×
SCB Omnibus Fund 2024

‘คราวด์ฟันดิง’ ทางเลือกลงทุนหลบภัยช่วงตลาดผันผวน ‘อินเวสทรี’ เผยผลตอบแทนเฉลี่ย 11.4% ต่อปี

23.02.2022
  • LOADING...
‘คราวด์ฟันดิง’ ทางเลือกลงทุนหลบภัยช่วงตลาดผันผวน ‘อินเวสทรี’ เผยผลตอบแทนเฉลี่ย 11.4% ต่อปี

หนึ่งในแพลตฟอร์มด้านการระดมทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือ ‘อินเวสทรี (Investree)’ บริษัท Fintech Startup ที่ให้บริการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน โดยมีจุดเริ่มต้นในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2558 ก่อนจะขยายธุรกิจไปในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย 

 

หลังจากเปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2561 ก่อนจะได้รับใบอนุญาตให้บริการคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) จากสำนักงาน ก.ล.ต. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นบริษัทเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 

 

ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเริ่มดำเนินในปี 2564 มูลค่าหุ้นกู้รวมที่ระดมทุนผ่านบริษัทขยับขึ้นมาเป็น 246.7 ล้านบาท ส่วนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าว่าจะขยายการระดมทุนผ่านบริษัทให้ถึงระดับ 1,000 ล้านบาท พร้อมกับการขยายฐานนักลงทุนเป็น 320 ราย ซึ่งจะรวมถึงนักลงทุนสถาบันและกองทุนต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจากันในขณะนี้ 

 

สถิติที่น่าสนใจสำหรับการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มอินเวสทรี คือเรื่องของผลตอบแทนและความเสี่ยงในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 11.4% ต่อปี โดยมีช่วงของผลตอบแทนระหว่าง 6-26% ขณะที่ความเสี่ยงของการลงทุนที่ผ่านมายังไม่มีกรณีของการผิดนัดชำระ (NPL) เกิดขึ้น

 

“การที่ไม่มี NPL ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี ส่วนตัวคิดว่าจะต้องมีบ้าง อย่างอินเวสทรีที่อินโดนีเซียก็มี NPL ประมาณ 2% เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเน้นย้ำเสมอคือ การกระจายการลงทุนในหลายหุ้นกู้ หากเลือกลงทุนไป 10 ใบ อาจจะมี 1 ใบ ที่เป็น NPL แต่เราก็จะยังได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืน”

 

ในแง่ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ ในประเทศไทยจะแตกต่างจากอินโดนีเซีย ซึ่งในอินโดนีเซียจะอนุญาตให้ทำ Credit Insurance ได้ แต่ในไทยยังไม่อนุญาต ทำให้นักลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงในส่วนนี้เอง 

 

ทั้งนี้ ในอนาคตหากมี NPL เกิดขึ้น บริษัทตั้งเป้าจะควบคุมไม่ให้เกิน 3% หากเกินกว่าเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจะหยุดพักการระดมทุนใหม่ไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ดี บริษัทขออนุญาตเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. เช่นกัน สำหรับการเป็นผู้ติดตามการชำระเงินให้เองในกรณีที่ชำระเงินล่าช้าไม่เกิน 90 วัน ก่อนที่จะกลายเป็น NPL

 

ณัทสุดากล่าวด้วยว่า เมื่อปีก่อนมีผู้ลงทุนผ่านอินเวสทรีทั้งสิ้น 269 ราย โดย 13% จะเป็นกลุ่ม High Net Worth ที่สามารถลงทุนได้ไม่จำกัด ส่วนผู้ลงทุนทั่วไปจะสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อบริษัท และรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยสัดส่วนของผู้ลงทุนทั่วไปอยู่ที่ 87% 

 

ในขณะที่หุ้นกู้ที่ระดมทุนสำเร็จมีทั้งสิ้น 170 ครั้ง กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ โดยธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจซื้อมาขายไป 27% ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน 17% และธุรกิจบริการ 12% 

 

“ที่ผ่านมาผู้ที่ออกหุ้นกู้กับเราจะเป็นบริษัทเดิมประมาณ 75% โดยจะระดมทุนซ้ำในทุกๆ ไตรมาส ส่วนผู้ที่เข้ามาลงทุน ส่วนมากจะเกิดจากการบอกปากต่อปาก จุดเด่นของอินเวสทรีสำหรับผู้ลงทุนคือ การที่ได้ลงทุนในธุรกิจจริงๆ พร้อมกับผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยง” 

 

นอกจากนี้เรายังได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มที่มี Supply Chain ขนาดใหญ่ เช่น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ด้วยเราเห็นโอกาสของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Value Chain ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่จับมือพันธมิตรฝ่าวิกฤตโควิดด้วยแผนช่วยเหลือคู่ค้าและผู้ประกอบการ หาแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ที่มากกว่า 50% เป็น SMEs มีผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มเซ็นทรัลมาออกหุ้นกู้กับเราประมาณ 20 ล้านบาท

 

“ช่องว่างของการระดมทุนสำหรับ SMEs มันใหญ่มากและไม่เคยปิดได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ 3 ล้านบริษัท โดย 99% หรือ 2.9 ล้านบริษัท เป็น SMEs บริษัทขนาดเล็ก ยังคงเจอปัญหาเข้าไม่ถึงเงินกู้เหมือนเดิม หุ้นกู้ Crowdfunding จึงมาเปิดโอกาสให้กับ SMEs และแน่นอนว่าเราก็เห็นโอกาสเติบโตจากตลาดนี้เช่นกัน”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising