×

นักเศรษฐศาสตร์รวมตัวเรียกร้องให้ UN – World Bank – รัฐบาลทั่วโลก เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี

19.07.2023
  • LOADING...
นักเศรษฐศาสตร์

บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้นำทางการเมืองมากกว่า 230 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (UN) และธนาคารโลก (World Bank) เร่งดำเนินการมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจัดการกับช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างคนรวยและคนจนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากความเพิกเฉยของรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก 

 

ทั้งนี้ ในจดหมายเปิดผนึกที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (17 กรกฎาคม) ซึ่งจ่าหน้าถึง António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ และ Ajay Banga ประธานธนาคารโลก ได้เรียกร้องให้ทั้งสององค์กรเป็นแกนนำนานาประเทศทั่วโลกตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมากขึ้น เพื่อลดความไม่เท่าเทียมและให้ทั้งสององค์กรยกระดับมาตรวัดความแตกต่างของรายได้และความมั่งคั่งที่ดีขึ้น

 

จดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า ตัวเลขความยากจนขั้นสุดและความมั่งคั่งขั้นสุดได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี โดยปัจจุบันประชากรโลกที่ร่ำรวยที่สุด 10% มีรายได้ 52% ของรายได้ทั่วโลก ในขณะที่ประชากรครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุดมีรายได้ 8.5% ของรายได้ทั้งหมด

 

เหล่านักเศรษฐศาสตร์และผู้นำทางการเมืองยังระบุอีกว่า ขณะนี้เป็นโอกาสของ UN และ World Bank ที่จะเสริมสร้างความมุ่งมั่นในการลดความแตกแยกที่ร้าวลึกจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ และส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังผู้คนทั่วโลกว่า องค์กรทั้งสองแห่งได้รับการออกแบบมาเพื่อให้บริการยุติวิกฤตความไม่เท่าเทียมกันขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้อย่างจริงจัง 

 

ตัวอย่างของผู้ที่ลงนามประกอบด้วย Ban Ki Moon อดีตเลขาธิการ UN, Helen Clark อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่าง Joseph Stiglitz, Jayati Ghosh และ Thomas Piketty

 

การเรียกร้องให้ดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่รัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงสำคัญที่ลงนามให้คำมั่นไว้กับทาง UN เพื่อเปิดทางให้สามารถส่งออกธัญพืชจากยูเครนผ่านทางทะเลดำ ซึ่งการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นกระแสกดดันที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้คนอีกหลายล้านคนตกอยู่ในสภาวะอดอยาก

 

António Guterres เลขาธิการ UN กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องเผชิญกับความหิวโหย และผู้บริโภคกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลกที่กำลังบั่นทอนการใช้จ่ายอย่างรุนแรง”

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ UN ยังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงที่ตกลงกันเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วได้ช่วยลดราคาอาหารลงมากกว่า 23% นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น

 

ด้าน World Bank ระบุว่า การลดความเหลื่อมล้ำภายในปี 2030 ถือเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่นำมาใช้โดยรัฐบาลส่วนใหญ่ตั้งแต่ปี 2015 แต่ทว่าในช่วง 5 ปีต่อมา ความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก ซึ่งวัดจากความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยระหว่างประเทศ กลับยังเพิ่มขึ้นต่อปีมากที่สุดในรอบ 30 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด 

 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถาบันการเงินทั้งหลายที่ให้บริการปล่อยกู้ทั่วโลกพบว่า ความคืบหน้าในการลดความยากจนขั้นรุนแรงได้หยุดลงทั้งๆ ที่ปัญหายังคงมีอยู่ ขณะที่สหประชาชาติกล่าวเมื่อเดือนเมษายนว่า โลกกำลังออกนอกลู่นอกทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความหิวโหย ความยากจน สุขภาพ การศึกษา และสภาพอากาศ 

 

เนื้อหาในจดหมายสรุปว่า เป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ “ยังคงถูกละเลยเป็นส่วนใหญ่” และเป็นที่ทราบดีว่าความไม่เสมอภาคในระดับสูงทำลายเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของสังคมโลก ซึ่งหากไม่ลดความเหลื่อมล้ำลงอย่างรวดเร็ว เป้าหมายคู่ของการยุติความยากจนและการป้องกันการทำลายสภาพภูมิอากาศก็จะขัดแย้งกันอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ เนื้อความในจดหมายดังกล่าวยังระบุว่า ธนาคารโลกและสหประชาชาติต่างมีบทบาทสำคัญเพื่อเสนอการชุมนุมเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำทั่วโลกที่ทำให้เกิดความแตกแยกในทุกวันนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมขอให้ทุกฝ่ายคว้าโอกาสนี้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่แข็งแกร่งขึ้น

 

ด้านโฆษกของธนาคารโลกแสดงความยินดีกับแนวคิดที่เสนอในจดหมาย โดยระบุว่า ธนาคารโลกยอมรับถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน และดำเนินการวัดความก้าวหน้าให้ดียิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X