×

ทำความเข้าใจการเมืองมาเลเซีย เปิดเบื้องหลังความร้าวฉานของแนวร่วมรัฐบาล และก้าวต่อไปของมหาเธร์

26.02.2020
  • LOADING...

มาเลเซียอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเรื่องราวการเมืองบทใหม่ หลังนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับการสลายแนวร่วมรัฐบาล ปากาตัน ฮาราปัน หรือแนวร่วมแห่งความหวัง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจมีการปรับคณะรัฐมนตรี หรือสลับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งทำให้การเมืองประเทศเพื่อนบ้านเรานี้ร้อนระอุไม่แพ้การเมืองไทยที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหลายคนอยู่ในเวลานี้

 

เพื่อติดตามการเมืองมาเลเซียอย่างเข้าใจยิ่งขึ้น บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักระบบการเมืองของมาเลเซีย เพื่อปูพื้นฐานสำหรับผู้อ่าน ก่อนจะไปวิเคราะห์การเดินเกมของมหาเธร์ที่น่าจับตาทุกฝีก้าว  

 

ระบบการเมืองการปกครองและสถาบันกษัตริย์

มาเลเซียมีการเมืองการปกครองในระบอบ Federal Parliamentary Elective Constitutional Monarchy นั่นคือมีระบบมลรัฐ 13 รัฐ (11 รัฐทางตะวันตก และ 2 รัฐทางตะวันออก) กับอีก 3 เขต Federal Territories (กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และบาปวน) ซึ่งแต่ละรัฐก็จะมีกฎหมายท้องถิ่นของตนเอง และมี 9 รัฐ ที่มีสุลต่านเป็นประมุข และสุลต่านทั้ง 9 จะผลัดกันเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศ เรียกตำแหน่งนี้ว่า ยังดีเปอร์ตวน อากง ซึ่งจะพำนักอยู่ในพระราชวัง Istana Negara ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

 

โดยยังดีเปอร์ตวนอากงองค์ปัจจุบันคือ สุลต่านอับดุลละฮ์ ชะฮ์ จากรัฐปาหัง ดังนั้น เวลาที่เราติดตามข่าว เราจึงเห็นภาพนักการเมืองมาเลเซีย ผู้นำ และรัฐมนตรีต้องไปเข้าเฝ้า และรับการรับรองเรื่องราวต่างๆ จากพระราชวังแห่งนี้ เช่น สุลต่านลงพระนามในคำสั่งอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ลาออก และแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเท่ากับเป็นการยกเลิกตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ และให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีในการดำเนินนโยบายเร่งด่วน สำคัญๆ เฉพาะหน้าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน

 

 

ระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง

รัฐสภาของประเทศมาเลเซียประกอบไปด้วย 2 สภา อันได้แก่ Dewan Negara หรือวุฒิสภา และ Dewan Rakyat หรือสภาผู้แทนราษฎร โดยในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่า ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ประกอบไปด้วย ส.ส. จำนวน 222 คน 

 

ฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบันประกอบไปด้วยพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน หรือแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan หรือ PH) มี ส.ส. จำนวน 92 คน จาก 3 พรรคการเมือง แบ่งเป็น

  

– พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party หรือ DAP) มี ส.ส. 42 คน นำโดย ลิม กวน เอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พรรคนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายจีน มีฐานเสียงสำคัญที่สุดที่เกาะปีนัง รวมทั้งในเขตเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น เประ, สลังงอร์, เนอเกอรี เซิมบิลัน, ยะโฮร์, มะละกา, กัวลาลัมเปอร์ และได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ

– พรรคยุติธรรมประชาชน (People’s Justice Party หรือ PKR) มี ส.ส. 39 คน นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม เน้นนโยบายอนุรักษ์นิยม มีฐานเสียงจากรัฐที่เป็นเมืองใหญ่ เช่น สลังงอร์, ปีนัง และยะโฮร์

– พรรคอามานะห์ (AMANAH) มี ส.ส. 1 คน

 

นอกจากนี้ยังมี ส.ส. อีกกลุ่มที่ร่วมเป็นพรรครัฐบาลมาจากอีก 3 พรรคการเมือง รวม ส.ส. ได้ 36 คน ซึ่งมาให้สัตยาบันร่วมกันว่า จะไม่ไปเข้าร่วมกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรืออัมโน (UMNO) ในการเลือกตั้งปี 2018 โดย 3 พรรคดังกล่าว ประกอบไปด้วย

