×

UNDP เร่งรัดให้มุ่งสู่ทิศทางใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนามนุษย์ในประเทศไทย ท่ามกลางความผันผวนของโลก

21.11.2023
  • LOADING...
ดัชนีการพัฒนามนุษย์

การพัฒนามนุษย์จะยั่งยืนได้อย่างไร เมื่อผู้คนที่ร่ำรวยที่สุดเพียงร้อยละ 1 ของประชากรมีความมั่งคั่งมากกว่าประชาชนร้อยละ 20 ซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดถึง 2,500 เท่า

 

ถึงแม้ว่าการพัฒนามนุษย์ในภาพรวมของประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ผู้คนกลับยังไม่ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าอย่างเท่าเทียมกัน ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ของประเทศไทยในปี 2565 อยู่ที่ 0.800 โดยอันดับ HDI ปี 2565 เพิ่มขึ้น 13 อันดับเมื่อเปรียบเทียบกับอันดับในปี 2562 ทำให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก (Very High Human Development) เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2562  

 

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่อย่างแพร่หลาย และมีการกีดกันในเชิงโครงสร้าง (Structural Exclusion)  ซึ่งฝังรากลึก ทั้งในเรื่องปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึก อคติทางเพศภาวะ และภาคส่วนนอกระบบที่มีขนาดใหญ่

 

สำหรับในประเทศไทย ต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำประการหนึ่งคือ ความไม่เท่าเทียมในด้านความมั่งคั่ง Credit​ Suisse ระบุในรายงานความมั่งคั่งทั่วโลก (Global Wealth Report) ปี 2565 ฉบับล่าสุดว่า ประชากรไทยที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งรายบุคคลเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า 

 

นอกจากนี้การวิจัยโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเปิดเผยว่า ประชากรที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 5 ยังเป็นเจ้าของที่ดินถึงร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนประชากรร้อยละ 75 ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 

 

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิดและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยและทั่วทั้งโลกยังเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมในสามมิติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ซึ่งจัดทำโดย Germanwatch เมื่อปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก และติดอันดับที่ 9 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยกลุ่มประชากรยากจนและกลุ่มชายขอบในสังคมได้รับผลกระทบและความเสียหายมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

ถึงแม้ว่าดัชนีความรู้สึกไม่มั่นคงของมนุษย์ (Index of Perceived Human Insecurity) ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 0.47 ซึ่งต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่หลายเรื่อง จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดและอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 6.03 คน ต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2560 เป็น 7.38 คน ต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2564

 

ท่ามกลางสภาพการณ์เช่นนี้ รายงานการประเมินการพัฒนาของประเทศไทยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดความก้าวหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะในด้านการขจัดความหิวโหยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีความถดถอย

 

จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ยังไม่บรรลุผล ความไม่มั่นคงของมนุษย์ที่รุนแรงขึ้น และอนาคตที่มีความผันผวนมากกว่าเดิม ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการโดยมุ่งไปในทิศทางใหม่ สู่การพัฒนามนุษย์อย่างสมดุลและการบรรลุเป้าหมาย SDG ภายในปี 2573

 

รายงานฉบับใหม่ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ‘ออกแบบอนาคต: ทิศทางใหม่ของการพัฒนามนุษย์ในเอเชียแปซิฟิก’ เสนอแนวทางใหม่ 3 ประการในการพัฒนามนุษย์ ได้แก่ 

 

  1. ทำให้ผู้คนเป็นหัวใจของการพัฒนา 
  2. ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเติบโต เพื่อเพิ่มการสร้างงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
  3. มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม 

 

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยแนวทางที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (People-Centered Approach) ในการเพิ่มทางเลือกของผู้คน ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่เป็นกลางทางคาร์บอนและมีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเพิ่มทางเลือกของผู้คน เช่น การยุติกฎหมายและแนวทางที่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาและโอกาสในการสร้างอาชีพที่ดีขึ้น ล้วนมีส่วนช่วยในการจัดการกับปัญหาการกีดกันเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง และช่วยรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

 

การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ผ่านการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคมและระบบสาธารณสุข รวมทั้งการเพิ่มการลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยง ล้วนมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอันเป็นต้นตอของความไม่มั่นคงของมนุษย์ และเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความผันผวนต่างๆ ไปพร้อมกัน

 

การเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่เป็นกลางทางคาร์บอนและมีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในการปรับตัวและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ของเงินอุดหนุนที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างการจัดการทางการคลัง ทั้งหมดนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเตรียมการเพื่ออนาคตสำหรับคนรุ่นหลัง

 

การจัดการปัญหาการกีดกันในเชิงโครงสร้าง (Structural Exclusion) ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ควรทำเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่เศรษฐกิจอีกด้วย 

 

สถาบัน McKinsey Global Institute แสดงให้เห็นว่า การปรับปรุงความเท่าเทียมระหว่างเพศในประเทศไทยจะช่วยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่าเท่ากับร้อยละ 12 ของ GDP ในปี 2568 

 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ในการลงทุนเพื่อเสริมสร้างสังคมสีเขียวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Green Economy) ประเด็นนี้แสดงให้เห็นชัดในแผนที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Investor Map) ของประเทศไทย ซึ่งโอกาสด้านการลงทุนที่น่าสนใจและสอดคล้องกับ SDG ถึง 10 ด้านจากทั้งหมด 15 ด้าน มุ่งเน้นภาคส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน การจัดการขยะ และการท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ในการปรับโฉมการพัฒนามนุษย์ หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต เพื่อจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบการดำเนินการและกำกับดูแล โดยสามารถเล็งเห็นถึงปัญหาและโอกาสที่อาจเกิดขึ้น ปรับตัวต่อสถานการณ์และลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป และตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการเปลี่ยนทิศทางการใช้ทรัพยากร

 

การสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำที่เน้นความร่วมมือ เพื่อปิดช่องว่างและสร้างข้อตกลงร่วมกัน อาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเจตจำนงทางการเมืองให้เข้มแข็งต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และอาศัยการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในสังคม 

 

นี่ไม่ใช่การเลือกทางใดทางหนึ่งระหว่างการสร้างศักยภาพทางแข่งขันทางเศรษฐกิจกับความสมานฉันท์ในสังคมหรือระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนการพัฒนามนุษย์อย่างสมดุลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเติบโต โดยมุ่งสู่หนทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมมากขึ้น 

 

การประชุม COP28 ที่กำลังจะมาถึง เป็นโอกาสสำคัญให้ประเทศไทยได้แสดงถึงความพยายามในการทำให้ธรรมชาติ ผู้คน และชีวิตความเป็นอยู่ เป็นหัวใจของการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ

 

นี่หมายถึงการจุดประกายความเปลี่ยนแปลงภายในภาครัฐ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลเจตจำนงทางการเมืองให้เข้มแข็งต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาได้อย่างแท้จริง 

 

การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลไทยในเรื่องการดูแลให้เกิดการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ และการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ล้วนสอดคล้องอย่างยิ่งกับทิศทางที่เสนอไว้ในรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำภูมิภาคฉบับนี้ 

 

ความก้าวหน้าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกเมื่อเราลงมือดำเนินการตามความมุ่งมั่น และการดำเนินการจะยิ่งมีผลสัมฤทธิ์เมื่อผู้คนได้รับการส่งเสริมศักยภาพและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising