×

การออกเดตยุคนี้ไม่ง่าย ‘คู่แข่งเยอะจนหลายคนท้อ’ วัยรุ่นเลยขอให้ AI ช่วยเป็นกามเทพที

16.02.2024
  • LOADING...
การออกเดต

ผ่านไปอีกหนึ่งปีสำหรับเทศกาลวาเลนไทน์ หลายคนคงได้ใช้เวลากับคนรัก แต่คนบางกลุ่มก็อาจติดภารกิจบางอย่างจนไม่มีเวลา หรือบ้างก็ยังคงตามหาคนคนนั้นที่จะมาอยู่ข้างกัน

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การจะเขียนข้อความไปหาใครที่เราชอบสักคนอาจต้องอาศัยไอเดียคำคมจากนิตยสาร หรือปรึกษากับเพื่อนในกลุ่ม เพื่อให้ได้ข้อความที่เหมาะสมที่สุดก่อนจะส่งไปหาคนที่เราอยากพัฒนาความสัมพันธ์ด้วย

 

แต่วาเลนไทน์ในปี 2024 ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะคนหันไปหาคู่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น หากแต่คนที่ใช้แอปหาคู่ออนไลน์กำลังหันไปหา AI ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพวกเขาให้ AI ช่วยเขียนข้อความ แนะนำการแต่งโปรไฟล์ รวมถึงประเมินความเข้ากันของเจ้าตัวและคนที่เราต้องการจะรู้จัก

 

เหนื่อย? ไม่มีเวลา? ลองหา AI มาช่วยคุยสิ

Pollfish แพลตฟอร์มสร้างแบบสอบถามด้วย AI ได้เผยข้อมูลที่บริษัทเก็บมาและพบว่า 1 ใน 3 ของชายชาวอเมริกันอายุ 18-34 ปี มีการใช้งาน ChatGPT เพื่อขอคำแนะนำการออกเดต ในขณะที่ผู้หญิงกลุ่มเดียวกันใช้เพียง 14% และสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านการเขียนข้อความชวนคุยเพื่อสานสัมพันธ์ความรักได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

 

Aleksandr Zhadan ชายหนุ่มชาวรัสเซียที่มีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์คนหนึ่งได้เขียนโปรแกรมให้ ChatGPT ไปคุยกับผู้หญิงแทนตัวเองกว่า 5,239 คนบน Tinder จนในวันนี้เขาได้หมั้นกับผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว

 

หรือจะเป็นชายชาวนิวยอร์กอีกคนที่ใช้ ChatGPT โดยการนำข้อความที่ฝ่ายหญิงส่งมาให้เข้าสู่แชตบอต และสั่งให้มันทำตัวเหมือนเป็นคนโสดแต่มีจุดประสงค์ที่ต้องการจะออกเดต จนในที่สุดเขาก็สมหวังและออกเดตกับผู้หญิงที่เขาสนใจได้สำเร็จ ซึ่งชายคนนี้ได้อธิบายถึงเหตุผลที่เขาเลือกใช้ AI กับ CNBC ไว้ว่าการพูดคุยผ่านข้อความบนแอปหาคู่เป็นอะไรที่ยากและเขาไม่ชอบมากที่สุด

 

อีกหนึ่งแอปที่กำลังมาแรงอย่าง YourMove.AI ที่เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเขียนข้อความ วิเคราะห์บทสนทนา และประเมินโปรไฟล์ มียอดผู้ใช้งานแล้ว 250,000 คน โดยจำนวนการเข้าชมเว็บไซต์ต่อเดือนอยู่ที่ 200,000 ครั้ง อีกทั้งรายได้แอปยังโต 20% แบบเดือนต่อเดือนด้วย

 

การออกเดตไม่ใช่เรื่องง่าย

Roman Khaves และ Josh Miller ผู้ก่อตั้ง RIZZ แอปพลิเคชันที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้หนุ่มสาวสามารถออกเดตได้สำเร็จ ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาทั้งสองมีไอเดียที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการช่วยคนหาคู่เดตมาหลายปีแล้ว แต่ปัญหาคือการจะสร้างบริการนั้นจำเป็นจะต้องใช้โค้ชสอนออกเดตที่เป็นมนุษย์จำนวนมาก เพราะเทคโนโลยีในด้านนี้ยังไม่เกิด

 

