กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund คือ กองทุนที่นายจ้างและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งขึ้นให้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถเลือกจ่ายเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัท ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นตรงที่เงินสมทบจากนายจ้างเปรียบเสมือนเราได้เงินจากบริษัทเพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินที่เราสะสมเข้าไปในกองทุนนั้นก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงเหมือนเป็นตัวช่วยให้เรามีเงินออมมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ เมื่อเราลาออกจากบริษัทแต่ไม่ต้องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและไม่ต้องการเสียภาษี เราสามารถย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รองรับ (RMF for PVD) โดยเงินก้อนนี้จะไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด และยังให้เงินทำงานต่อเนื่องอีกด้วย เพียงแต่ต้องคงไว้ (ห้ามจำหน่ายหรือโอน) จนอายุครบ 55 ปี ซึ่งเมื่อย้ายไป RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน หรือย้ายไปยัง บลจ. แห่งอื่นได้
สำหรับจุดเด่นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
- ได้เงินสมทบจากนายจ้าง
- สร้างวินัยการออมให้ลูกจ้าง โดยออมก่อนใช้จ่าย
- ช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ
- ลูกจ้างสามารถนำเงินที่สะสมไปหักลดหย่อนภาษีได้
- บริหารโดยมืออาชีพ มีนโยบายการลงทุนหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ท่านรู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะด้วยการลาออกจากกองทุน ออกจากงาน หรือเกษียณอายุ และกลับไม่มารับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัวเองเก็บออมไว้ จนกลายเป็น ‘เงินคงค้าง’ (Unclaimed Money) อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น สมาชิกไม่ทราบว่าตนมีเงินเก็บออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ติดตามตัวสมาชิกไม่ได้, สมาชิกเสียชีวิตโดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หรือทายาทไม่ทราบว่ามีเงินก้อนนี้อยู่ หรือมีหนี้สินกับนายจ้างจึงไม่กล้ากลับไปรับเช็คคืน ซึ่งหลายท่านอาจไม่ทราบว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าหนี้ไม่สามารถนำไปหักกลบลบหนี้ได้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เจ้าของเงินหรือทายาทไม่ได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจดังเช่นในปัจจุบัน หากสมาชิกดังกล่าวได้รับเงินที่คงค้างอยู่ในส่วนของตน ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนไม่มากก็น้อย
ตรวจสอบเงินคงค้างได้อย่างไร
ท่านสามารถเช็กว่านายจ้างที่ตนเองหรือบิดามารดาเคยทำงานอยู่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ ได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com (หรือ คลิก) โดยระบุชื่อนายจ้าง หรือเลือกประเภทหน่วยงาน หรือจังหวัดที่นายจ้างดำเนินธุรกิจอยู่ หากนายจ้างที่ค้นหามีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะปรากฏรายชื่อขึ้นมา
กรณีที่ท่านพบว่านายจ้างรายนั้นมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่แน่ใจว่าตนเองหรือบิดามารดาเคยเป็นสมาชิกหรือไม่ ขอให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างรายนั้น เพื่อสอบถามว่ามีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของท่านคงค้างอยู่หรือไม่ หรือหากท่านทราบชื่อ บลจ. ที่บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถติดต่อ บลจ. ได้โดยตรง โดยสามารถดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com เช่นกัน (หรือ คลิก โดยสามารถคลิกที่โลโก้ของ บลจ. เพื่อไปที่หน้าเว็บไซต์ของ บลจ. นั้นๆ ได้)
ติดต่อขอรับเงินคงค้างอย่างไร
หากท่านเพิ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่นาน โดยมีเช็คคงค้างอายุไม่เกิน 6 เดือน (หรือ บลจ. ต่ออายุเช็คให้เป็นประจำ) ท่านสามารถติดต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างท่านเพื่อรับเช็ค และนำไปขึ้นเงินได้เลย
อย่างไรก็ดี หากเช็คคงค้างอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ท่านจะไม่ได้รับเงินในทันที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างท่านจะต้องติดต่อ บลจ. ให้ออกเช็คใบใหม่ให้ และหากท่านไม่สะดวกที่จะไปรับเช็คด้วยตนเอง ท่านสามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อขอให้โอนเงินเข้าบัญชีแทนได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดการรับเงินได้จากนายจ้าง หรือ บลจ. ที่บริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เล็งเห็นว่าเงินคงค้างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงได้พยายามหาวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินที่ท่านมีสิทธิ์ที่จะได้รับเพื่อไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น หรือเก็บออมต่อเนื่องสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ
สำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างที่ท่านมีเงินคงค้างอยู่ หรือติดต่อ บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ที่ 0 2777 7777 กด 0 กด 6 กด 2 หรือ e-mail: [email protected] โดยแจ้งชื่อ-สกุล และชื่อบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคงค้าง พร้อมกับช่องทางการติดต่อกลับของท่านสมาชิก
อ้างอิง: