เวลาเดินในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลก เช่น บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หรือ กีเมต์ คุณอาจจะชื่นชมว่าโบราณวัตถุ ประติมากรรม และของจัดแสดงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ว่าช่างสวยงามเหลือเกิน บางชิ้นก็ดูน่าตื่นเต้นแปลกประหลาด จนบางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์ในไทยจึงไม่มีของชิ้นงามๆ อย่างนี้บ้าง
แต่ถ้าคุณได้รู้ประวัติและที่มาของสิ่งของแล้วอาจจะรู้สึกว่าของพวกนี้ควรกลับไปอยู่ที่เดิมของมัน หรือเป็นของที่ได้มาด้วยการยึด ขโมย หรือซื้อมาในช่วงอาณานิคมก็มี
นับจากปลายปีที่ผ่านมา กระแสการทวงคืนโบราณวัตถุจากประเทศเจ้าอาณานิคมได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมกันไปกับกระแสที่ประเทศเจ้าอาณานิคมบางแห่ง เช่น ฝรั่งเศส ได้มีนโยบายคืนโบราณวัตถุหรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าต่างๆ กลับไปยังประเทศต้นทาง
ภาพสลักหินจากวิหารพาร์เธนอนที่จัดแสดงที่บริติชมิวเซียม
ล่าสุดคอลเล็กชันของประติมากรรมประดับวิหารพาร์เธนอนของประเทศกรีซ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียมก็มีท่าทีว่าทางรัฐบาลอังกฤษอาจจะต้องส่งคืนกลับไปยังประเทศกรีซ อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนของสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ต้องการให้เกิดการคืนโบราณวัตถุหรือสมบัติทางวัฒนธรรมกลับไปยังประเทศต้นทาง และเป็นการป้องกันปัญหาการค้าโบราณวัตถุอีกด้วย ข่าวนี้ถือเป็นก้าวอันสำคัญที่แสดงชัยชนะของประเทศกรีซหลังจากที่ถกเถียงกับสหราชอาณาจักรมาอย่างยาวนาน
ขอเล่าสักนิด ประติมากรรมของวิหารพาร์เธนอนที่ว่านี้เป็นศิลปะกรีก สร้างขึ้นเมื่อราว 447-438 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยที่จักรวรรดิเอเธนส์เรืองอำนาจ โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเทพีอาเธนา ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ วิหารแห่งนี้ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นตัวแทนอันสูงสุดของอารยธรรมตะวันตกในสมัยโบราณ และปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกรีซ
แต่แล้วทำไมประติมากรรมประดับวิหารพาร์เธนอนนี้จึงได้เดินทางและอยู่ในห้องจัดแสดงขนาดมหึมาของบริติชมิวเซียมได้
มันมีที่มาอย่างนี้ครับ กว่าสองร้อยปีมาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1801 นายโทมัส บรูซ (Thomas Bruce) แห่งตระกูลอิลกิน (Elgin) ราชทูตของอังกฤษ ได้เดินทางไปเป็นทูตประจำยังจักรวรรดิออตโตมันของตุรกี ด้วยความรู้สึกหลงใหลต่อวิหารพาร์เธนอนและค่านิยมการสะสมโบราณวัตถุในช่วงเวลานั้น จึงได้เจรจากับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้ปกครองประเทศกรีซเวลานั้น เพื่อขอนำภาพสลักของวิหารพาร์เธนอนไปอังกฤษ ในเวลานั้นสุลต่านต้องการที่จะเอาใจนายโรเบิร์ตในฐานะของราชทูต เพราะอังกฤษกำลังเป็นชาติมหาอำนาจ
ดังนั้น ระหว่างปีนับจากปี ค.ศ. 1801-1803 ตัวแทนของนายโทมัสจึงได้เริ่มทำการขนย้ายประติมากรรมและชิ้นส่วนต่างๆ ของวิหารพาร์เธนอนลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอังกฤษ นายโทมัสได้เลือกประติมากรรมชิ้นสวยๆ และที่ดีๆ เพื่อนำกลับมา ซึ่งมีการประเมินกันเล่นๆ ว่ามีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่วิหารเลยทีเดียว
ภาพสลักพวกนี้ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่บริติชมิวเซียม (พิพิธภัณฑ์ของอังกฤษ) ตั้งอยู่ที่กลางเมืองลอนดอน โดยประติมากรรมพวกนี้ถูกจัดวางเรียงอยู่ห้องขนาดใหญ่ ซึ่งมีขนาดเท่ากับวิหารพาร์เธนอนจริงๆ ประติมากรรมพวกนี้เป็นภาพสลักนูนต่ำและกึ่งลอยตัว นำมาจากทั้งแนวคานเหนือเสาของวิหารพาร์เธนอนทั้งสี่ด้าน ห้องจัดแสดงนี้ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของบริติชมิวเซียมที่ใครมาก็ต้องมาชม ไม่ต่างจากจารึกโรเซตต้าสโตนเลยครับ
ห้องจัดแสดงที่จำลองขึ้นเกือบเท่าขนาดจริงของวิหารพาร์เธนอน เพื่อใช้จัดแสดงภาพสลักหินทั้งหมด
แต่การขนย้ายประติมากรรมจากวิหารพาร์เธนอนจำนวนมหาศาลมายังอังกฤษของนายโทมัสนี้ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายในสังคมและต่อรัฐบาลอังกฤษ เพราะของพวกนี้นายโทมัสได้มาในนามส่วนตัว และยังเป็นช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตอีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการไต่สวนคดีกันในรัฐสภา ซึ่งในท้ายที่สุด รัฐสภาได้ตัดสินว่าการกระทำของเขานั้นไม่ชอบธรรมด้วยอำนาจหน้าที่ แต่ดูเป็นเรื่องตลก เพราะรัฐสภาได้ตัดสินให้นายโทมัสพ้นจากความผิดไป ถ้าหากขายประติมากรรมทั้งหมดให้กับรัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่าเขาไม่ได้ครอบครองประติมากรรมดังกล่าวอีก
ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจึงได้ขอซื้อประติมากรรมทั้งหมด และยุติคดีลงในปี ค.ศ. 1816 และต่อมาภาพสลักทั้งหมดก็ได้ถ่ายโอนเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงยังบริติชมิวเซียมในนามของโบราณวัตถุของชาติ ผู้คนทั้งในอังกฤษและทั่วโลกต่างหลั่งไหลไปดูภาพสลักจากวิหารแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย
อย่างไรก็ดี หลังจากกรีซได้รับอิสรภาพจากตุรกี เพื่อฟื้นฟูสัญลักษณ์ของประเทศ จึงได้เริ่มแผนการบูรณะวิหารพาร์เธนอน ในช่วงนั้นเองรัฐบาลกรีซจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างเหตุผลเสนอไปยังรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอทวงคืนประติมากรรมทั้งหมด
มีเหตุผลข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้เหตุผลว่าภาพสลักเหล่านั้นเป็น ‘ชิ้นส่วนที่มีชีวิต’ (organic elements) คือไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัตถุ (object) เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาติและคนในชาติ (อาจกล่าวได้ว่าความรู้สึกเช่นนี้เองที่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกหวงแหนโบราณวัตถุ เพราะมันเปรียบได้กับชิ้นส่วนของร่างกายหรือมรดกของบรรพบุรุษของเรา)
นอกจากนี้รัฐบาลกรีซยังให้เหตุผลอีกข้อหนึ่งด้วยว่า ถ้าขาดชิ้นส่วนที่มีชีวิตไป ไม่อยู่ที่ตัววิหาร มันจะทำให้ผู้มาชมไม่เกิดความรู้สึกประทับใจ และไม่สามารถเข้าใจอดีตของวิหารหรือกรีกได้อย่างสมบูรณ์
กระแสการทวงคืนนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและกลับมารุนแรงในช่วงหลัง ค.ศ. 2000 เช่นในปี ค.ศ. 2005 มีดาราดังหลายคน เช่น จอร์จ คลูนีย์ และ แมตต์ เดมอน เข้าร่วมรณรงค์และเคลื่อนไหวด้วย ผลที่ตามมาคือ องค์การนานาชาติอย่าง ยูเนสโก ก็ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางแก้ปัญหาและทวงคืนชิ้นส่วนของวิหารพาร์เธนอนขึ้นอีกด้วย กระทั่งภายในอังกฤษเอง บีบีซียังได้เป็นอีกแรงที่สนับสนุนการส่งมอบคืนโบราณวัตถุเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะมีกระแสกดดันอย่างไร บริติชมิวเซียมก็ยืนยันที่จะไม่คืนโบราณวัตถุภาพสลักจากพาร์เธนอน โดยให้เหตุผล 2 ข้อหลักคือ
เหตุผลข้อแรกคือ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานมากแล้วจนหมดอายุความของกฎหมาย
และอีกอย่างในสมัยที่นายโทมัสขนย้ายประติมากรรมพวกนี้มานั้น ก็ได้รับอนุญาตจากสุลต่านของออตโตมันและผู้ปกครองของกรีซเอง ดังนั้น ประติมากรรมทั้งหมดจึงเป็นของที่ได้รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทุกวันจะมีคนจำนวนมากมาชมภาพสลักหินจากวิหารพาร์เธนอนที่บริติชมิวเซียม
นอกจากนี้ยังมีบางรายงานระบุว่า เหตุผลอีกข้อที่ทางบริติชมิวเซียมไม่คืนประติมากรรมชุดนี้นั้น เพราะถ้าหากมีการคืนไป จะทำให้พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งทั้งในอเมริกาและยุโรปเกิดปัญหาใหญ่ บางแห่งอาจต้องถึงกับกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่างเปล่าไปเลยทีเดียว
ต่อข้อเหตุผลดังกล่าว นายโรดี กรัตซา สมาชิกรัฐสภากรีซ จึงได้ตอบโต้ไปว่า ประเทศของเขามีสิทธิอันชอบธรรม (moral claim) ในการทวงคืน และได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ภาพสลักเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมกรีกและของยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญระดับสากล การที่ชิ้นส่วนของประติมากรรมอยู่ไม่ครบก็เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของวัฒนธรรมร่วมของชาวยุโรปไปด้วย”
นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้นคือ นายเดวิด คาเมรอน ก็คัดค้านด้วยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า ประติมากรรมชุดนี้เป็นโบราณวัตถุที่เป็นมรดกของโลก ดังนั้น ถ้ามันจัดแสดงอยู่ที่ลอนดอนก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสามารถเยี่ยมชมและเข้าถึงได้ง่าย
เอาเป็นว่าข้อถกเถียงและปัญหาการทวงคืนประติมากรรมจากวิหารพาร์เธนอนนี้อาจกำลังจะจบลงที่ประเทศกรีซได้รับโบราณวัตถุทั้งหมดกลับคืนไป ซึ่งสะท้อนแนวโน้มของการตระหนักในเรื่องของจริยธรรมในการจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับสากลทั่วโลกในช่วงเวลานี้ และปัญหาการขโมยโบราณวัตถุจำนวนมหาศาลจากตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากการก่อการร้ายและสงคราม
หวังว่าโบราณวัตถุหลายชิ้นในบ้านเราที่ไประหกระเหิน ถูกขโมย หรือเดินทางไปด้วยวิธีการอันไม่ถูกต้องนั้นจะได้กลับคืนมา ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัยที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก เช่นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Nick Kampouris. Parthenon Marbles Returning to Greece? UN Supports Greek Resolution greece.greekreporter.com/2018/12/22/parthenon-marbles-returning-to-greece-un-supports-greek-resolution/?fbclid=IwAR3MELYq5WJ0L2zZVMJU_qwJtFuig_M6D8K6wP2brndaSCNOPd5fq72muq4 Accessed on: 22/12/2018
- British Museum. Greece: Parthenon. Available at: www.britishmuseum.org/explore/galleries/ancient_greece_and_rome/room_18_greece_parthenon_scu.aspx
- Martin Banks, Brussels. 2013. Join in ‘mediation’ with Greece over Elgin Marbles, Unesco urges Britain. Telegraph. Available at: www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/greece/10381163/Join-in-mediation-with-Greece-over-Elgin-Marbles-Unesco-urges-Britain.html