– พรรคเอกภาพมาเลเซีย (BERSATU) มี ส.ส. 26 คน และมีแกนนำสำคัญคือ ตุน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งลงสมัครเป็น ส.ส. ของเกาะลังกาวี รัฐเกดะห์ โดยล่าสุดมหาเธร์ได้ยื่นเรื่องลาออกจากการเป็นประธานพรรคแล้ว

– พรรค Sabah Heritage Party (WARISAN) พรรคการเมืองของรัฐซาบาห์ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ มี ส.ส. 9 คน

– พรรค United Progressive People of Kinabalu Organisation (UPKO) มี ส.ส. 1 คน เป็นอีกพรรคที่ลงชิงชัยเฉพาะในรัฐซาบาห์

 

ส่วนฝ่ายค้านในรัฐสภามาเลเซียจากการเลือกตั้งในปี 2018 ประกอบด้วยพรรคและกลุ่มการเมืองจำนวนมาก และมี ส.ส. รวมกัน 94 คน โดยพรรคสำคัญ ได้แก่

 

– กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (BN) มี ส.ส. 42 คน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 พรรคการเมือง ได้แก่ United Malays National Organisation (UMNO) พรรคการเมืองที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนที่ประเทศจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย จนมีการเปลี่ยนขั้วในปี 2018 และอีก 2 พรรคเล็กที่เป็นกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อชาติจีนและอินเดียที่ร่วมเป็นพันธมิตร BN คือ Malaysian Chinese Association (MCA) และ Malaysian Indian Congress (MIC)

– กลุ่ม Gagasan Sejahtera พรรคการเมืองที่ยึดถือแนวทางของศาสนาอิสลามเป็นตัวกำหนดนโยบายพรรค ซึ่งมี ส.ส. 18 คน จากพรรค Malaysian Islamic Party (PAS)

– กลุ่มพรรคร่วมจากรัฐซาราวัค (Gabungan Parti Sarawak) มี ส.ส. จำนวน 18 คน

– กลุ่มพรรคร่วมจากรัฐซาบาห์ (Gabungan Bersatu Sabah) มี ส.ส. จำนวน 3 คน

 

หลังจากเข้าใจผู้เล่นและกติกาแล้ว คราวนี้มาดูต่อว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราเห็นรอยร้าวในวันนี้ (ถ้าอยากเข้าสถานการณ์ที่ยาวกว่านี้ โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างมหาเธร์กับ นาจิบ ราซัค และการเลือกตั้งปี 2018 แนะนำให้อ่าน ‘นาจิบ ราซัค คุณมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร’ และ 7 บทเรียนจากการเลือกตั้งมาเลเซีย เพื่อประเทศเพื่อนบ้าน)

 

สิ่งที่เราเห็นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 คือ การจำเป็นต้องรวมพลังกันระหว่าง DAP, BERSATU และ PKR เพื่อสร้างพันธมิตร PH ที่มีพลังเพียงพอที่จะล้ม BN ภายใต้การนำของพรรค UMNO ถึงแม้ ณ นาทีนั้นข่าวฉาวของผู้นำ UMNO อย่าง นาจิบ ราซัค จะทำให้พรรคย่ำแย่ แต่นโยบายเอาใจประชานิยมชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูก็ยังคงมีพลังสูงอยู่ 

 

ดังนั้น มหาเธร์ที่มีความเป็นผู้นำ จึงร่วมมือกับ ลิม กวน เอง ที่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีจุดอ่อนคือ ถึงจะมีคะแนน มี ส.ส. มากเพียงใด ก็ไม่สามารถเป็นผู้นำประเทศได้ เนื่องจากข้อจำกัดในมิติทางสังคมที่เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน และแน่นอน พรรค PKR ในขณะนั้นก็ขาดหัวหน้า เพราะอันวาร์ยังอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้มหาเธร์ เขาจึงประกาศร่วมเป็นพันธมิตร และจะสนับสนุนอันวาร์ให้เป็นผู้นำคนต่อไปของประเทศ 

 

สิ่งที่เราได้เห็นคือ การให้คำมั่นสัญญาว่า มหาเธร์จะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน จากนั้นก็จะให้อันวาร์ขึ้นมาต่อ (ทุกคนเข้าใจว่า จะเหมือนกับการส่งต่อไม้ในการวิ่งผลัด) และเมื่อมหาเธร์เข้ารับตำแหน่ง เขาก็ดำเนินเรื่องขอพระราชอภัยโทษจากประมุขของประเทศ และทำสำเร็จ อันวาร์เข้ามาลงสมัครเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส. ของเขตพอร์ตดิกสัน 