แต่หลังจากปลายปี 2022 ที่กระแส ChatGPT พุ่งกระฉูด แอปพลิเคชันที่ชื่อ RIZZ ก็ถือกำเนิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และในปัจจุบัน RIZZ มียอดดาวน์โหลดแล้ว 3.5 ล้านครั้ง ด้วยผู้ใช้งานประมาณ 1 ล้านรายต่อเดือน ซึ่งทางบริษัทเคลมว่ายอดผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้น 30% ในทุกเดือนของไตรมาสที่แล้ว

 

“การออกเดตเป็นเรื่องที่ยาก มันกลายเป็นเหมือนงานประจำอันที่ 2 สำหรับหลายคนไปแล้ว และคนจำนวนมากก็กำลังหนักใจกับเรื่องนี้อยู่ เพราะเดี๋ยวนี้การแข่งขันสูงมาก คนที่จะหาคู่ออนไลน์ไม่เพียงแต่จะต้องมีรูปโปรไฟล์ที่ดูดี แต่จะต้องรู้เทคนิคการสนทนาด้วย” Roman กล่าว

 

ทีนี้สำหรับบางคนที่อาจเคยมีประสบการณ์การคุยกับคนที่เราสนใจ แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราพิมพ์ไปนั้นควรส่งหรือไม่ควรส่ง? โทนของข้อความเรามันน่าเบื่อเกินหรือออกตัวแรงไป? ซึ่งบางครั้ง บางข้อความเรามองว่ามันเชยไปจนไม่กล้าถามเพื่อน อีกทั้งคงไม่มีเพื่อนคนไหนมานั่งไล่ข้อความทั้งหมดที่เราคุยกับใครสักคน แต่ปัญหานั้นกำลังถูกแก้อยู่ด้วย Amori

 

Alex Weitzman ผู้สร้าง Amori ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมของ OpenAI อธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันว่ามันสามารถย้อนดูประวัติการแชตบน WhatsApp หรือ iMessage เพื่อวิเคราะห์ความเข้ากันได้ของคู่สนทนา จนกระทั่งถึงกับลองทายว่าแต่ละคนมีสไตล์ความรักความผูกพันแบบใด (Attachment Style) ซึ่งเจ้า Amori สามารถใช้การประมวลผลที่รวดเร็วในการชี้จุดให้เราได้อย่างแม่นยำกว่า ว่าการวิเคราะห์ของมันมาจากข้อความไหน วันไหน เมื่อไรที่เราส่งไป

 

มากไปกว่านั้น Alex ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้ Amori มีการวิเคราะห์ได้มากขึ้นอีก เช่น การชี้เป้าสัญญาณอันตรายว่าหนุ่มคนนี้อาจจะในรูปแบบของ “F***boy” หรือคนประเภทที่ไม่สนใจความสัมพันธ์ระยะยาว แต่ต้องการแค่ความสนุกชั่ววูบ

 

เหรียญมีสองด้านเสมอ

แม้ว่าแอปที่ช่วยแนะนำการพัฒนาความสัมพันธ์จะพิสูจน์ให้เห็นข้อดีอยู่ได้ไม่น้อย แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสถานการณ์ และตัวเทคโนโลยีเองก็ยังสามารถทำพลาดได้และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา

 

การเลือกพึ่งพา AI มากเกินไปเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์คงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ซึ่งก็เหมือนกันกับการพึ่งพามันเพื่อทำสิ่งต่างๆ โดยที่ตัวเราไม่คิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง

 

แม้ว่าการใช้ AI คือหนึ่งในตัวเลือกที่ช่วยจุดประกายการสนทนาในครั้งแรกๆ ได้ แต่เอามันมาใช้ในทุกๆ ครั้งก็สามารถนำไปสู่ปัญหา ‘ความสัมพันธ์ที่ไม่แท้จริง’ ได้เช่นเดียวกัน

 

Marie Bobby นักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์ชวนตั้งคำถามว่า “การที่ใครคนนั้นเขาหันมาสนใจจะคุยกับเรา แต่มันเป็นเพราะสิ่งที่ AI ช่วยคุยแทนที่จะเป็นตัวของเราเอง มันใช่ทางเดินที่ถูกต้องแล้วหรือ?” กับอีกคำถามที่น่าคิดคือ “เมื่อเราเลือกจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ เราอยากจะแสดงตัวเองในแบบที่ตัวเราไม่ใช่ตัวเราจริงหรือ?”

 

ภาพ: Donald Iain Smith

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X