×

Kiva เงินกู้ข้ามโลกจากคนแปลกหน้าถึงคนแปลกหน้าเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

28.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หากเข้าไปบนเว็บไซต์ Kiva เราจะเห็นเรื่องราวของผู้ประกอบการจากทุกมุมโลก เช่น เกษตรกรจากคอสตาริกาที่ต้องการเงินกู้เพื่อซื้อปัจจัยการเกษตรเพื่อทำสวนพริกไทย กลุ่มสตรีจากกัมพูชาที่ต้องการเงินกู้เพื่อเลี้ยงหมู ใครๆ ก็สามารถให้เงินกู้กับพวกเขาได้ผ่านเว็บไซต์ของ Kiva ในจำนวน 25 เหรียญสหรัฐ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชี PayPal
  • เงินที่ให้กู้จะถูกนำไปรวมกับเงินจาก ‘เจ้าหนี้’ คนอื่นๆ ที่เลือกให้กู้แก่ ‘ลูกหนี้’ คนเดียวกัน เมื่อ Kiva รวบรวมเงินเป็นก้อนจนครบจำนวนที่ลูกหนี้ต้องการ เงินจะถูกส่งผ่านไปยัง ‘ตัวแทน’ ของ Kiva ในท้องถิ่น
  • ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา Kiva.org ปล่อยเงินกู้ไปแล้ว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินรวมจากเจ้าหนี้ 1.6 ล้านคน สู่ลูกหนี้ 2.5 ล้านคน ซึ่งลูกหนี้ร้อยละ 81 เป็นผู้หญิง มีอัตราการคืนเงินที่ร้อยละ 97.1 ซึ่งถือว่าสูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปหลายแห่ง

     ถ้ามีเกษตรกรยากจนจากประเทศยูกันดาติดต่อคุณเพื่อขอยืมเงินสัก 25 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 825 บาท) เพื่อไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกหารายได้สู่ครอบครัว คุณคงปฏิเสธทันทีเพราะความไม่ไว้ใจ ไม่ว่าเรื่องราวของเขาจะจริงหรืออยู่ในสถานการณ์ลำบากขนาดไหน

     แต่ความ ‘คิดต่าง’ ของเว็บไซต์ www.kiva.org หรือ Kiva กลับทำให้เกษตรกรและคนทำธุรกิจรายย่อยที่เข้าไม่ถึงเงินทุนนับล้านคนจากทั่วโลกได้เข้าถึงเงินกู้จาก ‘คนแปลกหน้า’ ที่กลายมาเป็นโอกาสให้พวกเขาได้ลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

 

     ในยุคนี้หลายคนอาจจะคุ้นกับโมเดลธุรกิจแบบ Crowdfunding หรือการระดมทุนสาธารณะที่ใช้สนับสนุนไอเดียธุรกิจใหม่ๆ เช่น เว็บไซต์ Kickstarter.com หรือ Indiegogo.com แต่การระดมทุนเงินกู้ของ Kiva มีมาก่อนโดยเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2005  

     Kiva เป็นองค์กรแบบไม่แสวงหากำไรจากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งโดยอดีตคู่สามีภรรยา แมตต์ แฟลนนารี (Matt Flannery) และเจสสิก้า แจ็กลีย์  (Jessica Jackley)

     เจสสิก้าได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Mohammad Yunus) ผู้ก่อตั้งธนาคาร Grameen หรือธนาคารเพื่อคนจนในบังกลาเทศ ผู้ริเริ่มแนวคิดสินเชื่อขนาดจิ๋วเพื่อคนจนหรือไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก แนวคิดของธนาคาร Grameen จุดประกายให้คู่สามีภรรยาสร้าง Kiva ขึ้นมา

     ทั้งคู่มองว่าแนวคิดไมโครไฟแนนซ์สามารถขยายสู่วงกว้างได้ด้วยเทคโนโลยี เจสสิก้าซึ่งในขณะนั้นทำงานด้านพัฒนาสังคมในแอฟริกา ได้เริ่มทดลองแนวคิดนี้กับผู้นำชุมชนแห่งหนึ่งในยูกันดาที่ช่วยกันค้นหาผู้ประกอบการท้องถิ่น 7 คนที่ต้องการเงินกู้ รวมเป็นเงิน 3,500 เหรียญสหรัฐ สองสามีภรรยารวบรวมเรื่องราวและแผนธุรกิจย่อๆ ของผู้ประกอบการและส่งอีเมลถึงเพื่อนๆ ประมาณ 300 คนเพื่อระดมเงินกู้