 

และสิ่งที่อันวาร์ทำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาคือ เดินสายไปทั่วทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยพร่ำพูดถึงสัญญาที่มหาเธร์กล่าวไว้คือ การอยู่ในตำแหน่งระยะสั้นและจะส่งต่อตำแหน่งให้เขาขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ โดยเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นว่าการส่งผ่านตำแหน่งจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020

 

สำหรับมหาเธร์เองปัญหาต่างๆ ของประเทศ ทั้งปัญหาเก่าปัญหาใหม่ก็ยังรุมเร้า รวมถึงการดำเนินคดีกับ นาจิบ ราซัค ก็ไม่ได้รวดเร็วดั่งใจ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังปัญหาเรื่องโควิด-19 เมื่อร่วมกับการตีรวนกันอยู่ตลอดเวลาในพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล เหล่านี้ก็ล้วนทำให้เกิดเสียงเรียกร้อง (และมหาเธร์ก็คงพอใจด้วย) ให้มหาเธร์ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป

 

คำถามที่สำคัญคือ อันวาร์เองมีบารมีขนาดนั้นหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ ไม่น่าจะมีบารมีขนาดนั้น ทุกครั้งที่มีคนไปถามเรื่องการออกจากตำแหน่งและส่งมอบตำแหน่งให้อันวาร์ มหาเธร์ก็จะยิ้ม เหมือนสังเกตท่าที และพูดเสมอว่า อันวาร์จะได้เป็นผู้นำหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการตัดสินในระบบรัฐสภา นั่นหมายความว่า มหาเธร์ไม่สามารถยกตำแหน่งนี้เสมือนสมบัติให้ทายาทได้ แต่ต้องให้ ส.ส. ในสภาฯ รับรอง ซึ่งมีทีท่าว่า อันวาร์อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนขนาดนั้น หากมหาเธร์ไม่ส่งสัญญาณ

 

และการลาออกของมหาเธร์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า นี่ไง ผมลาออกตามที่เคยให้สัญญาไว้แล้วนะ ส่วนคุณอันวาร์ตอนนี้ก็ตัวใครตัวมัน

 

อันวาร์เองอาจจะเป็นคนที่ชาวมาเลเซียจำนวนมากชื่นชม แต่ถามว่า มีคนศรัทธาแบบ มหาเธร์หรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่’ คนมาเลย์มองว่า เขาเป็นพวกอนุรักษ์นิยม (Conservative) ในขณะที่มหาเธร์เป็นคนถึงลูกถึงคน กล้าเดินหน้าชน เป็นนักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) และบางคนถึงขนาดมองว่า เขาเป็นฮีโร่ของชาติที่ทำให้มาเลเซียยุคใหม่พัฒนาขึ้นมาได้ ที่สำคัญกว่านั้น อันวาร์คือคนที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีเครือข่าย และไม่มีคนแน่ใจด้วยว่า จะสามารถทำงานกับเขาได้ เพราะอะไร?

 

เพราะในรัฐบาล PH ซึ่งแต่เดิมเคยถูกพิจารณาว่ามีหัวหน้าพรรค DAP ลิม กวน เอง เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจดูแลกระทรวงการคลัง กลับไม่ได้รับการสนับสนุนขนาดนั้นจากมหาเธร์ แต่เขากลับเลือกที่จะสนับสนุนดาวรุ่งทางการเมืองมาเลเซียดวงใหม่นั่นคือ โมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี อดีตมุขมนตรี (คล้ายๆ นายกรัฐมนตรีในระดับรัฐ) แห่งรัฐสลังงอร์ รัฐที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ อัซมินเป็นสมาชิกพรรค PKR ที่นำโดยอันวาร์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (Minister of Economic Affairs) ซึ่งกลายเป็นคนที่มหาเธร์เรียกใช้และสนับสนุน และเป็นดาวรุ่งจนท้ายที่สุดก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับที่อันวาร์ในฐานะดาวรุ่งในปี 1998 เคยเจอ นั่นคือภาพหลุด ซึ่งก็เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม เรื่องราวมีดังนี้

 

วันที่ 12 มิถุนายน 2019 มีภาพหลุดของผู้ช่วยของอัซมินชื่อ มูฮัมหมัด ฮาซิค อับดุล อาซิซ นอนอยู่บนเตียงคู่กับคนหน้าคล้ายอัซมิน ปรากฏบนโลกออนไลน์ โดยชายรักชายถือเป็นความผิดใหญ่ตามบทบัญญัติของมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนอัซมินปฏิเสธ แต่ผู้ช่วยของเขาซึ่งเห็นชัดเจน ไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยอันวาร์ออกมากดดันให้อัซมินรับผิดชอบโดยการลาออก

 

เดือนกรกฎาคม 2019 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย และฮาซิคถูกจับ เพราะมีหลักฐานว่า พวกเขาเองคือคนปล่อยภาพดังกล่าว โดยอีกหนึ่งคนที่ถูกควบคุมตัวในกรณีดังกล่าวด้วยก็คือ ฟาร์ฮาช วาฟา ซัลวาดอร์ ริซัล มูบารัก ซึ่งเป็นเลขานุการของ อันวาร์ อิบราฮิม และเมื่อสอบสวนเสร็จ ในวันที่ปล่อยตัวฟาร์ฮาชก็ตะโกนว่า “Azmin Semburit” ซึ่งแปลว่า อัซมินทำ Sodomy (การร่วมเพศของชายรักชาย) โดยผลการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ภาพในวิดีโอเป็นภาพจริง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ชายอีกคนในภาพคือใคร และแจ้งว่า ผู้ที่ผลิตวิดีโอดังกล่าวคือ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องการทำลายอนาคตของอัซมิน ซึ่งแน่นอน หัวหน้าพรรคนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก?

 

สิ่งที่พ่อใหญ่มหาเธร์กล่าวถึงอันวาร์จากกรณีนี้คือ กลัวเสียตำแหน่งหรือ และสำหรับ อัซมิน เขาเองก็ลาออกจากพรรค PKR และคะแนนนิยมในตัวอันวาร์ก็ยิ่งลดลงอย่างมาก

 

ในขณะที่นักการเมืองอีกขั้วหนึ่งของมาเลเซียกลับมองว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ อัซมินอาจจะเป็นผู้สร้างเรื่องด้วยตนเอง เพื่อสร้างรอยร้าวในพรรคและตีตนออกไปเป็นกลุ่มงูเห่าที่จะผลักดันให้พันธมิตร UMNO และ PAS และอาจจะรวมถึงงูเห่าบางส่วนจากพรรค BERSATU ของมหาเธร์เอง มาร่วมกันเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากรวมเสียงในสภาฯ ได้เกิน 112 เสียง ทั้งนี้เพื่ออะไร คำตอบก็คือ เพื่อรักษาไม่ให้ UMNO เสื่อมไปมากกว่านี้ เพราะคดีความของนาจิบอาจทำให้ในที่สุดแล้ว UMNO สูญพันธุ์ทางการเมืองภายในมาเลเซียได้

 

นาทีนี้ในมาเลเซียเต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวปล่อย เช่น UMNO และ PAS อาจจะรวมพลังกันเพื่อสนับสนุนให้มหาเธร์ย้ายข้างมาเป็นนายกฯ ของ BN และค้ำบัลลังก์ให้เขาต่อจนครบวาระ แต่ถ้าทำแบบนั้น แล้วมหาเธร์จะสามารถจัดการกับกรณี นาจิบ ราซัค ได้อย่างไร ในเมื่อ UMNO ก็ยังมีเครือข่ายของนาจิบ และยังมีข่าวเรื่อง DAP และพันธมิตรเดิม PH ยังจะเดินหน้าสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่ามหาเธร์จะเดินเกมอย่างไร

ทั้งหมดทั้งปวง นาทีนี้สิ่งที่เราพอจับทางได้ก็คือ เวลามหาเธร์เดินไปทางไหน… พรมจะขาดตลอด… เขาเป็นนักการเมืองที่เขี้ยวลากดินสุดๆ เดินหมาก 3 ต่อ และเข้าฮอส โดยการล้างไพ่ทั้งหมดจากการประกาศลาออก และโน้มน้าวจนตนเองยังคงทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการได้ต่อ ซึ่งมีอำนาจในการควบคุมเกมการเมืองต่างๆ ได้ ดังนั้น สิ่งที่เราเห็นคือ ตอนนี้มาเลเซียยังไม่มีตัวเลือกผู้นำที่เด่นๆ ให้เลือกมาแทนที่มหาเธร์ ในขณะที่มหาเธร์สามารถกวนน้ำให้ขุ่น ฝุ่นฟุ้งไปทั่ว ระหว่างฝุ่นฟุ้ง มหาเธร์ก็เดินเกมในลักษณะมาเงียบๆ แต่กินเรียบในทุกมิติเหมือนเดิม และเหมือนที่เป็นมาตลอดทั้งชีวิตการเมืองของเขา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X