×

รายงาน UNICEF ชี้ เด็ก 559 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในปี 2050

โดย THE STANDARD TEAM
27.10.2022
  • LOADING...
เด็ก

วานนี้ (26 ตุลาคม) ผลการศึกษาล่าสุดของ UNICEF ระบุว่า “เด็กจำนวน 559 ล้านคนกำลังเผชิญหน้ากับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง* และตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 4 เท่าในปี 2050 ขณะที่เด็กจำนวน 624 ล้านคนกำลังเผชิญกับวิกฤตความร้อนประเภทใดประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดคลื่นความร้อนยาวนาน การเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง หรือสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง

 

UNICEF จึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มงบประมาณอย่างเร่งด่วนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องเด็กและชุมชนเปราะบางจากการเกิดคลื่นความร้อนและผลกระทบอื่นๆ ที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

 

ในปีที่คลื่นความร้อนทั้งในซีกโลกเหนือและใต้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ รายงาน ‘The Coldest Year of the Rest of Their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves’ ของ UNICEF ชี้ให้เห็นผลกระทบของการเกิดคลื่นความร้อนต่อเด็กในวงกว้าง และเผยให้เห็นว่า แม้นานาประเทศจะประสบความสำเร็จในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่าค่าเป้าหมาย แต่เด็กทั่วโลกก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งได้ในช่วง 3 ทศวรรษนับจากนี้

 

รายงานดังกล่าวประเมินว่า ภายในปี 2050 เด็กทั่วโลกจำนวน 2.02 พันล้านคนจะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้งขึ้น ไม่ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ (Low Greenhouse Gas Emission Scenario) หรือจะยังอยู่ในระดับสูงมาก (Very High Greenhouse Gas Emission Scenario) ซึ่งอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.7 และ 2.4 องศาเซลเซียส ตามลำดับ 

 

รายงานยังชี้ให้เห็นว่า ความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนในประเทศไทยก็น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่าร้อยละ 75 หรือราว 10.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เด็กแทบทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นในปี 2050

 

ผลการศึกษาในรายงานฉบับนี้ย้ำให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนของการยกระดับบริการต่างๆ สำหรับเด็ก เพื่อรองรับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากสภาวะโลกร้อน รวมทั้งความจำเป็นเร่งด่วนของการพยายามบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตความร้อนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เกิดเป็นระยะเวลายาวนานและรุนแรงขึ้น รวมทั้งอุณหภูมิที่สูงสุดโต่งขึ้น

 

แคธรีน รัสเซล ผู้อำนวยการใหญ่ของ UNICEF กล่าวว่า “สารปรอทในอากาศรวมทั้งผลกระทบต่อเด็กกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันเด็ก 1 ใน 3 คน อาศัยในประเทศที่กำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง และเด็กเกือบ 1 ใน 4 คน กำลังเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง สถานการณ์ดังกล่าวกำลังแย่ลงเรื่อยๆ โดยในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า จะมีเด็กจำนวนมากขึ้นที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่เกิดยาวนานขึ้น รุนแรงขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะต่อสุขภาพและสุขภาวะของพวกเขา 

 

“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในวันนี้ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีก 2 เท่าภายในปี 2050 ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะปกป้องชีวิตและอนาคตของเด็กและอนาคตของโลกใบนี้”

 

คลื่นความร้อนมีอันตรายอย่างยิ่งต่อเด็ก เพราะพวกเขามีความสามารถน้อยกว่าผู้ใหญ่ในการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย ยิ่งเด็กเผชิญกับคลื่นความร้อนมากเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะมีปัญหาสุขภาพก็สูงขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ทารกและเด็กเล็กคือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุดต่อการเสียชีวิตจากการเกิดคลื่นความร้อน

 

นอกจากนี้การเกิดคลื่นความร้อนยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย โภชนาการ การเข้าถึงน้ำสะอาด การศึกษา และความเป็นอยู่ในอนาคตของเด็กอีกด้วย

 

รายงานของ UNICEF พบว่า การเกิดคลื่นความร้อนยาวนานกำลังส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวน 538 ล้านราย หรือร้อยละ 23 ของเด็กทั่วโลก ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านรายในปี 2050 หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.7 องศาเซลเซียส หรือ 1.9 พันล้านรายหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2.4 องศาเซลเซียส ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการมีมาตรการปรับตัวเพื่อควบคุมสภาวะโลกร้อนและปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างเร่งด่วน

 

