแฟชั่นกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่รู้จัก และยอมรับว่าบริษัทของตนต้องศึกษาอีคอมเมิร์ซให้มากเพื่อจะได้ทราบข้อมูลของลูกค้าแล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชันต่างๆ

 

“เราจำเป็นต้องเรียนรู้อีคอมเมิร์ซให้มากขึ้น เพราะในอนาคตข้อมูลของลูกค้าจะสำคัญพอๆ กับข้อมูลสินค้า ถ้าเราอยากจะให้บริการผู้คนทั่วโลก เราจำเป็นจะต้องมีปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า ส่วนการทำการตลาดบนโลกดิจิทัล การขนส่งโลจิสติกส์ และระบบห่วงโซ่อุปทานก็ควรจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่แท้จริงสำหรับ Fast Retailing และแบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นเจ้าอื่นๆ

 

สาเหตุที่ Uniqlo กล้าเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรเช่นนี้ก็เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการในครั้งสินค้าและเพื่อเร่งให้สามารถจัดส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภคทั่วโลกได้เร็วทันใจ โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา รายรับของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.86 ล้านล้านเยน แต่ปีงบประมาณนี้พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องฟันรายรับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านเยน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X