×

UNICEF เรียกร้องให้ขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า เพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่นช่วงฟื้นฟูจากโควิด

โดย THE STANDARD TEAM
07.06.2022
  • LOADING...
UNICEF

วันนี้ (7 มิถุนายน) UNICEF เน้นย้ำว่า ประเทศไทยควรขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด

 

คิมคยองซัน ผู้อำนวยการองค์การ UNICEF ประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่รัฐสภาวันนี้ว่า การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าในเวลานี้ถือว่าจำเป็นยิ่งกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ครอบครัวจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้หรือตกงาน วิกฤตครั้งนี้ได้สร้างความเปราะบางให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ก่อนการแพร่ระบาดพ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องดิ้นรนหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลลูกไปพร้อมๆ กันอยู่แล้ว พอเกิดวิกฤตก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่โอกาสหารายได้กลับลดลง การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนให้กับทุกครอบครัวที่มีเด็กเล็กจึงเป็นการช่วยให้พวกเขามีรายได้ขั้นพื้นฐาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพให้กับประเทศด้วย

 

งานเสวนานี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการการแรงงาน คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และองค์การ UNICEF ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรัฐสภาตระหนักถึงความสำคัญของสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลควรต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับสวัสดิการดังกล่าว

 

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำสำหรับเด็กเล็ก โดยริเริ่มในปี 2558 และขยายความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จำนวน 2.3 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี

 

เมื่อเดือนกันยายน 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ได้เห็นชอบในหลักการให้ขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันกำลังรอการพิจารณาและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยหากได้รับการอนุมัติจะครอบคลุมเด็กแรกเกิดถึงหกปี จำนวนทั้งหมด 4.2 ล้านคนทั่วประเทศ

 

ผลการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในปี 2561 ระบุว่า ครอบครัวยากจนที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กประมาณร้อยละ 30 กลับตกหล่นจากการเข้าถึงสวัสดิการนี้ ซึ่งมักเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการคัดกรองและการลงทะเบียน โดยเป็นปัญหาที่พบบ่อยในหลายประเทศทั่วโลกที่ให้สวัสดิการเงินอุดหนุนโดยเน้นไปที่กลุ่มประชากรยากจน 

 

ด้าน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและกำลังเผชิญกับดักรายได้ปานกลาง เราไม่สามารถปล่อยให้เด็กๆ สูญเสียโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพได้เลย ค่าเสียโอกาสนั้นราคาแพงเกินไป 

 

การขยายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 15,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.16 ของประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ปี 2567 อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ใช้จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเกิดในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าในปี 2570 งบประมาณที่ใช้จะอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหลักฐานชี้ชัดว่าประเทศไทยมีความสามารถในการจัดงบประมาณเพื่อขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมโดยยังคงรักษาความยั่งยืนทางการคลังไว้ได้

 

ขณะที่ คิมคยองซัน กล่าวเสริมว่า การลงทุนในช่วงปฐมวัยของเด็กถือเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดและคุ้มค่าที่สุด โดยประเทศไทยมีศักยภาพสามารถทำได้ เพราะช่วงหกปีแรกของชีวิตเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเด็กทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตที่แข็งแรง เรียนรู้อย่างเต็มที่ มีรายได้ดีในอนาคต ตลอดจนมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น และนั่นหมายความว่าการเพิกเฉยอาจจะมีราคาที่แพงกว่าการลงทุนให้กับเด็กๆ UNICEF หวังว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าตามมติ กดยช. ซึ่งถือเป็นการลงทุนในเด็กในช่วงที่สำคัญที่สุดของชีวิต

 

เรื่องและภาพ:  UNICEF ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X