×

รายงาน UN เตือน แม้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ความเสี่ยงด้านลบจากโรคระบาดยังมีสูง คาด GDP ไทยโต 4% ปี 2021

28.01.2021
  • LOADING...
รายงาน UN เตือน แม้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ความเสี่ยงด้านลบจากโรคระบาดยังมีสูง คาด GDP ไทยโต 4% ปี 2021

สหประชาชาติออกรายงาน World Economic Situation and Prospects 2021 เพื่อสรุปสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจประจำปี 2021 โดยเตือนว่าการระบาดของโควิด-19 จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี เว้นเสียแต่ว่าจะมีการลงทุนอย่างชาญฉลาดในการสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ สังคม และภูมิอากาศ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง

 

ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 4.3% ซึ่งมากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 ถึงกว่าสองเท่าครึ่ง แต่คาดการณ์ว่าในปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวปานกลางด้วยอัตราการเติบโต 4.7% ซึ่งอาจชดเชยมูลค่าเศรษฐกิจที่ลดลงตลอดปี 2020 ได้

 

ส่วนการเติบโตของ GDP ในเอเชียตะวันออกชะลอตัวลงอย่างรุนแรงเหลือ 1.0% ในปี 2020 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997 เพราะการจำกัดการเดินทางในวงกว้างได้ฉุดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก บวกกับดีมานด์ทั่วโลกที่ชะลอลงได้ส่งผลเสียต่อการส่งออก

 

สำหรับไทยนั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวที่อัตรา 4.0% ในปีนี้ ก่อนชะลอลงมาเล็กน้อยเหลือ 3.8% ในปี 2022 หลังจากหดตัว 6.6% ในปีที่แล้ว สืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่กระทบภาคส่งออกและท่องเที่ยวอย่างหนัก  

 

ส่วนในเอเชียใต้นั้น โรคระบาดสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิภาค โดยฉุด GDP หดตัวลงเฉลี่ย 8.9% ในปี 2020 โดยที่เศรษฐกิจอินเดียติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึงเกือบ 10%

 

“เราต่างกำลังเผชิญกับวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี ในขณะที่เรากำลังเศร้าโศกกับยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอยู่นี้ เราต้องจำไว้ว่าทางเลือกที่เราทำตอนนี้จะกำหนดอนาคตของเราร่วมกัน” อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ UN กล่าว

 

“มาร่วมลงทุนในอนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนโดยนโยบายที่ชาญฉลาด การลงทุนที่สร้างผลลัพธ์ และระบบพหุภาคีที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับคนเป็นศูนย์กลาง”

 

รายงานฉบับนี้ตอกย้ำว่า การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากโรคระบาดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีนเพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพและประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านี้ด้วย เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับผลกระทบที่รุนแรงในอนาคตได้

 

  • แนวโน้มการเติบโตในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้

รายงานคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะฟื้นตัวจากฐานต่ำ ด้วยอัตราการเติบโต 6.4% ในปี 2021 ก่อนที่จะโตชะลอลงเหลือ 5.2% ในปี 2022 โดยในประเทศส่วนใหญ่ อุปสงค์ในประเทศจะได้รับการส่งเสริมจากมาตรการทางการเงินและการคลังที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์พื้นฐานเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมไวรัสทั้งในและต่างประเทศ

 

สำหรับจีนนั้นจะยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตในภูมิภาค โดย GDP จีนอาจดีดตัว 7.2% ในปี 2021 จากที่โตเพียง 2.3% ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจไม่สม่ำเสมอกันในเซกเตอร์ต่างๆ โดยที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนอาจขยายตัวในระดับปานกลาง

 

“แนวโน้มการเติบโตของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้จะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เพราะประเทศเหล่านี้พึ่งพารายได้จากภายนอก เช่น การท่องเที่ยวและการส่งเงินกลับประเทศ” ฮามิด ราชิด หัวหน้าสาขาติดตามเศรษฐกิจโลกของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ และผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว

 

แนวโน้มที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินทางข้ามประเทศสืบเนื่องจากโรคระบาดจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงกัมพูชา ไทย และประเทศเกาะในแปซิฟิก

 

ขณะที่เอเชียใต้นั้นคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัวเฉลี่ย 6.9% ในปี 2021 แต่การเติบโตนี้ยังไม่เพียงพอที่นำภูมิภาคดังกล่าวกลับสู่ระดับ GDP ในปี 2019 ได้ ซึ่งการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่กับการควบคุมโรคระบาดและประสิทธิภาพของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

  • ความเสี่ยงและความท้าทายด้านนโยบาย

จากการที่หลายประเทศเผชิญการระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้างรอบใหม่ ทำให้ความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ยังคงมีสูง 

 

โดยในเอเชียตะวันออกนั้น ความผันผวนของตลาดการเงินไม่เพียงแต่บั่นทอนเศรษฐกิจแท้จริงให้อ่อนแอลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบการเงินที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งไม่มั่นคงมากขึ้น รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

 

ส่วนในเอเชียใต้ หลายประเทศเผชิญกับข้อจำกัดทางการคลัง โดยที่มาตรการรัดเข็มขัดอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประเทศในภูมิภาคดังกล่าว

 

ภาพ: STR / AFP

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • World Economic Situation and Prospects 2021 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X