เด็กอีกหลายล้านคนจะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง โดยขึ้นอยู่กับว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเพียงใด โดยภายในปี 2050 เด็กในซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะยุโรป จะเผชิญกับการเกิดคลื่นความร้อนที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กในทวีปแอฟริกาและเอเชียจะเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่งอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันประเทศที่เด็กกำลังเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่งมีจำนวน 23 ประเทศ โดยจะเพิ่มเป็น 33 ประเทศภายในปี 2050 หากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ หรือจะเพิ่มขึ้นเป็น 36 ประเทศหากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังอยู่ในระดับสูงมาก ทั้งนี้ ประเทศบูร์กินาฟาโซ, ชาด, มาลี, ไนเจอร์, ซูดาน, อิรัก, ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย คือประเทศที่คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นไปตามกรณีใดก็ตาม

 

วาเนสซา นาคาเต นักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทูตสันถวไมตรี UNICEF กล่าวว่า “ภัยพิบัติต่างๆ ในปี 2022 ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ คลื่นความร้อนคือตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะแม้ปีนี้จะเป็นปีที่เกือบทุกมุมโลกมีอากาศร้อนขึ้น แต่ก็จะเป็นปีที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในชีวิตของเรา หลังจากนี้อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้นำประเทศต่างๆ ยังไม่รู้สึกถึงความร้อนดังกล่าว  

 

“ดังนั้นทางเลือกเดียวของเราคือ การเพิ่มแรงกดดันให้ผู้นำประเทศต่างๆ ตัดสินใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวในการประชุม COP27 เพื่อเด็กทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่สุด ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คลื่นความร้อนจะยิ่งรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากยังไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน” 

 

องค์การ UNICEF ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 

 

1. ปกป้องเด็กจากภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการปรับปรุงบริการทางสังคม

ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนบริการทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) ความสะอาด สุขภาพ การศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองทางสังคม และการคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการผลิตอาหาร เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและเป็นหลักประกันการเข้าถึงโภชนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มงบประมาณเพื่อการป้องกันปัญหา การเฝ้าระวัง และการให้การรักษาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก แม่ และประชากรในกลุ่มเปราะบาง 

 

ทั้งนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP27 จะต้องให้ความสำคัญกับเด็กและสิทธิเด็ก

 

2. เตรียมความพร้อมให้เด็กมีชีวิตอยู่ในโลกที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ทุกประเทศต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงของภัยพิบัติ และการฝึกอบรมทักษะสีเขียวแก่เด็ก รวมทั้งเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการตัดสินเชิงนโยบายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ  

 

ทั้งนี้ ในการประชุม COP27 ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) รวมทั้งคำมั่นต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เยาวชน

 

3. ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ประเทศพัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในการประชุม COP26 ที่จะเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2025 และอย่างน้อย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2030 โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับตัวจะต้องมีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด  

 

ทั้งนี้ การประชุม COP27 จะต้องมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาแล้ว และให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นของเด็กและชุมชนในการหารือเกี่ยวกับมาตรการและการสนับสนุนต่างๆ    

 

4. ป้องกันภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการยึดมั่นเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส 

มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 14 ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความวิบัติจากสภาวะโลกร้อน รัฐบาลทุกประเทศต้องทบทวนนโยบายและแผนการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีเป้าหมายสูงขึ้น โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 45 ภายในปี 2030 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ร่วมกันในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015

 

ภาพ: Fani Llaurado / UNICEF

เรื่องและอ้างอิง: 

  • UNICEF
FYI
  • คำจำกัดความต่างๆ
    • การเกิดคลื่นความร้อน: ช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันอยู่ในช่วงร้อยละ 10 บนของอุณหภูมิเฉลี่ย 15 วัน ติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
    • *การเกิดคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง: สถานการณ์ที่คลื่นความร้อนเกิดขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.5 ครั้งต่อปี
    • การเกิดคลื่นความร้อนยาวนาน: สถานการณ์ที่การเกิดคลื่นความร้อนแต่ละครั้งมีระยะเวลาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.7 วัน 
    • การเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง: สถานการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเวลาที่เกิดคลื่นความร้อนสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 15 วัน เท่ากับหรือมากกว่า 2 องศาเซลเซียส
    • สภาวะอุณหภูมิสูงสุดโต่ง: สภาวะที่จำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เท่ากับหรือมากกว่า 83.54 วันต่อปี 
    • ฉากทัศน์ที่ 1 ในปี 2050: ‘ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับต่ำ (Low Greenhouse Gas Emission Scenario)’ ซึ่งอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.7 องศาเซลเซียสในปี 2050 ฉากทัศน์ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดย IPCC โดยมีชื่อเรียกว่า ‘SSP1’ 
    • ฉากทัศน์ที่ 2 ในปี 2050: ‘ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูงมาก (Very High Greenhouse Gas Emission Scenario)’ ซึ่งอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 2.4 องศาเซลเซียสในปี 2050 ฉากทัศน์ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดย IPCC โดยมีชื่อเรียกว่า ‘SSP5’
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising