รายงาน Global Education Monitoring Report จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ที่ออกมาล่าสุดนี้ ระบุว่า โรงเรียนทุกแห่งควรสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนใช้งานสมาร์ทโฟนในห้องเรียนเพื่อไม่ให้รบกวนการเรียนการสอน ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก พร้อมช่วยปกป้องพวกเขาจากการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ด้วย
UNESCO เปิดเผยว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการใช้งานสมาร์ทโฟนมากเกินไปมีส่วนเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการศึกษาที่ลดลง และการใช้เวลาดูหน้าจอที่นานเกินไปนั้นส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็กด้วย พร้อมระบุว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมดในภาพรวม ซึ่งรวมถึง AI ด้วยนั้น ไม่ควรจะมีบทบาทเหนือการเรียนการสอนที่เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งมีการพูดคุยและเห็นหน้ากันจริงๆ
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์จนแทบจะแยกกันไม่ออก UNESCO กล่าวเตือนผู้กำหนดนโยบายของชาติต่างๆ ให้ระวังการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากเกินไปโดยขาดความรอบคอบ โดยระบุว่า ผลลัพธ์เชิงบวกต่อภาคการเรียนรู้และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่ได้รับมาจากเทคโนโลยีที่คาดหวังกันไว้นั้น ‘อาจเกินจริง’ และสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่ได้เท่ากับว่ามันจะดีเสมอไป
“ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างความก้าวหน้า บางสิ่งสามารถทำได้ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะทำ” รายงานระบุ
นับตั้งแต่ที่โควิดระบาดเมื่อหลายปีก่อน การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่ง UNESCO เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายอย่าละเลยต่อ ‘มิติทางสังคม’ ในภาคการศึกษา ซึ่งหมายถึงการที่นักศึกษาได้มีโอกาสมานั่งเรียนในชั้นเรียนร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ และได้พบกับผู้สอนแบบตัวต่อตัว
ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการทั่วไปของ UNESCO กล่าวว่า “การปฏิวัติทางดิจิทัลมีศักยภาพมากมายที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่ในขณะที่โลกของเรามีการเตือนอยู่เสมอเกี่ยวกับการควบคุมเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมในสังคม เราก็ต้องให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวในภาคการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน
“การใช้งานเทคโนโลยีจะต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนและครู ไม่ใช่เพื่อสร้างผลเสียต่อพวกเขา…การเชื่อมต่อทางออนไลน์ไม่สามารถแทนที่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ได้”
อ้างอิง: