×

เทรนด์ ‘Un-retiring’ เขย่าตลาดงานไทย องค์กรแห่จ้างผู้เกษียณกลับมาทำงาน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงคน

27.04.2025
  • LOADING...
un-retiring-thai-job-market

ปรากฏการณ์ ‘Un-retiring’ หรือการเชิญผู้เกษียณกลับมาทำงานอีกครั้ง กำลังกลายเป็นเทรนด์ร้อนแรงในวงการธุรกิจไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ของประเทศ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ 

 

โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงาน และทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก เปิดเผยว่า “เทรนด์การจ้างผู้เกษียณอายุกลับมาทำงาน หรือ ‘Un-retiring’ กำลังเกิดขึ้นในองค์กรไทยอย่างชัดเจน” สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ที่กำลังวางแผนขยายอายุเกษียณของทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 60 ปี เป็น 65 ปีในอนาคตอันใกล้

 

“ไม่ว่าจะเป็นเพื่อลดต้นทุนหรือในช่วงที่ยังคงหาคนมาประจำตำแหน่งไม่ได้ องค์กรจำนวนมากเริ่มเปิดรับการจ้างงานชั่วคราวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เกษียณซึ่งมีทั้งประสบการณ์การทำงานและทักษะชีวิตที่มีคุณค่า” ปุณยนุชกล่าวเสริม พร้อมชี้ให้เห็นว่าองค์กรไม่ได้มองหาผู้เกษียณในรูปแบบพนักงานประจำ แต่เน้นจ้างในลักษณะ ‘งานชั่วคราว’ หรือ ‘โปรเจกต์ระยะสั้น’ ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี

 

น่าสนใจว่าการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มผู้เกษียณไม่เพียงแค่ช่วยเติมเต็มตำแหน่งว่างขององค์กร แต่ยังเสริมสร้าง ‘ทีมข้ามรุ่น’ (Multi-generational Teams) ที่ประกอบด้วยพนักงานหลากหลายช่วงวัย นำมาซึ่งมุมมองที่หลากหลาย และช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแก้ปัญหา การคิดเชิงนวัตกรรม และประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้อย่างชัดเจน

 

เทรนด์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายที่หลายองค์กรยังคงเผชิญในการดึงดูดและรักษาคนเก่งๆ ในปี 2025 โดยจากผลสำรวจของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส พบว่า กว่า 30% ของพนักงานมองว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการรับฟังความต้องการของพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับโลกการทำงานในปัจจุบัน ตามมาด้วยอิทธิพลของแรงกดดันจากการแข่งขันในตลาดและสถานะทางการเงินขององค์กร

 

ปุณยนุชยังเน้นย้ำว่า “การสรรหาบุคลากรในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น องค์กรไม่สามารถหยุดนิ่งได้อีกต่อไป หลายองค์กรจึงหันมาให้ความสำคัญกับความคล่องตัว การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และแนวคิดที่มุ่งเน้นคนเป็นศูนย์กลางเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาด”

 

นอกจากเทรนด์ ‘Un-retiring’ แล้ว รายงานเทรนด์บุคลากรปี 2025 (Talent Trends 2025) ยังระบุถึงแนวโน้มสำคัญอื่นๆ ในวงการทรัพยากรบุคคลไทย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ AI เข้ามาเปลี่ยนเกมการสรรหาบุคลากร โดย 9 ใน 10 ขององค์กรในไทยได้ใช้ AI ช่วยในกระบวนการสรรหา ช่วยลดระยะเวลาการทำงานลงได้อย่างมาก ขณะที่องค์กรยังต้องรักษาสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับปฏิสัมพันธ์ของคน เนื่องจาก ‘ความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ’ ยังคงเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเสมอ

 

ทางด้านภาวะผู้นำยุคใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดย 70% ของพนักงานเชื่อว่า ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ (Empathy) คือทักษะที่สำคัญที่สุดของผู้นำ ตามด้วยทักษะด้านการสื่อสารและความยืดหยุ่นในการบริหาร ผู้นำที่มี ‘ภาวะผู้นำแบบเน้นคนเป็นศูนย์กลาง’ (Human-Centric Leadership) จะช่วยผลักดันผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ดีกว่า

 

ในส่วนของมุมมองต่อการทำงานแบบไฮบริดนั้น แม้ว่า 95% ของพนักงานในประเทศไทยจะต้องการให้องค์กรทดลองใช้ระบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แต่ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดย 36% กังวลว่าจะเกิดความเครียดจากการที่ต้องทำงานเท่าเดิมภายในเวลาที่น้อยลง

 

ส่วนเรื่องนิยามใหม่ของการเติบโตในสายอาชีพ ในระดับโลก แนวคิดการเติบโตแบบ ‘ไต่บันไดสายอาชีพ’ แบบดั้งเดิมเริ่มไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป พนักงานยุคใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสายงานในระดับขนาน (Lateral Moves) การเติบโตข้ามสายงาน (Cross-Functional Growth) และการพัฒนาบนพื้นฐานของทักษะ (Skills-Based Progression) แทนการไต่ระดับตามโครงสร้างองค์กรแบบเดิม

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย พนักงานส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ (38%) เป็นหลักในการต่อยอดอาชีพ ขณะที่โอกาสในการพัฒนาทักษะและเข้าร่วมโครงการเฉพาะทาง (34%) และการเติบโตผ่านโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (17%) ก็ยังได้รับความสนใจไม่น้อย

 

ความสำคัญของทักษะแห่งอนาคตก็ถูกหยิบยกขึ้นมาในรายงานนี้ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ที่ระบุว่า ทักษะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกว่า 39% จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยภายในปี 2030 ทำให้พนักงานจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะเชิงมนุษย์

 

ในภาพรวม การที่องค์กรไทยหันมาให้ความสำคัญกับการจ้างผู้เกษียณกลับมาทำงาน ไม่เพียงแค่เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และมีโอกาสที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและกลุ่มผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงาน เปิดโอกาสให้ ‘พลังสูงวัย’ ได้แสดงคุณค่าและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ภาพ: Fahng_S / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising