×

สำรวจสายไฟลงใต้ดิน เริ่มตั้งแต่ 33 ปีที่แล้ว แต่เสร็จเพียงครึ่งเดียว

29.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins Read
  • โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
  • ที่ผ่านมามีการนำสายไฟลงใต้ดินไปบ้างแล้ว แต่ที่เราเห็นสายต่างๆ ตามเสาไฟคือ สายสื่อสาร
  • กฟน. ตั้งเป้าภายใน 5 ปี ต้องนำสายไฟลงใต้ดินให้ได้ 127 กิโลเมตร

     “เปิดร้านขายอะไหล่อยู่บนถนนนี้ (พหลโยธิน) มาสามสิบกว่าปี เสาไฟแรกๆ ก็ดูดี แต่หลังๆ มีหนวดงอกออกมารุงรังไปหมด ก็เห็นมันจนชิน นกบินมาเกาะทีไฟก็ดับที”

     เสียงสะท้อนจากเจ้าของร้านขายอะไหล่รถยนต์ ริมถนนพหลโยธิน เล่าให้ THE STANDARD ฟัง หลังกรุงเทพมหานครและการไฟฟ้านครหลวง กำลังดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสาธารณูปโภคลงใต้ดินในพื้นที่ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่หน้าโครงการ Ideo Mix ถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 18 รวมระยะทางสองฝั่งถนนยาว 18 กิโลเมตร

     “เอาลงใต้ดินมันก็ดี แต่เห็นประกาศมาหลายสิบปีแล้วไม่มาทำสักที ก็เพิ่งเห็นมาทำตอนนี้นี่แหละ” เจ้าของร้านอะไหล่ กล่าว

 

 

โครงการนำสายไฟลงใต้ดินเริ่มมากว่า 33 ปีแล้ว

     ข้อมูลตามเอกสารแผนงาน เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง ระบุว่าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ (เสาไฟ) เป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ในพื้นที่สำคัญริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 หรือกว่า 33 ปีที่แล้ว

     แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องนี้อีกครั้ง หลังมหาเศรษฐีโลก บิล เกตส์ โพสต์ภาพสายไฟสภาพสุดยุ่งเหยิงในประเทศไทยพร้อมวิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่าสภาพสายไฟยุ่งเหยิงแบบนี้สะท้อนการจัดการเชิงโครงสร้างที่ไม่ตอบสนองคนใช้ไฟฟ้า และเป็นที่มาของปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย

 

 

แผนเดิม 88.3 กิโลเมตร ผ่านไป 30 ปี ทำได้จริงไม่ถึงครึ่ง

     สำหรับโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน แบ่งง่ายๆ เป็น 2 แผนหลัก แผนแรกคือแผนดั้งเดิมเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2557 ระยะทาง 88.3 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการสีลม, จิตรลดา, ปทุมวัน, พญาไท, สุขุมวิท, พหลโยธิน, นนทบุรี, พระราม 3, รัชดา-อโศก และรัชดา-พระราม 9

     โดยข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2557 หรือครบ 30 ปีของโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินพบว่า กฟน. ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้แก่ 1. สีลม (2.7 กิโลเมตร) 2. ปทุมวัน (6.7 กิโลเมตร) 3. จิตรลดา (6.8 กิโลเมตร) 4. พหลโยธิน (8 กิโลเมตร) 5. พญาไท (3.8 กิโลเมตร) 6. สุขุมวิท บางส่วน (7 กิโลเมตร) รวม 30 ปี ตั้งแต่ริเริ่มปี พ.ศ. 2527-2557 แล้วเสร็จ 35 กิโลเมตร

     ขณะที่ข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2560) กฟน. ระบุว่า สามารถนำสายไฟฟ้าลงดินได้แล้วทั้งหมด 41.9 กิโลเมตร

 

 

เป้าหมายใหม่ 127 กิโลเมตร เสร็จภายใน 5 ปี

     ส่วนแผนที่สอง คือแผนตามโครงการรองรับมหานครอาเซียน ระยะทางนำสายไฟฟ้าลงดินรวม 127.3 กิโลเมตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเมื่อเดือนกันยายน 2558

     แม้โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินจะริเริ่มมานานแล้ว และเสร็จเรียบร้อยไปบางส่วน แต่คนไทยยังคงเห็นสายโยงยุ่งเหยิงอยู่ดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กฟน. เอาแต่สายไฟฟ้าเท่านั้นที่ลงใต้ดิน สายสื่อสารหรือสายสาธารณูปโภค ยังคงอยู่บนเสาไฟฟ้าเหมือนเดิม