     สุดท้ายพวกเขาได้เงินครบตามเป้าในเวลาเพียงไม่กี่วัน และรู้ในทันทีว่าแนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ ก่อนที่จะพัฒนาเว็บไซต์อย่างจริงจังและสร้างเครือข่ายกับสถาบันไมโครไฟแนนซ์จำนวนมาก

 

 

     หากเข้าไปบนเว็บไซต์ Kiva (เป็นภาษาสวาฮิลี แปลว่า ‘เป็นหนึ่งเดียว’) เราจะเห็นเรื่องราวของผู้ประกอบการจากทุกมุมโลก เช่น เกษตรกรจากคอสตาริกาที่ต้องการเงินกู้เพื่อซื้อปัจจัยการเกษตรเพื่อทำสวนพริกไทย กลุ่มสตรีจากกัมพูชาที่ต้องการเงินกู้เพื่อเลี้ยงหมู ใครๆ ก็สามารถให้เงินกู้กับพวกเขาได้ผ่านเว็บไซต์ของ Kiva ในจำนวน 25 เหรียญสหรัฐ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชี PayPal

     เงินที่ให้กู้จะถูกนำไปรวมกับเงินจาก ‘เจ้าหนี้’ คนอื่นๆ ที่เลือกให้กู้แก่ ‘ลูกหนี้’ คนเดียวกัน เมื่อ Kiva รวบรวมเงินเป็นก้อนจนครบจำนวนที่ลูกหนี้ต้องการ (หากลูกหนี้ต้องการเงิน 500 เหรียญ ก็จะต้องระดมเงินจากเจ้าหนี้คนละ 25 เหรียญ รวม 20 คน) เงินจะถูกส่งผ่านไปยัง ‘ตัวแทน’ ของ Kiva ในท้องถิ่น เช่น สถาบันไมโครไฟแนนซ์ กิจการเพื่อสังคม สถานศึกษาหรือมูลนิธิที่ทำงานกับผู้มีรายได้น้อย

 

 

     Kiva มีตัวแทนที่ว่าอยู่กว่า 320 องค์กรใน 84 ประเทศ ตัวแทนนี้ทำหน้าที่คัดเลือกลูกหนี้ ส่งมอบเงินกู้และติดตามผล เมื่อลูกหนี้มีรายได้ก็จะทยอยใช้หนี้คืน ซึ่ง Kiva ก็จะรายงานผ่านอีเมลให้เจ้าหนี้รับทราบและนำส่งเงินคืนเข้าบัญชีบนเว็บไซต์ เมื่อลูกหนี้ใช้หนี้ครบจำนวน เจ้าหนี้สามารถเลือกถอนเงิน 25 เหรียญออกจากระบบหรือเลือกลูกหนี้คนใหม่ที่จะให้กู้ก็ได้

     เจ้าหนี้ของ Kiva จะไม่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินกู้ แต่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน (ซึ่งไม่ใช่การบริจาค) ลูกหนี้จะได้รับเงินกู้เต็มจำนวนแต่จะเสียดอกเบี้ยหรือไม่ มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของตัวแทน ซึ่งตัวแทนส่วนใหญ่ เช่น สถาบันไมโครไฟแนนซ์จะคิดดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นค่าบริหารจัดการขององค์กร ส่วน Kiva เองมีรายได้จากการบริจาคของเจ้าหนี้ (ประมาณ 3 เหรียญต่อการให้กู้แต่ละครั้ง) และจากการสนับสนุนจากองค์กรผู้ให้ทุนต่างๆ

 

 

     ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา Kiva.org ปล่อยเงินกู้ไปแล้ว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินรวมจากเจ้าหนี้ 1.6 ล้านคน สู่ลูกหนี้ 2.5 ล้านคน ซึ่งลูกหนี้ร้อยละ 81 เป็นผู้หญิง มีอัตราการคืนเงินที่ร้อยละ 97.1 ซึ่งถือว่าสูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปหลายแห่ง

     ที่ผ่านมา Kiva มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและเข้ารับการตรวจสอบจากองค์การจัดอันดับความโปร่งใสด้านการกุศลของสหรัฐฯ ที่ชื่อ Charity Navigator โดยได้คะแนนในลำดับสูงสุด

     นอกเหนือจากการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว Kiva ยังได้ขยายเงินกู้ ‘เพื่อสังคม’ ไปยังด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้ลี้ภัย ทุนการศึกษา กิจการเพื่อสังคม สุขภาพ พลังงานสะอาด ฯลฯ

     ในประเทศไทย Kiva ได้เริ่มให้เงินกู้ผ่านกิจการเพื่อสังคมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเกษตรผ่านฮิลไทรบ์ ออร์แกนนิคส์ และ สยาม ออร์แกนิค ด้านการท่องเที่ยวชุมชนผ่าน Local Alike และด้านการศึกษาผ่าน Wedu รวมเป็นเงินประมาณ 266,000 เหรียญสหรัฐ

     ถึงจะดูเป็นแนวคิดที่ดีและมีผลงานที่ชัดเจน แต่ Kiva ก็ได้รับคำวิจารณ์ว่าอาจจะแสดงตัวเลขอัตราการคืนเงินที่สูงเกินจริง เพราะตัวแทนบางส่วนของ Kiva ในท้องถิ่นใช้หนี้แทนลูกหนี้ เนื่องจากไม่อยากเสียเครดิตกับ Kiva รวมทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้ตัวแทนที่อาจจะสูงไป เช่น ร้อยละ 35 ในบางประเทศ ซึ่ง Kiva ก็ได้พยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเน้นการเปิดเผยข้อมูลเป็นหัวใจในการทำงาน

     ผู้เขียนเองก็เป็น ‘เจ้าหนี้’ ของ Kiva มาหลายปี มีเงินกู้ตั้งต้นที่ 25 เหรียญสหรัฐ ที่หมุนเวียนไปสู่ลูกหนี้ในประเทศทั้งใกล้และไกลมากว่า 6 รอบ

     ความ ‘คิดต่าง’ ในโมเดลธุรกิจของ Kiva ทำให้เทคโนโลยีที่ปกติมักจะถูกกล่าวหาว่าทำให้คนในสังคมห่างเหินกันมากขึ้นกลายเป็นเครื่องมือทลายกำแพงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน สร้างโอกาสให้คนรายได้น้อยได้ยกระดับคุณภาพชีวิตก่อนที่จะส่งเงินคืนมาเพื่อให้โอกาสคนอื่นๆ ต่อ รวมทั้งทำให้การ ‘แบ่งปัน’ เป็นเรื่องที่ติดตามผลได้และมีความโปร่งใส

 

อ้างอิง:

FYI
  • แนวคิดไมโครไฟแนนซ์มีต้นแบบจากธนาคาร Grameen ที่ต้องการแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น เงินกู้ให้คนจน ที่โดยปกติจะถูกปฏิเสธจากธนาคารเมื่อต้องการเงินกู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เพราะคนจนขาดหลักทรัพย์ที่จะใช้ ‘ค้ำประกัน’ คนจนจึงมักจะต้องไปใช้บริการเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตรามหาโหด เช่น 1000% ต่อปีหรือมากกว่า และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและครอบครัว สถาบันการเงินไมโครไฟแนนซ์อย่างธนาคาร Grameen จึงให้โอกาสคนจนในการกู้เงินโดยใช้หลักประกันทางสังคมแทน คือ ใช้การรวมกลุ่มระหว่างเพื่อนๆ เพื่อค้ำประกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจแทนสินทรัพย์ ซึ่งเงินกู้ที่ได้จะถูกนำไปลงทุนในกิจการเล็กๆ ของพวกเขาเพื่อสร้างรายได้สู่ครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตออกจากความจน
  • Kiva จำกัดเจ้าหนี้ให้กู้ได้เพียงคนละ 25 เหรียญสหรัฐต่อลูกหนี้ (แต่จะให้กู้กับลูกหนี้กี่คนก็ได้ แต่ได้คนละไม่เกิน 25 เหรียญ) รวมทั้งมีเงินกู้โดยเฉลี่ยต่อลูกหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 410 เหรียญสหรัฐ การที่มียอดรวมต่อลูกหนี้ไม่สูงมากและการจำกัดจำนวนเงินกู้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ถือเป็นการลดความเสี่ยงของทั้งเจ้าหนี้และ Kiva
  • ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์มักจะให้เงินกู้แก่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศในหลายวัฒนธรรม ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในการทำมาหากินน้อยกว่า และเมื่อมีรายได้แล้วผู้หญิงจะนำเงินที่ได้มาใช้จ่ายกับลูกและครอบครัวเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่าผู้ชาย
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X