มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แสดงความกังวลใจ หวั่นสถานการณ์ในเมียนมาจะก้าวไปสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบดังเช่นซีเรีย หลังยอดผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมตัวยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา
บาเชเลต์ระบุว่า เหตุการณ์ในเมียนมาสะท้อนภาพของซีเรียเมื่อปี 2011 ภาพของสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นขึ้นและยังไม่สิ้นสุดลงจวบจนปัจจุบัน ผ่านมานานกว่าทศวรรษมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 4 แสนราย ผู้คนกว่า 6 ล้านรายกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ต้องเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
ทางด้านนักวิชาการไทย ผศ.มาโนชญ์ อารีย์ และ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ สองผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง แสดงทรรศนะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ในกรณีของเมียนมาอาจนำไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดของการทำสงครามกลางเมืองจริง แต่อาจไม่รุนแรงและมีความซับซ้อนเท่ากรณีความขัดแย้งในซีเรีย หากบรรดาประเทศมหาอำนาจไม่เข้ามาแทรกแซงและทำสงครามตัวแทน เนื่องจากบริบทระหว่างตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแตกต่างกัน
หากสถานการณ์ในเมียนมาบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองจริง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับตะวันออกกลาง ในกรณีของซีเรีย อีกทั้งหากมีบรรดาประเทศมหาอำนาจต่างกระโจนเข้ามาแทรงแซงในวิกฤตครั้งนี้ อาจส่งผลต่อบทบาทนำและพลังความร่วมมือของบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนไม่มากก็น้อย
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง (AAPP) รายงานสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา มีผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 715 ราย ถูกจับกุมกลายเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 3,070 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการตัดสินโทษแล้ว 66 ราย บางรายได้รับโทษประหารชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- อ่าน ‘รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’
- อ่าน ‘4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม’
ภาพ: STR / AFP
อ้างอิง: