×

UNICEF ชี้ เยาวชนไทยที่เลิกเรียนกลางคัน-ว่างงานเกือบ 7 ใน 10 คน ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะหรือหางาน

โดย THE STANDARD TEAM
23.03.2023
  • LOADING...

UNICEF เผยรายงานฉบับใหม่เมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) พบว่า จำนวนเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง 

 

โดยปัจจุบันมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปีประมาณ 1.4 ล้านคนอยู่ในกลุ่ม NEET (หรือคิดเป็น 15% ของเยาวชนทั้งหมด) และเยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ (68%) หรือเกือบ 7 ใน 10 ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะหรือหางานทำ เพราะรู้สึกว่าตนเองขาดโอกาส

 

รายงานใหม่นี้ชื่อว่า ‘งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย’ จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) เป็นงานวิจัยเชิงลึกชิ้นแรกที่นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับเยาวชนกลุ่ม NEET ในประเทศไทย โดยได้ศึกษาปัจจัยที่ทำให้เยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน รวมทั้งชี้ให้เห็นช่องว่างของนโยบายและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนนำเสนอแนวทางการแก้ไขเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว

 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประมาณ 70% ของเยาวชนกลุ่ม NEET เป็นผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่ออกจากโรงเรียนเมื่อตั้งครรภ์หรือมีภาระต้องดูแลคนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เยาวชนกลายเป็นกลุ่ม NEET นั้นซับซ้อนและมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ระดับการศึกษา การขาดโอกาสและแรงสนับสนุน สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงในการเป็น NEET

 

คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่เยาวชนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่ม NEET ถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นั่นแปลว่าเด็กและเยาวชนในวันนี้จะต้องมีความสามารถ มีทักษะ และมีศักยภาพมากกว่าคนรุ่นก่อน เพื่อที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมได้ และนั่นก็หมายความว่าเรามีภารกิจอันเร่งด่วนที่ต้องช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และการฝึกอบรมทักษะที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่ และเป็นพลเมืองที่ร่วมสร้างความรุ่งเรืองและเท่าเทียมให้แก่ประเทศ”

 

รายงานยังระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ถดถอย การตกงาน หรือการหางานที่ยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเรียนรู้และการเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะที่ลดลง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เยาวชนเกิดความท้อแท้และขาดแรงจูงใจในการเรียนหนังสือ ฝึกทักษะ หรือหางาน และกลายเป็นกลุ่ม NEET มากขึ้น 

 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนเยาวชนที่อยู่ในตลาดแรงงานลดลงจาก 4.8 ล้านคนในปี 2011 เหลือ 3.7 ล้านคนในปี 2564 โดยที่อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2554 เป็น 6.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยสูงกว่าอัตราการว่างงานของวัยผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ที่ 0.7%

 

ในปี 2565 สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน และยูนิเซฟ ได้จัดทำการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 10-25 ปีกว่า 55,000 คนทั่วประเทศ และพบว่ามีเยาวชนไม่ถึง 40% ที่รู้สึกว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันช่วยให้พวกเขามีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ในขณะที่เพียง 36% เห็นว่าการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนจัดให้นั้นมีประสิทธิผล 

 

รายงานใหม่ของ UNICEF ยังระบุถึงความท้าทายต่างๆ ในการจัดการปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET เช่น การขาดนโยบายร่วม และการขาดการประสานงานหรือการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้บริการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการจัดหางานมีอยู่อย่างจำกัด แยกส่วน และไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยผู้นำและความมุ่งมั่นจากผู้กำหนดนโยบายในระดับสูงในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

สุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเยาวชน NEET และต้องให้การสนับสนุนเพื่อให้พวกเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เข้าถึงการฝึกอบรม และมีการจ้างงานที่มีคุณภาพ หนทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือการบูรณาการความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ให้ความช่วยเหลือทางสังคม และผลักดันการมีส่วนร่วมของเยาวชน รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการศึกษา การฝึกอาชีพ และการจ้างงานแก่เยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21”

 

UNICEF เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จทั่วประเทศ เพื่อให้การสนับสนุนแบบครบวงจรและตอบโจทย์เยาวชนทั่วไปและเยาวชนกลุ่ม NEET โดยบริการดังกล่าว ได้แก่ การให้คำปรึกษา การส่งเสริมการมีส่วนร่วม การสนับสนุนทางการเงินและแหล่งทุนที่เข้าถึงได้ เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางให้กลับมาเรียน ฝึกทักษะ หรือทำงานได้ ซึ่งข้อเสนอนี้เป็น 1 ใน 7 ข้อเรียกร้องจาก UNICEF สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทย

 

คิมกล่าวเสริมว่า “จะเห็นได้ชัดว่าเยาวชนกลุ่ม NEET มีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับความยากจน การถูกกีดกัน และมักขาดโอกาสและช่องทางที่จะเพิ่มพูนทักษะและความสามารถของตนเอง ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาโอกาสในการจ้างงาน การศึกษา และการฝึกอบรม ตลอดจนการส่งเสริมให้สังคมยอมรับเยาวชนที่ขาดโอกาส จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของไทย หากประเทศไทยต้องการเขยิบฐานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้าและเท่าเทียม”

 

ดาวน์โหลดผลการศึกษา ‘งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย’ ภาษาไทย / ภาษาอังกฤษ

 

ภาพ: ยูนิเซฟ ประเทศไทย

อ้างอิง: 

  • ยูนิเซฟ ประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X