งานวิจัยล่าสุดจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่เผยแพร่ลงในเว็บไซต์วานนี้ (19 เมษายน) แสดงให้เห็นข้อมูลประมาณการว่า เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มี ‘เจ้าสาวเด็ก’ มากที่สุดในโลก จำนวนกว่า 290 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 45% ของทั้งโลก
ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวมาจากการสัมภาษณ์และจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ใน 16 สถานที่ ทั้งในบังกลาเทศ อินเดีย และเนปาล ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กหญิงจำนวนมากถูกบังคับแต่งงาน และบางส่วนเป็นผลจากการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา อาทิ แรงกดดันทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด และการที่เด็กหญิงไม่ได้ไปเรียนเพราะโควิดระบาด ทำให้หลายครอบครัวบังคับลูกสาววัยเยาว์แต่งงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หรือการมีมุมมองผิดๆ ของพ่อแม่ที่คิดว่าลูกสาวอาจ ‘ประพฤติตัวไม่ดี’ เมื่อไม่ไปเรียน และมองว่าการแต่งงานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา
UNICEF เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เพิ่มความพยายามมากขึ้นในการยุติปัญหาการบังคับเด็กแต่งงาน ขณะที่ โนอาลา สกินเนอร์ (Noala Skinner) ผู้อำนวยการ UNICEF ประจำเอเชียใต้ กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงที่ว่าเอเชียใต้มีปัญหาการให้เด็กแต่งงานเพราะเป็นภาระสูงที่สุดในโลกนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กทำให้เด็กผู้หญิงขาดการเรียนรู้ ทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเธอตกอยู่ในความเสี่ยง และทำให้อนาคตของพวกเธอแย่ลง”
ทั้งนี้ กฎหมายของหลายประเทศในเอเชียใต้ มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการแต่งงานตามกฎหมายสำหรับผู้หญิง โดยเนปาลกำหนดอายุขั้นต่ำ 20 ปี อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ 18 ปี และอัฟกานิสถาน 16 ปี
ขณะที่ UNICEF ระบุแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ ได้แก่ การออกมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อต่อต้านความยากจน การปกป้องสิทธิด้านการศึกษาของเด็กทุกคน การมีกรอบการทำงานที่เหมาะสมเพื่อบังคับใช้กฎหมาย และการเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อแก้ไขแนวคิดหรือบรรทัดฐานทางสังคมในการให้เด็กแต่งงาน
ภาพ: Kate Geraghty / Fairfax Media via Getty Images via Getty Images
อ้างอิง: