ตลาดแฟชั่นกลับมาคึกคัก ‘Uniqlo ’แบรนด์ดังจากญี่ปุ่นอยู่ในตลาดเมืองไทยมากว่า 11 ปี หันโฟกัส O2O ล่าสุดเปิดตัว New U นำเสนอไลฟ์แวร์ บนตึก 3 ชั้นใจกลางสยามสแควร์ หวังเพิ่มฐานคนรุ่นใหม่ พร้อมเดินหน้าส่งคอลเล็กชันทำยอดขายช่วงฤดูหนาว รับปัญหาต้นทุนต้องปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ
เขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ตามภาวะปกติ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เริ่มออกเดินทางทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายของธุรกิจแฟชั่นและตลาดเสื้อผ้ากลับมาคึกคักเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยคาดการณ์ว่าปี 2565 น่าจะมีสัญญาณดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 ปี Uniqlo ประเทศไทย ก้าวต่อไปในวันที่ ‘ออฟไลน์’ และ ‘ออนไลน์’ ต้องมาคู่กัน แย้มอาจเห็นโมเดลร้านที่ขาย ‘กาแฟ’ ด้วย
- เพราะคู่แข่งในอนาคตไม่ใช่ Zara! ทาง ‘Uniqlo’ จึงเตรียมทุ่มงบ 1,000 ล้านเยนต่อปีสำหรับจ้าง ‘พนักงานระดับกลาง’ มาช่วยสู้กับเหล่า Big Tech
- ‘นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว’ เคล็ดวิชาไม่ลับที่ทำให้ Uniqlo กลายเป็นแฟชั่นแบรนด์ในหัวใจของชาวจีน
ขณะเดียวกันแม้หลายคนเริ่มกลับมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางหน้าร้านแล้ว แต่ยังมีลูกค้าบางส่วนที่มีพฤติกรรมการช้อปสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถี่ขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นฤดูหนาว เพราะคนไทยออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและโซนยุโรปมากขึ้น โดยสินค้าที่ขายดีช่วงนี้ ได้แก่ เสื้อขนนุ่ม แจ็กเก็ต และฮีทเทค
เช่นเดียวกับ ‘Uniqlo’ ปัจจุบันเปิดให้บริการในไทยมาครบรอบ 11 ปี ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านคุณภาพและความหลากหลายของคอลเล็กชันใหม่ๆ เพื่อรองรับในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยมี ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ เป็น Local Brand Presenter คนแรกของเมืองไทย
ล่าสุดได้เปิดตัว ‘New U New Uniqlo Experience at Siam Square’ พื้นที่จัดแสดงสินค้าแบบเอ็กซ์คลูซีฟกลางสยามสแควร์ ซึ่งเป็นพื้นที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีหลากหลายกลุ่มหมุนเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ต้องการนำเสนอและบอกเล่าถึงความหมายของคำว่าไลฟ์แวร์ (LifeWear) ผ่านตัวโปรดักต์และการบริการ
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 1,000 ตารางเมตร มีทั้งหมด 3 ชั้น
ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 LifeWear รวมไฮไลต์ประจำฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2565 และมีการจำหน่ายดอกไม้ซึ่งมาจากการจับมือกับร้านดอกไม้ Bangkok Flower มีราคาเริ่มต้นที่ 100-500 บาท
ถัดมาคือชั้นที่ 2 Technology and Innovation เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผสานอยู่ใน LifeWear และชั้นที่ 3 โซน UT เสื้อ T-Shirt และเปิดให้บริการ COFFEE with Roots ซึ่งมาจากการร่วมมือกับร้านกาแฟ Roots
ซึ่งจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 – 22 มกราคม 2566 เบื้องต้นหากได้รับการตอบรับดี อนาคตอาจมีการไปเปิดในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างประสบการณ์สู่ Omni-Channel หรือ O2O เชื่อมต่อ Online to Offline เข้ามาไว้ด้วยกัน และในไทยถือเป็นคอนเซปต์แรก ที่ยังไม่เคยมีในประเทศอื่น
ที่สำคัญร้านดังกล่าวไม่มีการจำหน่ายสินค้าโดยตรง แต่สามารถทดลองสินค้าได้ แล้วเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านแอปพลิเคชัน UNIQLO เริ่มลงทะเบียนเป็นสมาชิก เลือกไอเท็มที่ต้องการในงาน New U โดยสแกนบาร์โค้ดผ่านแอป กดใส่ตะกร้า แล้วชำระเงินผ่านทางจุดชำระด้วยระบบ Pay In Store ที่ร้าน แล้วเลือกว่าจะไปรับที่สาขาใกล้บ้าน หรือเลือกให้จัดส่งที่บ้าน เพิ่มความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ปัจจุบันสมาชิกในแอปมีทั้งหมด 5 ล้านคน แอ็กทีฟอยู่ประมาณ 4 ล้านคน โดยลูกค้ามีหลายกลุ่มอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต้องยอมรับว่าสัดส่วนยอดขายออนไลน์ยังอยู่ตัวเลขหลักเดียว ซึ่งถือว่าน้อย ปีหน้าจึงต้องการให้เติบโตขึ้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ ทำให้ลูกค้าใช้แอปได้รวดเร็วและติดตามสินค้าง่ายขึ้น
เชื่อว่าโมเดลดังกล่าวจะสามารถช่วยสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าที่เด็กลง เช่น วัยมัธยมและมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีคนรู้จักแบรนด์กว่า 90% ซึ่งเหลืออีก 10% ที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ และเรายังไม่ได้ศึกษาเชิงลึก
เขมจิรากล่าวต่อถึงกลยุทธ์การทำตลาดต่อจากนี้ มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ได้ทุกกิจกรรม ตอบโจทย์ทั้งชายและหญิง โดยจะมีคอลเล็กชันใหม่หมุนเวียนกันไปทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ยังมีนโยบายขยายสาขาเพิ่มขึ้น เน้นพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีโอกาสการเติบโตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน Uniqlo ในไทยมีทั้งหมด 61 สาขา แบ่งเป็นร้านในพื้นที่กรุงเทพฯ 70% และต่างจังหวัด 30% และมีสาขาทั่วโลก 2,400 แห่ง ทั้งในญี่ปุ่น เอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ
ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องคอยรับมือกับความท้าทายเรื่องต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวขึ้นทั่วโลก ทำให้สินค้าบางรายการต้องปรับขึ้นราคาเพื่อสอดรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม Uniqlo นับเป็นแบรนด์ที่ใหญ่สุดในกลุ่ม Fast Retailing ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้าภายใต้ 7 แบรนด์ ได้แก่ GU, Theory, PLST, Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam, J Brand และ Helmut Lang บริษัทมียอดขายทั่วโลกประมาณ 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