     โดยเมื่อ 29 มิถุนายน 2559 นี้เอง ที่ทั้ง กฟน., กทม., กสทช., ตำรวจ และภาคเอกชนเจ้าของสายสื่อสารทั้งหลาย เพิ่งจะลงนามเอ็มโอยูร่วมกันผลักดันนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินเพื่อรองรับมหานครอาเซียน โดยแผนระยะแรกครอบคลุมระยะทาง 127 กิโลเมตร รวม 39 เส้นทาง งบประมาณดำเนินการประมาณ 48,000 ล้านบาท จากแผนดำเนินการทั้งหมด 261 กิโลเมตร งบประมาณรวมกว่า 140,000 ล้านบาท สำหรับโครงการระยะแรก 127 กิโลเมตรนั้น กฟน. ระบุว่ามีแนวโน้มว่าจะร่นระยะเวลาก่อสร้างจากเดิม 10 ปี เหลือ 5 ปี

 

 

บนเสาไฟฟ้ามีสายอะไรบ้าง

  1. สายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์
  2. สายไฟฟ้าแรงต่ำ 230/400 โวลต์
  3. สายสื่อสาร หรือ สายสาธารณูปโภค

 

 

     อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างตรวจความคืบหน้าการนำสายไฟและสายสาธารณูปโภคลงใต้ดินบริเวณถนนพหลโยธิน โดยยอมรับว่า จริงๆ แล้ว ลำพังเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าไม่เกะกะเท่าไหร่ แต่ที่เป็นปัญหาคือสายสื่อสารทั้งหลาย ซึ่งในพื้นที่ที่เอาลงดินแล้ว ทาง กสทช. ก็จะให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เช่าท่อใต้ดินของการไฟฟ้าแทน

     บนถนนสุขุมวิท ทางการไฟฟ้าได้เอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่สายที่เห็นบนถนนสุขุมวิทเป็นสายสื่อสารทั้งหมด

     โดยต่อไปถนนที่ กฟน. นำสายไฟลงใต้ดินแล้ว กทม. จะนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามด้วยทั้งหมด ขณะนี้กำลังหารืออยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

     ด้าน สุดใจ ตรีเพชร ที่ปรึกษาผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การเอาสายไฟลงดินมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าประมาณ 10-15 เท่า ของการใช้เสาไฟฟ้าปกติ ดังนั้นการเอาสายไฟลงดินหมดทั้งกรุงเทพฯ คงไม่ไหว แต่จะเลือกถนนที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งโบราณสถาน

 

 

     ส่วนสายสื่อสารซึ่งเป็นปัญหาพันกันยุ่งเหยิงมานานนั้น ที่ผ่านมามีการจ่ายค่าเช่าให้การไฟฟ้าก็จริง แต่ไม่คุ้ม เพราะต้องสร้างเสาให้มีความแข็งแรงขึ้นเพื่อรองรับสายเหล่านี้

     อีกทั้งการไฟฟ้าไม่มีแผนจะหาประโยชน์กับการนำสายอื่นๆ มาเกาะ เพียงแต่มองในเรื่องของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพราะถ้าไม่ใช้เสาไฟฟ้า ผู้ประกอบการก็ต้องทำเสาของตัวเองขึ้นมาอีก เท่ากับว่าจะมีเสาเต็มไปหมด

 

 

     “แต่ตอนนี้ถ้าเราเอาสายไฟลงดินแล้ว และ กทม. ไม่อนุญาตให้พื้นที่ที่นำสายไฟลงดิน มีสายสื่อสารมาโยงตามเสาอีกต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการก็ต้องจัดการเอง อาจจะเช่าท่อใต้ดินของ กฟน., TOT และ CAT ซึ่งราคาก็ไม่หนีกันมาก”

     สำหรับค่าเช่าของสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า พบว่าสายสื่อสาร 1 เส้น เสียค่าเช่าการวางสายบนเสาไฟอยู่ที่เดือนละ 40-50 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนค่าเช่าท่อสายสื่อสารใต้ดินอยู่ที่ 25,000 บาทต่อเดือน ค่าเช่านี้สามารถบรรจุสายสื่อสารได้จำนวนมาก โดยผู้ให้เช่ามีทั้ง กฟน., TOT และ CAT    

     คงต้องรอดูว่าความพยายามทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองไร้สายไฟ ที่ริเริ่มไว้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว จะเสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ในไม่กี่ปีข้างหน้าจริงหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X