วันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ ‘ทศวรรษแห่งดิจิทัล’ อย่างแท้จริง เห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เดลิเวอรี และบริการด้านการเงินดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากกว่า 4.95 พันล้านคน ขณะที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 62.5% ของประชากรโลกทั้งหมด หรือเติบโตขึ้นถึง 192 ล้านคนในปีที่ผ่านมา
ล่าสุด PwC ได้จัดทำรายงาน Unicorns in digital economy: 5 emerging trends ที่เปิดเผยถึง 5 เทรนด์ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ซึ่งกระจายอยู่ในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของโลก โดยในวันนี้ผมจะขอนำเทรนด์ธุรกิจยูนิคอร์นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่น่าสนใจจากรายงานดังกล่าว มาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านทุกท่าน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เปิดความท้าทายใหม่ของ ‘วิชัย ทองแตง’ ปั้นสตาร์ทอัพไทยขึ้นแท่นยูนิคอร์น
- SCB 10X คว้าที่ 2 ใน การจัดอันดับ Global CVC ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้าน FinTech และอันดับ 8 จาก CVC ทั่วโลก
- ‘ORZON Ventures’ ประกาศลงทุนใน 5 สตาร์ทอัพ หนุนผู้ประกอบการผนึกกำลังต่อยอดกลยุทธ์ Mobility และ Lifestyle
1. ยุคของแพลตฟอร์มการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร
แม้ธุรกิจจำนวนมากจะต้องหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่จำนวนยูนิคอร์นประเภทฟินเทค (FinTech) กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าจาก 36 แห่งในปี 2559 เป็น 159 แห่งในปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ โดยพวกเขาคาดหวังว่า การจับจ่ายใช้สอยจะต้องง่าย สะดวก และรวดเร็วผ่านปลายนิ้วมือ ดังนั้นกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสทองของผู้ให้บริการทางการเงิน ที่จะต้องสร้างความแตกต่างเพื่อเอาชนะใจผู้บริโภคผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อชูจุดเด่นของการเป็นแพลตฟอร์มบริการทางการเงินที่ครบวงจร นอกเหนือไปจากการให้บริการการชำระเงินเพียงอย่างเดียว เช่น ให้บริการสินเชื่อในรูปแบบของบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ดิจิทัลแบงกิ้ง ประกัน และการบริหารความมั่งคั่ง รวมไปถึงการพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
2. จากรถยนต์ไฟฟ้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน
กระแสความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจมากขึ้นในหลายธุรกิจ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หันมาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ตื่นตัวในเรื่องของกระแสรักษ์โลกมากขึ้น ล่าสุดรายงาน Electric Vehicle Sales Review Full Year 2021ของ Strategy& ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 121% จากปี 2563 มาอยู่ที่ 4.4 ล้านคันในปี 2564 นั่นแปลว่า นอกจากการขยายตัวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจผู้ให้บริการโซลูชันและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศใหม่ๆ เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรด้วย ทั้งการมีแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมเพื่อช่วยในการค้นหารถ การจองสถานีชาร์จ และการชำระเงิน เป็นต้น
โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในระดับยูนิคอร์นถึง 17 บริษัท และยังมีแนวโน้มว่า ความต้องการของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่ากระแสของรถยนต์ไฟฟ้าจะสร้างความท้าทายต่อบริษัทรถยนต์สันดาปและบริษัทน้ำมันไม่น้อย แต่ผู้ประกอบการยังคงสามารถขยายการลงทุนไปในธุรกิจเพื่อรองรับกับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าได้ เช่น การผลิตพลังงานทดแทน ชิ้นส่วน แบตเตอรี่ หรือสถานีชาร์จ เป็นต้น
3. เจาะตลาดลูกค้ากลุ่ม Gen Z ในโลก Metaverse
สาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้โลกปรับสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะการขยายตัวของประชากรกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี โดยประชากรกลุ่มนี้กำลังก้าวขึ้นมามีอิทธิพลต่อสังคมและเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งหันมาจับกระแส ‘Metaverse’ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างโลกทางกายภาพและโลกเสมือนเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น ธุรกิจเกมมิงที่ใช้ Metaverse มาสร้างประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจ ทำให้เสมือนว่าผู้เล่นเป็นส่วนหนึ่งของเกมนั้นจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้ Metaverse กับธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) เพื่อยกระดับการเรียนรู้ผ่านเกมที่สอดแทรกเนื้อหาบทเรียนลงไป โดย รายงานของ PwC ฉบับนี้ยังเปิดเผยว่า สตาร์ทอัพในกลุ่มธุรกิจ Edtech เกมมิงและสตรีมมิงสามารถระดมทุนได้มากถึง 29.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 และยังเป็นการตอกย้ำว่า เมื่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเชื่อมโยงกับโลกดิจิทัลมากขึ้น แบรนด์ที่จับกระแส Metaverse ได้ก่อน ก็จะสามารถช่วงชิงความได้เปรียบ และสร้างการเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
4. ธุรกิจขนส่งจะเกิดการพลิกโฉมครั้งใหญ่
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ธุรกิจการใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Ride Sharing) ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกคาดการณ์ว่า จะเข้ามาปฏิวัติวงการยานยนต์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อผู้คนเดินทางน้อยลง สวนทางกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของระบบเศรษฐกิจการใช้จ่าย และการบริโภคที่บ้าน (Stay-at-Home Economy) โดยแพลตฟอร์มอย่างฟู้ดเดลิเวอรี และอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นช่องทางหลักในการจับจ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนวัตกรรมการชำระเงิน และธุรกิจจัดส่งสินค้าและบริการกลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการในยุคนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นธุรกิจ Ride Sharing ขยายมาให้บริการเดลิเวอรีและขนส่งมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของการบริโภคและการใช้จ่ายจากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับ-ส่งสินค้าจากร้านค้าปลีก หรือร้านอาหาร เป็นต้น
5. การให้บริการทางการแพทย์บนพื้นที่เสมือนจริงจะยิ่งบูม
ข้อมูลจาก รายงานจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ ของสหรัฐอเมริกาพบว่า ตัวเลขการใช้บริการสุขภาพทางไกล (Telehealth) เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้นกว่า 154% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จากการที่ผู้บริโภคหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 5G ที่ช่วยยกระดับการรักษาพยาบาล และการบริการทางการแพทย์ทางไกล
รายงานของ PwC ยังระบุว่า การใช้บริการแบบ Telehealth จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าวันหนึ่งการแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลายลง เพราะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคนี้ไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพแบบเดิมๆ ทำให้ต้องเร่งปรับเกมเพื่อตามให้ทันผู้เล่นหน้าใหม่ โดยปัจจุบันมีธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพ ก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีธุรกิจด้าน Telehealth ใหม่ๆ ในระดับยูนิคอร์นถึง 13 บริษัทในเวลานี้
อ้างอิง:
- Unicorns in digital economy: 5 emerging trends, PwC
- Digital 2022: Global Overview Report, DataReportal
- Electric Vehicle Sales Review Full Year 2021, strategy&
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP