×

UN เตือนภัยระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ชี้ไม่ต่างจากโทษประหารชีวิตสำหรับประชาชนในประเทศเปราะบาง

16.02.2023
  • LOADING...

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศเตือนถึงภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก หลังจากข้อมูลใหม่บ่งชี้ว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 1900

 

กูเตร์เรสกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เกี่ยวกับผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ เช่น บังกลาเทศ จีน อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ ต่างกำลังถูกคุกคาม เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร บัวโนสไอเรส จาการ์ตา ลากอส ลอนดอน ลอสแอนเจลิส มุมไบ มาปูโต นิวยอร์ก และเซี่ยงไฮ้ ต่างก็กำลังเผชิญความท้าทายนี้เช่นเดียวกัน

 

เลขาธิการ UN ยังระบุอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งละลายลงอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากองค์การ NASA เผยให้เห็นว่า น้ำแข็งแถบแอนตาร์กติกาละลายตัวลงประมาณ 1.5 แสนล้านตันต่อปีโดยเฉลี่ย ขณะที่น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์เองก็กำลังละลายลงอย่างรวดเร็วมากถึงราว 2.7 แสนล้านตันต่อปี

 

กูเตร์เรสยังกล่าวเสริมอีกว่า ขณะนี้อุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าครั้งไหนๆ ในรอบ 11,000 ปี และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็กำลังพุ่งเกินขีดจำกัดความร้อน ซึ่งอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 2.8 องศาเซลเซียส ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจไม่ต่างจากโทษประหารชีวิตสำหรับประชาชนในประเทศที่เปราะบาง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา และอาจทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของประชากรโลก

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ UN ยังได้ยกตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อนและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นที่มีต่อชุมชนและประเทศต่างๆ โดยระบุว่า เมื่อธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายและลดขนาดลงในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า แม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร ก็จะลดขนาดลงด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำบนเทือกเขาหิมาลัยได้รับผลกระทบจากทั้งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และการรุกล้ำของน้ำเค็มที่ทะลักเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันยังเห็นภัยคุกคามที่คล้ายกันนี้ในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และบริเวณอื่นๆ อีกหลายแห่ง เป็นเหตุให้ชุมชนและประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำอาจสูญหายไปตลอดกาล

 

โดยกูเตร์เรสระบุว่า วิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดขอบเขตของภาวะโลกร้อน และยังจำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้า ผลักดันตัวบทกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อรองรับการพลัดถิ่นของผู้คน รวมถึงการสูญเสียดินแดนและพื้นที่อยู่อาศัยในอนาคต

 

ภาพ: Aditya Irawan / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X